กกร. ประเมิน GDP ไทยปี 66 โตต่ำกว่าภูมิภาค สัญญาณเศรษฐกิจยังเปราะบาง
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)กล่าวว่า ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออกอย่างชัดเจน กิจกรรมในภาคการผลิตของประเทศหลักไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ กลุ่ม EU ญี่ปุ่น และจีน ชะลอตัวลงพร้อมกันในเดือนพ.ย. สอดคล้องกับการที่การส่งออกสินค้าหดตัวในประเทศที่มีความสำคัญด้านห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนการส่งออกของประเทศไทยก็หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือนในเดือนต.ค.
สำหรับในปี 66 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากภาวะการเงินที่ตึงตัว และวิกฤตเงินเฟ้อ โดยเขตเศรษฐกิจหลักเผชิญความเสี่ยงที่แตกต่างกัน สหรัฐฯ เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวแต่อาจไม่เกิดภาวะถดถอยเนื่องจากตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ขณะที่ยุโรปจะได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตพลังงานจึงมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนจีนที่กลับมาประสบปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่รวมถึงการต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์อาจซ้ำเติมเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในช่วงชะลอตัวจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์
ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 66 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าประเทศคู่เทียบในภูมิภาคอาเซียนอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่การส่งออกประเมินว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.0% ถึง 2.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7 ถึง 3.2%
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังมีสัญญาณของความเปราะบางที่สะท้อนให้เห็น เช่น สินเชื่อที่ถูกจัดชั้นว่ามีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้นมีสัดส่วนที่สูงขึ้น และผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังมีการค้างชำระเป็นสัดส่วนสูงแม้จะพ้นช่วงโควิด-19 มาแล้ว นอกจากนี้ เครื่องยนต์เดียวอาจมีแรงส่งไม่เพียงพอ ในภาวะที่ธุรกิจมีแรงกดดันจากภาวะต้นทุนจากค่าไฟ ค่าแรง และวัตถุดิบ
ที่มา : สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)