เตือนไทยเตรียมล้าหลังเวียดนาม หลังทุ่มงบ "พัฒนาเด็ก"

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวแถลงข่าวสถานการณ์ทางสังคม ประเด็น “วิกฤตเด็กเกิดน้อย ผลกระทบต่อสังคมไทย” ที่กระทรวง พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ ว่า ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ โดยในปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 5.02 แสนคน ถือเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี อัตราการเกิดที่ลดลงจะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในอนาคต รวมทั้งเกิดภาวะพึ่งพิง วัยแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่าในปี 2583 หากอัตราการเกิดยังคงลดต่ำลง สัดส่วนวัยเด็กจะมีเพียงร้อยละ 13.3 ในขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือร้อยละ 55.5 และสัดส่วนวัยสูงอายุสูงถึงร้อยละ 31.1
 
ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปชะลอการมีบุตร รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจเป็นตัวเร่งให้การเกิดน้อยและการลดลงของประชากรไทยเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม พม. ได้เตรียมการออกแบบนโยบายการคุ้มครองทางสังคมด้านเด็ก ดังนี้
 
1. ขยายความครอบคลุมของเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยมุ่งสู่ความถ้วนหน้า
2. มุ่งเน้นการลงทุนทางสังคม โดยการส่งเสริมให้มีศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง
3. สร้างสังคมและสภาพแวดล้อมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่
4. เตรียมพร้อมรับมือกับอัตราการเกิด ทั้งนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องร่วมกันสร้างระบบการดูแลคุ้มครองเด็กทุกคนอย่างรอบด้านทุกมิติ รวมถึงการให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมเด็กให้อยู่ในบรรยากาศการพัฒนาเด็กที่สมวัย
 
ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ภาวะเด็กเกิดน้อย เราจึงต้องทำให้เด็กทุกคนที่เกิดมามีคุณภาพ ตอบโจทย์นโยบายของการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ฉะนั้นรัฐบาลต้องจัดหางบประมาณดูแลคุ้มครองเด็กทุกคนอย่างเต็มที่และเพียงพอ โดยเฉพาะนโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่จัดสรรให้กับเด็กถ้วนหน้า ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีความคืบหน้า มากไปกว่านั้นยังเห็นว่าควรจัดสรรเงินเด็กแรกเกิดตั้งแต่ในครรภ์ เพราะจะส่งผลถึงพัฒนาการเด็ก
 
“งบเรื่องอื่นต่อรองได้ แต่งบเรื่องเด็กไม่ควรต่อรอง ประเทศอื่นอย่างเช่นเวียดนามกำลังจะแซงหน้าไทย เพราะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็ก” ดร.สมชัยกล่าว
 
ที่มา : มติชน ออนไลน์ 
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)