ส่งออกกาแฟไทยสดใส พณ.ชี้ตลาดคู่ค้าเอฟทีเอทำเงิน แนะชูพรีเมี่ยมเพิ่มรายได้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค หลังจากวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย พบว่า สินค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์ ถือเป็นสินค้าดาวเด่นที่น่าจับตามอง โดยได้รับความนิยมและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ทำให้มีการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับสถิติขององค์กรกาแฟระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2565 การบริโภคกาแฟทั่วโลกมีปริมาณสูงถึง 10 ล้านตัน ขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการส่งออกกาแฟและผลิตภัณฑ์ในตลาดโลกมีมูลค่าสูงกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึง 19% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่ตลาดกาแฟจะเติบโตมากขึ้น ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟไทยสามารถขยายการส่งออก โดยเฉพาะการเจาะตลาดไปยังประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีเอฟทีเอ
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับ 14 ประเทศคู่เอฟทีเอของไทย ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และชิลี ไม่เก็บภาษีนำเข้ากับสินค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เปรู และอินเดีย ยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าบางรายการ อาทิ ญี่ปุ่น เก็บภาษีกาแฟคั่ว อัตรา 10-12% จีน เก็บภาษีกาแฟไม่ได้คั่วและกาแฟคั่วที่ไม่ได้แยกกาเฟอีน อัตรา 5% เปรู เก็บภาษีกาแฟคั่วและไม่คั่ว อัตรา 6-11% และอินเดีย เก็บภาษีกาแฟคั่ว อัตรา 100% และผลิตภัณฑ์กาแฟ อัตรา 30% นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลง RCEP ญี่ปุ่นจะทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้ากาแฟคั่วให้ไทย จากเดิมที่เก็บในอัตรา 10-12% จนเหลือศูนย์ ในปี 2580
นางอรมน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกกาแฟและผลิตภัณฑ์ อันดับที่ 4 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และเป็นอันดับที่ 24 ของโลก ในปี 2565 ไทยส่งออกกาแฟและผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลก มูลค่า 109 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่า 96 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 88.4% ของการส่งออกกาแฟและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด สินค้าส่งออกสำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์กาแฟ อาทิ กาแฟปรุงแต่ง และกาแฟพร้อมดื่ม ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ กัมพูชา ลาว ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และจีน สำหรับเมล็ดกาแฟที่ไทยส่งออกได้ดี คือ กาแฟพันธุ์อราบิก้า มีมูลค่า 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 63% ของการส่งออกเมล็ดกาแฟทั้งหมด ตลาดส่งออกสำคัญ คือ ญี่ปุ่น และสหรัฐ
“ ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาสนใจเครื่องดื่มกาแฟจากแหล่งผลิตใหม่ๆ ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟ โดยสร้างเอกลักษณ์ จุดขายที่โดดเด่น และให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานสินค้า ตลอดจนกระบวนการผลิตแบบยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้ง ควรเน้นการขายกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยม การพัฒนารสชาติและคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ และการขอตรารับรองมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยดึงดูดผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้าในต่างประเทศ รวมถึงเปิดโอกาสขยายตลาดให้กับกาแฟของไทยได้ง่ายขึ้น” นางอรมน กล่าว
ที่มา : มติชน