มกุฎราชกุมารมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียคนใหม่
วานนี้ (27 กันยายน) เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซะอูดของซาอุดีอาระเบีย ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียคนใหม่ หลังมีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่ตามพระราชกระแสรับสั่งจากสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด พระมหากษัตริย์ซาอุดีอาระเบียองค์ปัจจุบัน ผู้เป็นพระราชบิดาของพระองค์
นับตั้งแต่เจ้าชายมูฮัมหมัดได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียในช่วงกลางปี 2017 พระองค์มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาและบริหารประเทศ เป็นผู้นำในทางพฤตินัยของประเทศที่ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกเรียบร้อยแล้ว การประกาศแต่งตั้งพระองค์ในครั้งนี้ช่วยเน้นย้ำบทบาทของพระองค์ในฐานะผู้นำรัฐบาลซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ
หลายฝ่ายมองว่า การขยายขอบเขตอำนาจในทางการเมืองให้แก่เจ้าชายมูฮัมหมัด ขยับขึ้นจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นความพยายามในการค่อยๆ เปลี่ยนผ่านและถ่ายโอนอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน ผู้เป็นประมุขของรัฐ ไปยังทายาทรุ่นต่อไป
เมื่อปี 2016 ก่อนที่เจ้าชายจะเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่ 1 พระองค์ทรงประกาศวิสัยทัศน์ 2030 (Saudi Vision 2030) ที่ตั้งใจจะพัฒนาซาอุดีอาระเบียในทุกมิติ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางของโลกมุสลิม เป็นประเทศยักษ์ใหญ่ด้านการลงทุน และเป็นสะพานในการเชื่อมต่อ 3 ทวีปเข้าไว้ด้วยกัน
แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะเปิดกว้างมากขึ้น ให้สิทธิผู้หญิงสามารถขับรถยนต์ได้ จำกัดขอบเขตอำนาจทางศาสนาที่มีต่อผู้คนในสังคม รวมถึงลดการพึ่งพารายได้จากแหล่งน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่กระนั้นการปฏิรูปของพระองค์ก็นำมาซึ่งการปราบปรามผู้เห็นต่างอยู่บ่อยครั้ง มีนักเคลื่อนไหว สมาชิกราชวงศ์ กลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิสตรี และนักธุรกิจ จำนวนไม่น้อยต่างถูกจับกุม ปูทางไปสู่การครองอำนาจที่ราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากนี้ซาอุดีอาระเบียยังปรับแนวทางการดำเนินนโยบายกับหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีวิวาทะถึงซาอุดีอาระเบีย กรณีที่เจ้าชายมูฮัมหมัดอาจมีความเกี่ยวพันกับการลอบสังหาร จามาล คาช็อกกี นักข่าวสายวิพากษ์ราชวงศ์ชาวซาอุ ที่ถูกลอบสังหารในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบีย ในเมืองอิสตันบูลของตุรกี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2018 ก็ตัดสินใจฟื้นฟูความสัมพันธ์ เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มเชิงบวกมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตกต่ำลงจากกรณีเพชรซาอุ โดยล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศของไทยเผยว่า ขณะนี้กำลังประสานงานขั้นตอนสุดท้ายกับทางรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เตรียมรับเสด็จฯ เจ้าชายมูฮัมหมัดเยือนไทยอย่างเป็นทางการภายในปี 2022 นี้
ที่มา the standard
วันที่ 28 กันยายน 2565