เลาะตะเข็บ "เก็บภาษี กทม." 5 รายการใหม่-เก่าควักกระเป๋าคนกรุง
โฟกัส “5 ภาษี-ค่าธรรมเนียม”
สรุปสาระสำคัญ นโยบายการสร้างรายได้เพิ่มให้ กทม.จำเป็นจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารกรุงเทพมหานคร ปี 2528 ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจในการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมในรายการสำคัญไว้
คำว่า “รายการสำคัญ” หมายถึงเป็นรายการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ได้มีการจัดเก็บรายได้เป็นปกติตั้งแต่ปี 2546 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจปี 2542 มีจำนวน 3 รายการ ได้แก่ ภาษียาสูบ ค่าธรรมเนียมโรงแรม และภาษีน้ำมัน
กรณีนี้ เนื่องจากเป็นการขอแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ คาดว่าใช้เวลานานและไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน (รัฐบาลประยุทธ์ 2) ดังนั้น กว่าจะมีการพิจารณาอนุมัติคาดว่าต้องรอให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นและมีสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลชุดใหม่ เท่ากับต้องรอเวลาถึงกลางปี 2566
ส่วนอีก 2 รายการมาจากการปิ๊งไอเดียของ “ผู้ว่าฯชัชชาติ” ที่ได้เดินทางท่องโลกและเห็นตัวแบบการจัดเก็บในต่างประเทศ ประกอบด้วย “ค่าธรรมเนียมจอดรถริมถนน” กับ “ภาษีผู้ก่อมลพิษ” หรือ PPP (polluter pays principle)

ค่าจอดรถริมถนนเริ่มเก็บปี 2564
เรื่องเดียวกันนี้ “โอฬาร อัศวพลังกูล” ผู้อำนวยการกองรายได้ สำนักการคลัง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมถึงแนวทางเพิ่มรายได้ กทม.ตามแนวนโยบายผู้ว่าฯชัชชาติ ว่า แนวทางการจัดเก็บและเพิ่มเพดานภาษีโดยจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.กทม.เพื่อเพิ่มอำนาจจัดเก็บนั้น เป็นข้อเสนอจากสำนักการคลังเพื่อให้สามารถเพิ่มรายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียม 3 รายการ คือ ภาษีน้ำมัน, ภาษียาสูบ, ค่าธรรมเนียมโรงแรม
ส่วนอีก 2 รายการ “ค่าจอดรถริมถนน-ภาษีผู้ก่อมลพิษ” เป็นนโยบายของผู้ว่าฯชัชชาติโดยตรง
ในกรณี “ค่าจอดรถริมถนน” ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ปัจจุบันมีการจัดเก็บโดยใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดระเบียบที่จอดรถปี 2564 ออกตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2562 มีเจ้าภาพคือ “งานบริการที่จอดรถยนต์ กองรายได้” เป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บ
ทั้งนี้ มีการกำหนดอัตราค่าจอดรถและถนนที่จะมีการเก็บค่าจอดรถไว้ โดยอัตราค่าจอดรถแบ่งเป็นขั้นบันได คือ ชั่วโมงแรก 20 บาท ชั่วโมงต่อไปจัดเก็บชั่วโมงละ 30 บาท โดยมีการประกาศถนนที่จะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถจำนวน 66 ถนนด้วยกัน
สำหรับในปีงบประมาณ 2565 กทม.สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่จอดรถริมถนนได้ทั้งสิ้น 22 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เกือบครึ่งหนึ่งเป็นรายได้จากการจัดเก็บ “ถนนราชดำริ” ตั้งแต่แยกสารสิน ถึงบริเวณลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 มีรายได้จัดเก็บมากกว่า 12 ล้านบาท
จำนวน 66 ถนน มีประเด็นที่ทางพันธมิตรภาครัฐคือหน่วยงานกองบัญชาการตำรวจนครบาลขอให้ไม่จัดเก็บ เพราะเป็นพื้นที่มีปัญหาการจราจรแออัดคับคั่ง จำนวน 14 ถนน ทำให้รายได้จัดเก็บจริงมาจาก 52 ถนนเท่านั้น
“ประเด็นค่าจอดรถริมถนน ไม่ได้กำหนดเพดานอัตราจัดเก็บ และไม่ได้ควบคุมถนนที่ห้ามจัดเก็บ ดังนั้นหาก ผู้ว่าฯ กทม.ต้องการเพิ่มรายได้ในส่วนนี้ สามารถแก้ไขข้อบัญญัติ กทม.ได้เลย ตามขั้นตอนให้ขออนุมัติจากสภา กทม.จึงจะสามารถจัดเก็บได้”
ส่วน “ภาษีผู้ก่อมลพิษ” เจ้าภาพคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษี ในอนาคตจะเป็นภาษีสิ่งแวดล้อมตัวใหม่ของประเทศไทย ซึ่งกฎหมายมีกำหนดผู้ที่ต้องชำระภาษีสิ่งแวดล้อม อัตราภาษี อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรวมถึง กทม.ด้วย
ค่าที่จอดรถ-มีอีก 1,000 ถนน
ด้าน “ต่อศักดิ์ โชติมงคล” ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วิธีการสร้างรายได้เพิ่มให้กับ กทม.นั้น บางรายการต้องแก้กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ บางรายการแก้กฎหมายระดับรอง เช่น ข้อบัญญัติ กทม.
สำหรับค่าจอดรถริมถนน คณะทำงานกำลังเร่งหานวัตกรรมจัดเก็บมาทดแทนการใช้พนักงานเดินเก็บ ซึ่งต้องมีประสิทธิภาพมากกว่า ที่สำคัญมีใบเสร็จรับเงินเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ขณะนี้ มอบหมายให้ “สจส.-สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.” เป็นผู้รับผิดชอบจัดหานวัตกรรมใหม่
ในอนาคต เมื่อมีเทคโนโลยีที่ประสิทธิภาพพร้อมแล้ว เฟสต่อไป กทม.จะเพิ่มถนนที่จะจัดเก็บค่าจอดรถ จากปัจจุบันมีประกาศแล้ว 66 ถนน ในอนาคตจะต้องมีการขยายถนนเพิ่มเติม โดยถนนที่จะศึกษาการจัดเก็บเพิ่มเติมนั้นมีถนนเป้าหมายในการศึกษาอยู่เกือบ 1,000 ถนน
“อยากจะขอใช้พื้นที่ตรงนี้ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่า การดำเนินการจัดเก็บค่าจอดรถริมทาง รายได้จากการจัดเก็บไม่ใช่เป้าหมายของ กทม. แต่เป็นเพียงเครื่องมือในการจัดระเบียบถนนหนทาง แก้ปัญหาการใช้ถนนหนทางเสมือนที่จอดรถส่วนบุคคล”
เป้าหมายเพื่อ 1.แก้ปัญหารถติด 2.ให้เกิดการหมุนเวียนที่จอดรถกระตุ้นเศรษฐกิจริมทาง และ 3.หากสามารถหาแนวทางอื่นในการจัดระเบียบ ทดแทนการเก็บค่าที่จอดรถริมถนนได้ กทม.ก็พร้อมพิจารณา
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์