"ภูริต ภิรมย์ภักดี" เคลื่อนบุญรอดฯ ผนึกพันธมิตร เพิ่มพลังองค์กร "แสนล้าน"
เป็นเวลา 1 เดือน ที่องค์กรเก่าแก่ 89 ปี อย่าง "บุญรอดบริวเวอรี่" มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหาร โดยเฉพาะ "แม่ทัพใหญ่" ซึ่งทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูล "ภิรมย์ภักดี" อย่าง "ภูริต ภิรมย์ภักดี" ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
ภารกิจสำคัญที่ “ภูริต” ต้องขับเคลื่อนองค์กรที่ทำรายได้ระดับกว่า “แสนล้านบาท” ต่อปีมีมากมาย ทำให้ระยะแรก สิ่งที่ต้องทำคือการเข้าไปดูโครงสร้างองค์กรอย่างละเอียด ภายใต้บริษัทในเครือที่มีมากถึง 159 บริษัท จากเดิมที่นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ดูแลการค้าขาย และตลาดต่างประเทศ รวมๆแล้วประมาณ 20 บริษัทเท่านั้น
เนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่ มีหลายเสาหลักธุรกิจ เช่น เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ การผลิตบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว อาหาร เป็นต้น จึงต้องกระจายงานให้กับขุนพลที่เหมาะสมนำไปขับเคลื่อนต่อเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ
“ภารกิจที่ต้องทำ ดูหมดเลย ซึ่งเยอะมาก และผมทำเองไม่ได้ทั้งหมด”
การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันนอกจากผู้ประกอบการต้องแข่งกับ “ความเร็ว” บริบทการสู้รบในสนามการค้ายังพลิกโฉมจากอดีต เดิมต่างลุยเดี่ยวสร้างการเติบโตของยอดขาย ชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ทว่า ยุคนี้การเแปลง “คู่แข่ง” สู่คู่ค้า “พันธมิตร” มีมากขึ้น และยังกลายเป็นกลยุทธ์ที่ “ภูริต” ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องด้วย
“ยุคผมเน้นกลยุทธ์การร่วมมือกับพันธมิตร(Collaboration) เพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องกินรวบ รวยคนเดียว”
การผนึกพันธมิตร ธุรกิจไม่มองผลลัพธ์แค่ 1+1 เท่ากับ 2 แต่ย่อมได้มากกว่า อีกทั้งยังเป็น “ทางลัด” สร้างการเติบโตด้วย อีกมิติองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของพาร์ทเนอร์ ยังนำไปต่อยอดการพัฒนา สร้างคนให้เก่งขึ้นด้วย
ในยุคของ “ภูริต” ร่วมเคลื่อนธุรกิจก่อนก้าวขึ้นสู่ “ผู้นำ” บุญรอดบริวเวอรี่ ทั้งในส่วนขององค์กรและ “แบรนด์” สินค้าใช้กลยุทธ์ความร่วมมือมากมาย เช่น บุญรอดฯ ร่วมกับ “ปตท.น้ำมันและค้าปลีก” หรือโออาร์ ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อผลิตเครื่องดื่มสำเร็จรูปหรือ Ready To Drink : RTD ในกลุ่มกาแฟและชาพร้อมดื่ม เสริมแกร่งของปตท.ที่มีร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน และบุญรอดฯ มีไร่ชาในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดน่าน พร้อมซัพพลายผลผลิต
นอกจากนี้ ยังมีการร่วมทุนกับ “คาเมดะ” เบอร์ 1 ขนมข้าวอบกรอบประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำตลาด เป็นต้น ส่วนมิติของ “แบรนด์” จะเห็นผลิตภัณฑ์หลายหมวดลุยกลยุทธ์ Collaboration เช่น เครื่องโซดาดึง “มิสเตอร์ การ์ตูน” ศิลปินช่างสักระดับโลกจากสหรัฐฯ มาออกแบบฉลากลิมิเต็ด เอดิชั่น น้ำแร่เพอร์ร่า ขยายฐานสู่หมวดแฟชั่น ร่วมมือกับชมพู่ อารยา ไอคอนด้านแฟชั่น รวมถึงดีไซน์เนอร์ชั้นนำของเมืองไทย เช่น ASAVA IRADA ISSUE ฯ ร่วมสร้างสรรค์ลวดลายคอลเล็คชันบนขวดน้ำแร่ เป็นต้น
ล่าสุด สินค้าแห่งความภาคภูมิใจตัวใหม่ของ “ภูริต” อย่าง “สิงห์ เลมอน โซดา” ต่อยอดกลยุทธ์ความร่วมมือด้วยการดึงไอคอนยิ้มระดับโลก “SMILEY WORLD” มาอยู่บนกระป๋องลิมิเต็ด อิดิชั่น ภายใต้คอนเซปต์ “Keep Smiling ยิ้มรับความสดชื่นที่แตกต่าง” เพื่อทำตลาดเครื่องดื่มอัดก๊าซหรือน้ำอัดลมช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2565
สิงห์ เลมอน โซดา ทำตลาดครั้งแรกปลายปี 2563 แต่สร้างการเติบโตได้อย่างดี กุญแจความสำเร็จเกิดการใช้ข้อมูล(Data) พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติโดนใจ ซึ่ง “ภูริต” เล่าถึงการทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ตลาด ได้คะแนนถึง 4.5 ถือว่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสินค้าเคยพัฒนาเพื่อตอบสนองผู้บริโภค
นอกจากนี้ การ “ลองผิดลองถูก” ยังทำให้เกิดการเรียนรู้ ปรับตัวเพื่อสร้างการเติบโต ขาดไม่ได้คือการมี “ทีมงานที่ดี” ขับเคลื่อนการทำตลาดด้วย
“ทำงานที่บุญรอดฯมา 18-19 ปี ตอนนี้ผลงานที่ภูมิใจคือผลิตภัณฑ์สิงห์ เลมอน โซดา ขายดีมาก และเป็นสิ่งที่ได้จากประสบการณ์ที่เคยล้มมา ทำให้รู้ว่าอะไรทำได้ แบบนี้ได้ ใช้ดาต้าช่วยตัดสินใจ ที่สำคัญด้านการตลาดถือเป็นการ Utilize แบรนด์สิงห์ให้ดีขึ้น กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แข็งแรง”
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จด้านยอดขายสิงห์ เลมอน โซดา สร้างการเติบโตถึง 200% ในเวลาไม่นาน ซึ่งถือว่ารวดเร็วเหมือนกับสตาร์ทอัพ
บทบาทของ “แม่ทัพ” บุญรอดบริวเวอรี่ “ภูริต” ต้องดูภาพรวมใหญ่ขึ้น ส่วนแนวทางการทำตลาด สร้างแบรนด์สินค้า ให้เป็นหน้าที่ของ “ขุนพล” ต่างๆ อย่างแคมเปญการตลาด “SINGHA LEMON SODA X SMILEY” มี "ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล" หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มการตลาดแบรนด์ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้ขับเคลื่อน
สำหรับแคมเปญดังกล่าวได้นำอีโมติคอนยิ้มน่ารักของ SMILEY WORLD ทั้งสิ้น 8 ดีไซน์ มาอยู่บนกระป๋องสิงห์ เลมอน โซดา แบบลิมิเต็ด อิดิชั่น เพื่อวางจำหน่ายผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อแบบเอ็กซ์คลูซีฟ เฉพาะที่เซเว่นอีเลฟเว่น ทุกสาขา
ด้านจุดเด่นของ SMILEY WORLD ก่อนจะเป็นไอคอนหน้ายิ้มก้องโลก มีจุดเริ่มต้นจากปี 1971 นักข่าวชาวฝรั่งเศสนาม “แฟรงคลิน ลูฟรานิ” (Franklin Loufrani) ได้วาดใบหน้ายิ้มแย้มสีเหลืองพร้อมกับสโลแกน “Take Time To Smile” จนกลายเป็นอีโมติคอนประจำหนังสือพิมพ์ France-Soir ที่สื่อถึงสัญลักษณ์การมาถึงของเรื่องราวดี ๆ
ต่อมา SMILEY WORLD ได้เข้าสู่โลกดิจิทัล และยังคงทำหน้าที่ต้อนรับผู้คนอย่างอบอุ่น ด้วยดีไซน์ใบหน้าแบบใหม่มากมาย กลายเป็นอิโมติคอนที่มอบความสุข ความสดใส ที่ครองใจผู้คนทั่วโลกเสมอมา
นอกจากอีโมติคอน SMILEY WORLD บนกระป๋อง สิงห์ เลมอน โซดา ยังต่อยอดสู่สินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ เช่น เสื้อยืด เสื้อฮู้ดดี้ และกระเป๋า เพื่อเอาใจสาวกด้วย
สำหรับสิงห์ เลมอน โซดา วางจุดยืนเจาะตลาดเครื่องดื่มอัดก๊าซ ซึ่งครอบคลุมตลาดน้ำอัดลมและเครื่องดื่มโซดา โดยตลาดน้ำอัดลมมีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท(น้ำดำและน้ำสี) ช่วงครึ่งปีแรกตลาด “ติดลบ” โดยเชิงมูลค่าติดลบ 1.4% และเชิงปริมาณ(ลิตร)ติดลบ 2.1% เมื่อเจาะเซ็กเมนต์น้ำอัดลมกระป๋องทั้งสูตรมีน้ำตาลและสูตรไม่มีน้ำตาล ปีที่ 2564 มีมูลค่าประมาณ 13,172 ล้านบาท และสิงห์ เลมอน โซดา มีส่วนแบ่งทางการตลาดราว 4%
ขณะที่ตลาดเครื่องดื่มโซดามีมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท โดยโซดาสิงห์ ยังเป็นผู้นำตลาดอย่างแข็งแกร่ง ส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 90%
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์