บาทอ่อนเป็นบวกต่อท่องเที่ยว แต่ไม่ได้ช่วยดึงดูดต่างชาติเที่ยวไทย

นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่อยู่ในโซนอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องนั้น เบื้องต้นประเมินว่าเป็นผลบวกกับภาคการท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่หากพิจารณาจากอดีตที่ผ่านมาพบว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว หรือดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น เพราะปัจจัยที่มีผลกับการตัดสินใจท่องเที่ยวจริงๆ เป็นเพราะโควิด-19 ทำให้คนไม่ได้เที่ยวกว่า 2 ปี เกิดความอัดอั้นในช่วงที่ผ่านมามากกว่า แต่ก็ถือเป็นข้อดีไม่ได้เป็นข้อเสียที่มีผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวไทย
 
นางศุภวรรณ กล่าวว่า หากในระยาวค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ก็ยังเป็นข้อดีอยู่ แต่มองว่าคงไม่สามารถอ่อนค่าได้นานมากนัก เพราะมีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงด้วย โดยเฉพาะธุรกิจการนำเข้าสินค้า ที่จะลำบากเนื่องจากต้องใช้จ่ายแพงขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าก็มีทั้งส่วนที่ได้และส่วนที่เสีย ไม่มีการได้ฝ่ายเดียวหรือเสียฝ่ายเดียวแน่นอน รัฐบาลจึงต้องประเมินว่าผลได้หรือผลเสียมีมากกว่ากัน และบริหารจัดการให้ดีที่สุด โดยความกังวลค่าเงินบาทอ่อนจะกระทบราคาพลังงาน ทำให้ราคาซื้อสูงขึ้น และราคาพลังงาน รวมถึงสินค้าและบริการในประเทศจะแพงขึ้นด้วยหรือไม่ มองว่าหากราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นด้วยตัวเอง แบบนี้จะสร้างความกังวลมากกว่า
 
“ผลบวกต่อธุรกิจ อาทิ ธุรกิจโรงแรม การที่ค่าเงินบาทอ่อนก็ไม่ได้ส่งผลบวกในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขนาดนั้น แต่เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากใช้จ่ายมากขึ้น และสามารถใช้ได้มากขึ้น เพราะมีเงินมากขึ้นมากกว่า รวมถึงหากนักท่องเที่ยวที่เลือกเข้ามาเที่ยวไทยได้ ก็อาจช่วยให้ตัดสินใจพักค้างแรมนานขึ้นแทน” นางศุภวรรณ กล่าว
 
นางศุภวรรณ กล่าวว่า ผลช่วยชะลอให้คนไทยเที่ยวนอกช้าลงด้วยหรือไม่นั้น มองว่าไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจ เพราปกติแล้วกลุ่มคนไทยเที่ยวนอกมักเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงอยู่แล้ว จึงไม่เกี่ยงว่าเงินบาทจะอ่อนหรือแข็งมากน้อยอย่างไร โดยปัจจัยที่มีผลบวกกับภาคการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง เป็นเรื่องความพร้อม โดยเฉพาะความพร้อมของผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติเอง เนื่องจากตอนนี้ยังมีเรื่องสงครามระหว่างประเทศอยู่ ทำให้ค่าใช้จ่ายจะมากขึ้น อาทิ ตั๋วเครื่องบิน ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมทั้งของบุคคล และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ด้วย รวมถึงผู้ประกอบการจะต้องบริหารจัดการธุรกิจให้ดี เตรียมพร้อมเปิดให้บริการแบบเหมาะสมกับความต้องการ (ดีมานด์) ที่มีในตลาด เพื่อไม่ให้เกิดโอเวอร์ซัพพลายขึ้นอีก และเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการขาดทุนเพิ่ม ในการเปิดบริการใหม่
 
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 25 กันยายน 2565   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)