ไทยคุมเข้มประมง IUU ดันเรือขนปลาทูน่าค่ากว่า 250 ล้านบาท ออกนอกประเทศ
"บิ๊กโจ๊ก" ผนึก 4 หน่วยงาน คุมเข้มทำประมงผิดกฎหมาย ขนสินค้าเข้าไทย ล่าสุดผลักดันเรือสัญชาติเกาหลีขนปลาทูน่ามูลค่ากว่า 250 ล้านบาทออกนอกประเทศ หลังตรวจพบพฤติกรรมเข้าข่าย IUU
จากนโยบายรัฐบาลไทยที่มุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการประมงของประเทศให้เป็นประเทศชั้นนำระดับโลก โดยต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU FISHING) มาอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้รับการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อต้นปี 2562 โดยไม่อนุญาตให้นำเข้าปลาที่ไม่สามารถพิสูจน์แหล่งที่มาอย่างสิ้นสงสัย เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมแปรรูปในประเทศทั้งที่เป็นปลากระป๋อง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยเด็ดขาด
พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) เผยว่า ได้รับแจ้งจากสายข่าวระดับนานาชาติว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา มีเรือขนปลาทูน่า ชื่อ “SUN FLOWER 7” สัญชาติเกาหลีใต้ ได้ขอเทียบท่าพื้นที่เขตท่าเรือกรุงเทพ ถนนราษฎร์บูรณะ
ทั้งนี้เพื่อขอนำปลาทูน่าจากมหาสมุทรแปซิฟิก จำนวน 4,000 ตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 1,813 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ62,374 บาท) รวมมูลค่าประมาณ 250 ล้านบาทขึ้นท่าประเทศไทย เพื่อนำไปส่งภาคอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นปลากระป๋องส่งออก
จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสอบข้อมูลพฤติกรรมของเรือขนปลาลำดังกล่าวโดยละเอียด เนื่องจากมีข้อบ่งชี้ว่ามีพฤติกรรมทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) โดยตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกประเภท เส้นทางการเดินเรือ ตลอดจนร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจาก มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) องค์กรภาคประชาสังคมระดับนานาชาติ สืบสวนหาข้อมูลจากคนประจำเรือที่ท่าเทียบเรือ
ผลการตรวจสอบพบว่า เรือดังกล่าว มีพฤติกรรมต้องสงสัยในการเก็บทุ่นลอยน้ำที่ใช้สำหรับเป็นแพล่อปลาทูน่าในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิค ในการดูแลของคณะกรรมาธิการประมงแปซิฟิคตะวันตกและแปซิฟิคกลาง (WCPFC) ตลอดจนเขตน่านน้ำประเทศคีรีบาสโดยไม่ได้รับอนุญาต
จากผลการตรวจสอบข้างต้น จึงได้ประสานการปฏิบัติกับกรมประมง ให้ออกคำสั่งให้เรือขนปลาทูน่า SUN FLOWER 7 ออกนอกประเทศไทย ในเวลา 14.00 น. เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 โดยใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 96 วรรคสอง โดยมอบหมายให้กองบังคับการตำรวจน้ำจัดชุดปฏิบัติการพิเศษมัจฉานุ พร้อมเรือตรวจการณ์ ควบคุมการออกจากน่านน้ำไทยอย่างเข้มงวด ให้กรมเจ้าท่าติดตามเส้นทางเดินเรือผ่านระบบติดตามเรือ AIS จนกว่าจะพ้นน่านน้ำไทย และไม่อนุญาตให้หยุดจอดเรือในระหว่างเดินทางออกนอกน่านน้ำไทยทุกกรณี เพื่อป้องกันมิให้มีการขนถ่ายปลาทูน่าไปเรือลำอื่น และอาจลักลอบเข้าประเทศได้
พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ กล่าวย้ำว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการยกระดับมาตรฐานให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับโลกในการต่อต้านการทำประมง IUU ตามนโยบายรัฐบาล แสดงถึงความเข้มแข็งในการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSM) ที่ไม่ต้อนรับเรือทุกประเภทซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการเกี่ยวข้องกับการทำประมง IUU นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากองค์กรภาคประชาสังคมระดับนานาชาติ คือ EJF ในการร่วมสืบสวนหาข้อมูลต่าง ๆ จนนำมาสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
“ประเทศไทยจะไม่ปล่อยให้มีการนำปลาและสัตว์น้ำใด ๆ ที่พิสูจน์อย่างสิ้นสงสัยไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมประมง IUU เข้าประเทศโดยเด็ดขาด ในทุกช่องทาง ไม่ว่าทางทะเล หรือทางบก ซึ่งผมได้นำเรื่องนี้เรียนท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ทราบเรียบร้อยแล้ว จึงขอเตือนไปถึงภาคอุตสาหกรรมผู้ประกอบการแปรรูปปลาทูน่าทุกแห่งว่า จะต้องใช้ปลาที่สามารถบอกแหล่งที่มา ตลอดจนกระบวนการจับปลาทั้งระบบว่าไม่เกี่ยวข้องกับประมง IUU เท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ให้นำไปแปรรูปเป็นปลากระป๋องเพื่อส่งออกได้”
ทั้งนี้เพื่อการแสดงความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและผู้บริโภคยุคสมัยปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ทั้งกระบวนการ หากไม่ได้ปฏิบัติดังกล่าว ย่อมถูกแซงชั่นจากต่างประเทศ และจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ