บทความพิเศษ : เวียดนามจะแซงหน้าไทยหรือไม่ (ตอนที่ 1)

ข่าวกิจกรรมทางการทูตที่สำคัญ ณ ช่วงเวลานี้ ไม่มีอะไรร้อนแรงไปกว่าการที่ประเทศไทยทำหน้าที่ประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งทั้งด้านพิธีการ การเตรียมการทางกายภาพ การจราจร และสารัตถะ ลบภาพเหตุการณ์ความโกลาหลและฝันร้ายเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และบัดนี้ เวียดนามเข้ารับช่วงการเป็นประธานอาเซียนลำดับต่อจากไทย ซึ่งเวียดนามเคยทำหน้าที่ประธานอาเซียนมาแล้ว 2 ครั้งเมื่อปี 2541 และ 2553
 
โลกจึงหันมาจับตามองเวียดนาม ในไทยอาจมีคนจำนวนหนึ่งเฝ้ามองพัฒนาการในเวียดนาม พร้อมบางคำถาม เช่น “เวียดนามจะแซงหน้าไทยหรือไม่?”
 
เวลาที่เราตั้งคำถามนี้ อาจมีผู้อ่านบางคนห่วงกังวลว่า “เป็นทัศนคติที่ไม่ดี และในระยะยาวภาพลักษณ์ของไทยจะเสียหายมาก คือ ไทยไม่ต้องการให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ดี ควรเน้นเรื่องการเจริญไปด้วยกัน ทัศนคติกลัวคนอื่นได้ดีเป็นเรื่องของฝรั่ง ไม่น่าไปรับมา เราควรมีมุทิตาจิต ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ...”
 
การตั้งคำถามว่าประเทศไทยแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม นั้น ผู้เขียนประสงค์จะสะท้อนวิธีคิดของคนจำนวนหนึ่ง และมีเป้าหมายหลายๆ ประการ รวมถึงเตือนสติคนไทยว่า หากยังเป็นดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เราจะลำบากในภายหน้า
 
เวียดนามเริ่มต้นไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ด้วยการประมวลผลงานสถิติผลงานที่โดดเด่นในรอบเก้าเดือนที่ผ่านไป กล่าวคือ นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรี รายงานผลงานเศรษฐกิจเวียดนามของรัฐบาล ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นเดือนตุลาคมสรุปได้ว่า เวียดนามจะบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจและสังคมสำคัญๆ 12 ประการ เป็นปีที่สองติดต่อกัน อีกทั้งยังจะทะลุเกินเป้าหมายใน5 ประการอีกด้วย 
 
โดยนายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวถึง การขยายตัวของจีดีพีในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ว่า มีมากถึง 6.98% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี, ทางด้านการลงทุนเพื่อการพัฒนาขยับสูงขึ้น1.3% โดยเฉพาะภาคเอกชนได้มีการใช้จ่ายทุนเพื่อการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงมากเป็นประวัติการณ์ถึง 14.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, รายรับเพื่อเป็นงบประมาณของรัฐเพิ่มสูงขึ้น 10.3% 
 
ขณะที่การค้าต่างประเทศ เวียดนามมีความได้เปรียบเกินดุลประมาณว่าอยู่ในระดับ 6 พันล้านสหรัฐ ภาคการแปรรูปและการผลิตสินค้าขยายตัวถึง 11.3% และมีการจดทะเบียนเปิดบริษัทใหม่มากถึง 102,000 แห่งอีกด้วย อนึ่ง นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามและสภาแห่งชาติเวียดนามในนัยที่คล้ายคลึงกันในลำดับเวลาต่อมา
 
 
 
1.จุดเด่นหรือข้อได้เปรียบของเวียดนาม
ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน บอกไซต์ แร่เหล็ก ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทะเล ป่าไม้ ที่ราบลุ่มสำคัญสำหรับการเพาะปลูกในภาคเหนือและภาคใต้ ชายฝั่งทะเลที่ยาวสะดวกสำหรับการประมงการเดินเรือ
แรงงานหนุ่มสาวจำนวนมาก ราคาค่าแรงถูก มีการศึกษาและรับการฝึกอบรมวิชาชีพ มีวินัยและจงรักภักดี จากประชากรทั้งสิ้น98 ล้านคน จำนวน 2/3 อยู่ในวัยทำงาน คืออายุ 35 ปีลงมา
 
เสถียรภาพทางการเมืองสูง ระบอบการปกครองอยู่บนพื้นฐานของหลักการมาร์กซิสม์และเลนินนิสม์ เวียดนามมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามเป็นองค์กรหลักในการกำหนดแนวทางและนโยบายของประเทศ มีการเลือกตั้งทั่วไปทุกๆ 5 ปีสอดคล้องกับการประชุมพรรคสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม ซึ่งมีขึ้นทุกๆ 5 ปีเช่นกัน ยุทธศาสตร์และนโยบายของพรรคฯ และรัฐบาลโดยความเห็นชอบของสภาแห่งชาติ จึงเป็นไปโดยสอดคล้องกันส่งเสริมกันและกัน ดังนั้น จึงมีเสถียรภาพและความต่อเนื่องสูง
 
ภาวะผู้นำมีวิสัยทัศน์ ภายหลังศึกสงครามและการรวมประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2519 พรรคฯ ประสบวิกฤติความบาดหมางกันรุนแรงขึ้นในโลกสังคมนิยม ปัญหาภายในและภายนอกประเทศ การรักษาสันติภาพเอาไว้ดูจะยากกว่าการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยประเทศ นายเหวียน วัน ลินห์ ผู้นำแนวทางปฏิรูปจากภาคใต้นำเสนอแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ “โด๋ยเม้ย” หรือ “เปลี่ยนใหม่” ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมพรรคฯ ครั้งที่ 6 เมื่อปี 2529 ซึ่งแนวทางนี้ได้กลายมาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและดำเนินธุรกิจตามแนวทางกลไกตลาดและการเปิดประเทศด้านการค้าการลงทุนทีละเล็กละน้อย ระบอบผู้นำทางการเมืองของเวียดนามได้ยึดถือแนวทางนี้จวบจนถึงปัจจุบันเนื่องจากประสบความสำเร็จ
 
ภาวะผู้นำมีวิสัยทัศน์เช่นนี้ เวียดนามแสดงออกอย่างมั่นใจเพราะ 
 
รู้ว่านี่คือแนวทางเดียวที่ได้นำพาประเทศฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆมาจนถึงปัจจุบันได้ เพราะหากไม่ปรับตัว ก็จะอยู่ไม่ได้ สังคมนิยมลำพังมิใช่คำตอบ 
 
จีนเองก็แสดงตนว่าเป็นตัวแบบแห่งความสำเร็จของการใช้เศรษฐกิจกลไกตลาดในสาธารณรัฐประชาชนของตน ขณะที่รักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครองที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นองค์กรหลัก ดังนั้น เวียดนามจึงมีจีนเป็นผู้นำทาง หรือผู้พิทักษ์แห่งอุดมการณ์ กระนั้นก็ตาม ผู้นำเวียดนามโดยเฉพาะรัฐบาลก็จะเอาใจใส่ต่อการเปิดหูเปิดตากับประเทศตะวันตกและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งขณะนี้มีผู้นำที่ให้ความเป็นมิตรและหุ้นส่วน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการอธิบายต่อประชาชนภายในประเทศ ว่า แนวทางนี้ถูกต้องแล้ว
 
รัฐบาลเวียดนามประสบความสำเร็จในการสร้างเสถียรภาพของเงินสกุลด่ง โดยดำเนินมาตรการทางการเงินการคลังที่เข้มงวด ลดการพึ่งพาการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ธุรกรรมทั้งมวลกระทำโดยเงินสกุลด่ง ซึ่งส่งผลดีต่อการลดอัตราเงินเฟ้อ รักษาอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรากับต่างประเทศที่มีเสถียรภาพและสอดคล้องกับความเป็นจริงของตลาด มิใช่อ่อนตัวเกินไปหรือแข็งตัวเกินไป ไม่ว่าทางใดก็ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจหรือธุรกิจของเวียดนาม
 
 
การยอมรับจากต่างประเทศ ต่อเวียดนามมีสูงขึ้นโดยลำดับ สังเกตได้จากความสำเร็จการจัดการประชุมระหว่างประเทศสำคัญๆ เช่น เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกเมื่อปี 2560 การได้รับความวางใจเป็นสถานที่จัดประชุมสุดยอดครั้งที่สองระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือเมื่อปี 2562 แม้นว่าสุดท้ายแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม และการได้รับเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงประเภทไม่ถาวร สหประชาชาติ ช่วงปี 2563-2564 (ด้วยคะแนนเสียง 192 จาก 193 เสียง) 
 
นอกจากนี้ เวียดนามได้ลงนามความตกลงการค้าเสรี หรือ FTAs จำนวนมาก กับต่างประเทศ ได้แก่ 1) 10 แห่งภายใต้กรอบอาเซียน อาทิ กับจีน เกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่นเป็นต้น 2) สามแห่งที่เจรจาเสร็จสิ้นแล้วหรือลงนามแล้วแต่รอบังคับใช้อาทิ กับสหภาพยุโรป ฮ่องกง และ CPTPP ในหมู่ 11 ประเทศ และ 3) สามแห่งที่อยู่ในระหว่างการเจรจา อาทิ RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) EFTA และอิสราเอล
 
เวียดนามประสบความสำเร็จจากการระดมทุนจากชาวเวียดนามโพ้นทะเล ซึ่งบัดนี้มีความมั่นใจในระบอบเศรษฐกิจปัจจุบันมากยิ่งขึ้นหลังจากการใช้กลไกตลาดนำการผลิต ซึ่งดำเนินไปพร้อมๆ กับการให้เสรีภาพทางสังคมมากยิ่งขึ้น ณ บัดนี้ สถิติจากสมาคมเวียดนามโพ้นทะเลระบุว่า ภายหลังสงครามเวียดนาม มีชาวเวียดนามพำนักอาศัยในต่างประเทศเป็นจำนวนมากถึงประมาณ 5 ล้านคน แยกเป็น 3.2 ล้านคนในสหรัฐฯ 1 ล้านคนในยุโรป ห้าแสนคนในออสเตรเลีย เป็นต้น ชาวเวียดนามโพ้นทะเลจำนวนมากส่งเงินกลับไปยังญาติมิตร หรือนำเงินไปลงทุนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ หรือซื้อกิจการที่อาจจะอยู่ในปริมาณที่มากกว่านักลงทุนจากต่างชาติเสียอีก อนึ่งในปี 2562 นี้ คาดว่าจะมีการส่งเงินกลับมาตุภูมิเป็นจำนวนมากถึง 16.7 พันล้านเหรียญอเมริกัน
 
เวียดนามกำลังทบทวนปรับปรุงยุทธศาสตร์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในห้วงปี 2561-2566 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ใหม่ โดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ให้ความสำคัญต่อโครงการที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานต่ำ พลังงานหมุนเวียน นอกเหนือจากการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจลงทุนจากต่างประเทศกับบริษัทเอกชนภายในประเทศ ขณะนี้ ผู้ลงทุนหลักในเวียดนาม ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้สิงคโปร์ และจีน 
 
ในเรื่องนี้ ผู้บริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเวียดนาม ที่นครโฮจิมินห์ ได้แจ้งกับผู้เขียนเพิ่มเติมว่า ร่างยุทธศาสตร์ใหม่นี้ ให้ความสำคัญต่อภาคบริการ (เช่น การธนาคารการศึกษา) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะเน้นคุณภาพ ประสิทธิภาพ การสร้างมูลค่าเพิ่ม มิใช่อุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานหรือเทคโนโลยีต่ำเช่นในอดีต และว่า ในปัจจุบัน เวียดนามมีนิคมอุตสาหกรรมมากกว่า 320 แห่งทั่วประเทศ และทางการกำลังกลั่นกรองร่างโครงการลงทุนและข้อเสนอตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์ใหม่ ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ใหม่นี้ยังอยู่ในกระบวนการภายใน คือ การรวบรวมความเห็นการปรึกษาหารือและการให้ความเห็นชอบ แต่มิได้แก้ไขกฎหมายการลงทุนแต่อย่างใด
 
ในตอนต่อไป ผู้เขียนจะกล่าวถึงยุทธวิธีของเวียดนามในการต้อนรับการค้าการลงทุนของไทย โอกาสและสิ่งท้าทายจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และข้อสังเกตต่อสภาวการณ์การแข่งขันระหว่างประเทศไทยกับเวียดนาม
 
 
คมกริช วรคามิน
(เอกอัครราชทูตและที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย – เวียดนาม ข้อคิดเห็นที่แสดงเป็นความรับผิดชอบของตนเอง)
 
 
ภาพ : dek-d.com
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า 
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)