เศรษฐกิจไทย หลัง "เลือกตั้ง"
จีดีพีปีที่ผ่านมาขยายตัวต่ำกว่าคาดหมายมาก สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วน กระตุ้นเครื่องยนต์หลักจุดขายประเทศให้ได้อย่างการท่องเที่ยว
หากไทม์ไลน์การเมืองเป็นไปอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ อีกไม่นานเราจะมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน
ท่ามกลางความผันผวน และการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะคาดเดาในหลายเรื่องจากโลกที่เปลี่ยน ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวรับความแปลกใหม่ที่ยังมีเข้ามาอยู่เสมอ
ความหวังสำคัญ คือ เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา สิ่งแรกที่ต้องทำทันที คือ “แก้ปัญหาเศรษฐกิจ” เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเรื่อยๆ ตัวเลขเศรษฐกิจตกต่ำ
หนำซ้ำต้องเจอปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อราคาพลังงาน อาหาร และวัตถุดิบทางการเกษตร ที่ราคาสูงขึ้น ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้นมาก อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
ขณะที่ค่าจ้างแรงงาน ค่าครองชีพไม่ได้ปรับขึ้นตาม ส่งผลให้ความต้องการซื้อ หรือการจับจ่าย เงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจน้อยลง
เมื่อเศรษฐกิจในประเทศใหญ่ชะลอตัว ยิ่งทำให้การค้าระหว่างประเทศลดน้อยลงไปด้วย และอาจกระทบการลงทุนและการท่องเที่ยวที่ไม่ได้โตมากเท่าที่คาดการณ์เอาไว้
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากปัจจัยลบหลายเรื่อง ทำให้ทุกประเทศต้องปรับตัว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยด้านการเมืองเป็นหนึ่งเรื่องที่สำคัญ รัฐบาลที่มีสเถียรภาพย่อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาภายในเดือน มี.ค.จึงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจไทยจับตาอย่างมากหากรัฐบาลหลังการเลือกตั้งมีความมั่นคงแข็งแรง ย่อมหนุนให้การทำธุรกิจรวมถึงระบบเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่สดใส
จากการคุยกับซีอีโอภาคธุรกิจส่วนใหญ่ เห็นตรงกันว่า หลังการเลือกตั้งประเทศไทยต้อง “เปลี่ยน” เพราะที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มค่อนข้างเปราะบาง
จีดีพีปีที่ผ่านมาขยายตัวต่ำกว่าคาดหมายมาก สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วน กระตุ้นเครื่องยนต์หลักจุดขายประเทศให้ได้อย่างการท่องเที่ยว
ขณะที่ รัฐบาลใหม่ ต้องมีวิชัน และมีทีมงานที่แข็งแกร่ง จัดทำยุทธศาสตร์ขึ้นมาเพื่อทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของไทยมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เป็นรูปธรรม ยิ่งการเมืองนิ่งได้มากเท่าไหร่ ความขัดแย้งลดลง จะยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างไม่สะดุด ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้รวดเร็ว เพราะประเทศยังต้องการ “ยาแรง” ในการฟื้นกำลังเพื่อขับเคี่ยวต่อบนสมรภูมิโลกใหม่ที่ความท้าทายและแข่งขันกันสูง ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะรอด..
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ