พาณิชย์ เผย ภาพรวมราคาสินค้าดี กว่าปี 65 ชี้ ปี 66 ยังเป็นปีทองผลไม้ไทย
กรมการค้าภายใน เผยภาพรวมราคาสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคยังอยู่ในเกณฑ์ดี พร้อมเตรียมมาตรการดูแลผลไม้ 22 มาตรการ ตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% เชื่อปีนี้ยังเป็นปีทองของผลไม้ไทย
นายวัฒนศักดิ์ เสือเอื่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาสินค้าในช่วงนี้ก็ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เช่น ข้าวหอมมะลิ เฉลี่ยถึง 14,400 – 14,800 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 13,500-14,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมปทุมธานี 10,500-11,500 บาทต่อตัน ข้าวเจ้า 9,700 – 10,100 บาทต่อตัน และข้าวเหนียว 11,500-12,400 บาทต่อตัน ตามความต้องการข้าวที่ยังมีอยู่ทั้งในประเทศ และการส่งออกของไปต่างประเทศ ที่ไทยตั้งไว้ 8 ล้านตันในปีนี้ ส่วนมันสำปะหลัง ก็ดีขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัม(กก.) 3.25 – 3 .70 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็ยังทรงตัวในระดับสูงที่ 11.60-11.70 บาทต่อกก.สำหรับปาล์มน้ำมัน ก็ปรับขึ้นจากเดือนก่อน อยู่ที่ 5.30 บาทต่อกิโลกรัม
ด้านราคาผัก ก็ปรับขึ้น-ลงตามกลไกตลาด รวมไปถึงราคาเนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ ในภาพรวมปรับลดลงเล็กน้อยที่ 5% ราคาหมูเนื้อแดง ราคาไม่เกินกก. 190 บาท เนื้อไก่ ติดสะโพก 49-69 บาทต่อกก. และไข่ไก่ อยู่ที่ฟองละ 3. 60 บาทซึ่งราคาไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาน้ำมันปาล์มขวดราคา 41-45 บาทต่อขวด ซึ่งสอดคล้องกับราคาซีซีพีโอ ส่วนราคาพืช 3 หัว คือหอมหัวใหญ่ หอมแดงและกระเทียมก็ราคาดีกว่าปีแล้ว ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาก็ยังทรงตัว ซึ่งแต่ละห้าง ก็ได้จัดโปรโมชั่นลดราคาหมุนเวียนกันไปอย่างต่อเนื่อง โดยกรมการค้าภายใน ได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าทุกหมวดเป็นรายวัน
สำหรับ ผลไม้ ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดหลายชนิด นั้น เชื่อว่า ปีนี้ ยังคงเป็นปีทองของผลไม้ไทย โดยได้ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปีการผลิต 2566 ไว้รองรับแล้ว รวม 17 มาตรการเดิม และมาตรการใหม่อีก 5 มาตรการ เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูแลผลไม้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทุเรียนไทย ยังคงเป็นที่ต้องการ แม้ตลาดนำเข้าสำคัญอย่างจีน ซึ่งมีข่าวสามารถปลูกทุเรียนได้สำเร็จและผลผลิตกำลังออกสู่ตลาด แต่เชื่อว่าลักษณะทางกายภาพ สีเหลืองสวย และรสชาติหวานหอม ของทุเรียนไทย ยังคงครองใจผู้บริโภคชาวจีนได้ ซึ่งทั้งปีนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% ทั้งปริมาณและมูลค่า จากปีก่อน ที่ส่งออกได้ 4.04 ล้านตัน มูลค่า 262,000 ล้านบาทขณะที่ตลาดภายในประเทศก็จะรณณรงค์ให้ประชาชนหันมาบริโภคผลไม้มากขึ้น
โดยมาตรการดูแลผลไม้เชิงรุก ในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการ ใน 4 ด้าน 22 มาตรการ ได้แก่ แผนการผลิต แผนการตลาดในประเทศ แผนการตลาดต่างประเทศ และแผนดูแลด้านกฎหมาย อาทิ นำมาตรการอมก๋อย โมเดล ซึ่งเป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยจะเข้าไปเชื่อมโยงให้ผู้ซื้อ ทั้งผู้ประกอบการ ห้าง ผู้ผลิต มาเจอกับเกษตรกร และตกลงซื้อขาย มีเป้าหมายที่ 1 แสนตัน จะช่วยกระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต เป้าหมาย 9 หมื่นตัน โดยช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือเกษตรกรกก. ละ 3 บาท และสนับสนุนให้รถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรงในช่วงที่ผลไม้ออกมาก เป้าหมาย 3 หมื่นตัน ประสานงานห้าง ร้านสะดวกซื้อ และปั๊มน้ำมันต่าง ๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้แก่เกษตรกร 100,000 ตัน รณรงค์บริโภคผลไม้ไทย จัดงาน fruit festival ในแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนการโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินฟรี 20 กก. ปริมาณ4.2 หมื่นตัน เป็นต้น
ส่วนมาตรการอื่น ๆ เช่น การเชื่อมโยงผลไม้โดยเซลส์แมนจังหวัด และเซลส์แมนประเทศ ในการระบายผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ การช่วยสภาพคล่องผู้ส่งออก ช่วยดอกเบี้ย 3% และช่วยส่งออกกก.ละ 4 บาท เป้าหมาย 1 แสนตัน การเข้าร่วมในคณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ ที่จะมีวอร์รูมภาครัฐและเอกชนติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาส่งออกผลไม้ รวมทั้งการบังคับใช้กฏหมาย 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า และพ.ร.บ.ชั่งตวงวัด
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ