อาหารแห่งอนาคต: สถานการณ์การลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ประชากรที่เพิ่มขึ้น ย่อมต้องการอาหารที่มากขึ้น แต่สวนทางกับพื้นที่ภาคการเกษตรที่ลดลง เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาการผลิตอาหารที่เพียงพอและคงคุณค่าสารอาหาร จึงมีความจำเป็น และกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุน "อาหารแห่งอนาคต"
ดร.วานิสสา เสือนิล ศูนย์ความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากบทความ ‘อาหารแห่งอนาคต: ตลาดทางเลือกที่กำลังเติบโต’ เราได้ทำความรู้จักกับอาหารแห่งอนาคต (future food) และเล็งเห็นถึงโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ ซึ่งการผลิตอาหารแห่งอนาคตจำเป็นต้องใช้ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น (R&D intensive) ทำให้การลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอาหารแห่งอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะยกระดับสินค้าของไทยไปแข่งขันในตลาดโลกได้ ในบทความนี้จะนำเสนอสถานการณ์การลงทุนฯ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบถึงความพร้อมและหาแนวทางส่งเสริมการลงทุนฯ แก่ผู้ประกอบการไทย
ผู้ประกอบการอาหารแปรรูปเริ่มสนใจลงทุนฯ พัฒนาอาหารแห่งอนาคต แต่ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย งานศึกษา อาชนัน และคณะ (2565) ที่เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการอาหารแปรรูปมีมูลค่าการลงทุนฯ ไม่เกิน 5% ของยอดขาย และยิ่งกว่านั้น ประมาณ 1 ใน 4 ของกิจการอาหารแปรรูปทั้งหมด ยังไม่มีการจัดสรรเงินลงทุนฯ อย่างจริงจังเพื่อพัฒนาอาหารแห่งอนาคต ซึ่งไม่น่าแปลกใจมากนัก เพราะกิจการส่วนใหญ่เป็นรายย่อย มีขนาดกลางและขนาดเล็ก (Micro, Small and Medium Enterprise: MSMEs) ซึ่งไม่ได้มีศักยภาพทางการเงินที่มั่นคงมากพอจะทุ่มเงินไปกับการลงทุนฯ ที่มีความเสี่ยงว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่
ในมุมมองของผู้ประกอบการ ทิศทางการลงทุนฯ ถูกผลักดันจาก 2 ด้านหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงของความต้องการสินค้าในตลาด (demand-side) และการจัดการทรัพยากรการผลิต (supply-side) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่สำคัญต่อทิศทางการลงทุนฯ คือ กระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพและแสวงหาอาหารที่เสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายมากขึ้น นอกจากนั้น ยังรวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเติบโตของสังคมเมือง ความมั่นคงทางอาหาร และมาตรฐานอาหารทั้งของภาครัฐและเอกชนที่มีแนวโน้มซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่การจัดการทรัพยากรการผลิตที่สำคัญ คือ การลงทุนฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสียจากภาคการผลิต (food waste) ที่สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการทำกำไรให้กับกิจการ
การลงทุนฯ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยของทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นหลัก โดยเฉาะอย่างยิ่ง กิจการขนาด MSMEs ที่ยังไม่มีเงินทุนมากพอที่จะตัดสินใจลงทุนและทำการวิจัยเองภายในบริษัท (In-house R&D) ขณะที่กิจการขนาดใหญ่มักจะทำการลงทุนฯ ภายในบริษัทเอง พร้อม ๆ ไปกับการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยจากภายนอก
ขณะเดียวกัน การสร้างความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของโลก (joint venture) หรือเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการผลิตอาหารแห่งอนาคตเพื่อต่อยอดในระดับที่ก้าวหน้าขึ้น ยังเกิดขึ้นไม่มากนัก และมักจะเกิดขึ้นกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งรูปแบบการลงทุนนี้เป็นการเปลี่ยนอุปสรรคจากการเป็นคู่แข่งไปสู่โอกาสในการขยายตลาดร่วมกัน นอกจากนั้น ความร่วมมืออาจอยู่ในรูปแบบการร่วมจัดตั้งกองทุนสนับสนุน Startup ในการลงทุนฯ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเทคโนโลยีหรือสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะให้แก่กิจการที่ร่วมลงทุนได้
การลงทุนฯ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากเงินทุนของบริษัทเป็นหลัก แหล่งเงินทุนสำหรับกิจการ MSMEs ยังจำกัด และเงินทุนที่ได้รับสนับสนุนจากทางภาครัฐยังไม่ทั่วถึง โดยงานศึกษา อาชนัน และคณะ (2565) ยังพบอีกว่า มีเพียงร้อยละ 30 ของกิจการในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปเท่านั้น ที่ได้รับทุนสนับสนุนหรือสิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากทางภาครัฐเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นอกจากนั้น การกู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงินเป็นเพียงแหล่งเงินทุนหลักในปัจจุบันของกิจการ MSMEs
จากข้างต้น แม้ผู้ประกอบการอาหารแปรรูปจะเริ่มหันมาสนใจตลาดอาหารแห่งอนาคตมากขึ้น แต่การลงทุนฯ ยังเกิดขึ้นไม่มากนัก นั่นเป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านการเงิน โดยเฉพาะกิจการ MSMEs ที่ปัจจุบันยังต้องพึ่งพาเงินทุนของกิจการเป็นหลัก และมีแหล่งเงินทุนที่ไม่หลากหลาย จึงไม่สามารถทุ่มเงินไปกับการลงทุนฯ ในสัดส่วนที่สูง คงถึงเวลาที่ภาครัฐต้องเร่งหาช่องทางการระดมทุนรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้การลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงและทั่วถึงสำหรับผู้ประกอบการ MSMEs ของไทย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ