เปิดประเทศยกเลิกคุมโควิด ธุรกิจร้านอาหารแข่งดึงลูกค้า
รัฐบาลเปิดประเทศ คืนสู่ภาวะปกติ เดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องแสดงผลวัคซีนและผลตรวจ ATK ลดระดับคุมโควิด ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุติการบริหารโดย ศบค. ปิดศูนย์ปฏิบัติการคุมโรค 9 แห่ง กลับไปใช้อำนาจ ครม.-รมว.สธ.-ผู้ว่าฯ ติดเชื้ออาการน้อยไม่ต้องกักตัว แพทย์ใหญ่ระบุ ปีหน้าปรับสู่ “โรคประจำถิ่น”ธุรกิจอาหารแข่งดึงลูกค้า-ขยายร้าน ถนนข้าวสารจัดอีเวนต์รอถึงปลายปี
การบริหารสถานการณ์ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถึงจุดเปลี่ยนในรอบ 2 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่มีการระบาดใหญ่ในปลายปี 2562 ถึงปัจจุบัน จากเดิมรัฐบาลใช้มาตรการควบคุมโรค การใช้งบประมาณ ผ่านกลไกคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมกับนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันวิชาการ รัฐมนตรีทุกกระทรวง หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการควบคุมโรคขั้นสูงสุด และมีการขยายประกาศใช้คราวละ 1 เดือน และคราวละ 2 เดือน รวม19 ครั้ง
ล่าสุด 23 กันยายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบยกเลิกประกาศการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ส่งผลให้ต้องยุบเลิก ศบค.ไปด้วย
เข้าประเทศไม่ต้องแสดงผลวัคซีน :
ในส่วนของปฏิบัติการเปิดประเทศ จะมีการยกเลิกแสดงเอกสารวัคซีน และผลตรวจ ATK ก่อนเข้าประเทศ ยกเว้นโรคไข้เหลือง รวมทั้งยกเลิกการสุ่มตรวจสอบบันทึกการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยยังคงเฝ้าระวังผู้เดินทางที่มีอาการป่วยของโรคติดต่ออันตราย หรือโรคติดต่ออุบัติใหม
นอกจากนี้มีการประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากการเป็นโรคต้องห้าม สำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรด้วย
ติดโควิดไม่มีอาการไม่ต้องกักตัว :
สำหรับมาตรการส่วนบุคคลและองค์กร กรณีมีผู้ติดเชื้อ มีการปรับมาตรการแยกกักสำหรับผู้ป่วยอาการน้อย/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ เหลือเพียงปฏิบัติตามมาตรการ DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ และตรวจ ATK เมื่อมีอาการเท่านั้น
นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. กล่าวถึงแผนเปลี่ยนผ่านการคุมโรค หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ไม่ต้องตรวจ ATK ไม่ดูผลการฉีดวัคซีน คาดว่าเราจะต้องอยู่กับโควิด-19 ราว 1 ปี จึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ในระดับเดียวกันกับโรคไข้หวัด
“ถ้าโควิด-19 กลับมา ครม.ก็จะมอบหมายหน้าที่กระทรวงต่าง ๆ แทน ศบค. ผ่านมติ ครม.ในระยะยาวอยู่ในขั้นตอนเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งมีโครงสร้างบางส่วนเหมือน ศบค.อยู่ในนั้น ไม่ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก”
ใช้ กม.ปกติแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน :
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ศบค. ถึงการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า การดูแลสถานการณ์สามารถใช้กฎหมายปกติ ไม่ต้องห่วง
ขณะที่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2565 กลไกต่อไปจะเป็นคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยมี รมว.สาธารณสุขเป็นผู้ดูแล เหนือจากคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ก็จะเป็นคณะรัฐมนตรี และเป็นรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี
“ส่วนเหตุผลการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ผ่านมาการแก้ไขสถานการณ์โควิด โดย ศบค.และโดย พล.อ.ประยุทธ์ได้มีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างต่อเนื่อง จึงมีจุดที่ต้องพิจารณาที่เหมาะสม สถานการณ์ดีขึ้น และกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ดังนั้นกฎหมายปกติใช้ได้แล้วก็ดำเนินการตามแผนและขั้นตอนที่วางไว้”
พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ศบค.ยุติการทำงานและยุติการปฏิบัติการ 9 ศูนย์ที่อยู่ภายใต้ ศบค. และใช้กลไกปกติในการทำงาน คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 และยังมีร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อที่ปรับปรุงจากปี 2558 ถ้ามีอะไรพิเศษ เราก็สามารถพิจารณาใช้กฎหมายเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ 27 กันยายน จะนำเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีการเห็นชอบ
อำนาจผู้ว่าฯ ประกาศพื้นที่โรคระบาด :
เลขาธิการ สมช.กล่าวด้วยว่า โควิด-19 หากมีการระบาดขึ้นอีก รัฐบาลสามารถประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อีก อะไรที่เป็นวิกฤตที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่าต้องใช้กฎหมายพิเศษ ก็สามารถทำได้ทันที ส่วนโควิด-19 ทางกระทรวงสาธารณสุขจะใช้กลไกควบคุมโรคติดต่อ
ดังนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ก็สามารถใช้อำนาจตนเองในการประกาศให้เป็นโรคระบาดในพื้นที่ แล้วใช้กฎหมายที่ตนเองมีจัดการได้ก่อนเลย
ธุรกิจอาหารแข่งดึงลูกค้า-ขยายร้าน :
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ให้มุมมองสำหรับธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารว่า หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายขึ้น ประกอบกับการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ทำให้สถานการณ์ร้านอาหารปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อ ศบค.ลดระดับโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ประเมินว่าจะช่วยให้บรรยากาศร้านอาหารมีความคึกคักมากขึ้น คนส่วนใหญ่จะกล้าออกมาใช้ชีวิตทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น และผู้ประกอบการจะสามารถทำธุรกิจแบบไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป ทำให้จากนี้จะเห็นร้านอาหารแข่งขันกันอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในแง่การขยายร้าน การพัฒนาโมเดลใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค
ถนนข้าวสารจัดอีเวนต์รอถึงปลายปี :
นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันย่านข้าวสารกลับมาคึกคัก มีทั้งนักท่องเที่ยวยุโรป, เกาหลี รวมถึงไทยมาใช้บริการ ส่วนผู้ประกอบการมีทั้งร้านค้า, หาบเร่ แผงลอย รวมถึงรถแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊กที่กลับมาให้บริการ และหลังจากนี้เตรียมจัดกิจกรรม เช่น วันฮัลโลวีนยาว 3 วัน ช่วงปลายเดือนตุลาคม และเคานต์ดาวน์ปลายปี เพื่อปลุกความคึกคักอีกด้วย
โดยการปรับให้โรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดเฝ้าระวัง น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการจับจ่ายและเพิ่มความคึกคักได้ในระดับหนึ่ง คาดว่าจะช่วยกระตุ้นรายได้ในย่านถนนข้าวสารช่วงที่เหลือของปีนี้ขึ้นอีก 20-30% จากปัจจุบันที่ฟื้นกลับมาประมาณ 50% ของช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาดแล้ว
“เนื่องจากปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ใส่หน้ากากแล้ว มีเพียงชาวไทยที่ยังกังวลอยู่ แต่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ 100% เพราะยังคงมีปัจจัยอื่นที่เป็นความท้าทาย ทำให้ลูกค้าชาวไทยจับจ่ายและใช้บริการน้อยลง อาทิ สถานการณ์เงินเฟ้อ
แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อเนื่องจนหลายร้านยังไม่สามารถเปิดบริการได้ เที่ยวบินเข้าประเทศลดลง รวมไปถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าและเชื้อเพลิงที่พุ่งสูง อีกทั้งนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นหนึ่งในลูกค้าสำคัญยังไม่กลับมา จึงเชื่อว่าอาจต้องใช้เวลาถึงปี 2567 เม็ดเงินในย่านถนนข้าวสารจึงจะฟื้นตัว 100%
นอกจากนี้นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสารเสนอว่า ควรมีการผ่อนคลาย-ปรับมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ยกเลิกการซื้อประกันโควิดก่อนเดินทางเข้าไทย รวมถึงการจำกัดพื้นที่ในร้านที่ 50% เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทยและทำให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้ไม่เต็มที่
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 25 กันยายน 2565