เล็งฟื้น "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" เพิ่มทางเลือกผลิตไฟฟ้า-รอรัฐบาลหน้าไฟเขียว
"สนพ." ระบุ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นอีกทางเลือกในแผนพลังงานชาติ 2023 เล็งประชาพิจารณ์ทำความเข้าใจทุกภาคส่วนช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 66 ก่อนนำเข้าคณะอนุกรรมการ PDP กลั่นกรอง เพื่อเตรียมเสนอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่พิจารณา
Key Points
'สนพ.' เผย 'โรงไฟฟ้านิวเคลียร์' ถือเป็นอีกทางเลือกในแผนพลังงานชาติ 2023
'พลังงาน' เตรียมประชาพิจารณ์ทำความเข้าใจถึงความสำคัญของ 'โรงไฟฟ้านิวเคลียร์'
หวั่นกรณี 'ซีเซียม-137' สร้างความสับสนประชาชน กระทบ 'โรงไฟฟ้านิวเคลียร์'
'วัฒนพงษ์' พร้อมเดินหน้า 'แผนพลังงานชาติ' หวังรัฐบาลใหม่ไฟเขียว
จากนโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection) พลังงานนิวเคลียร์ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของพลังงานที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อม หากแต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล และอยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นของประชาชน
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สนพ.อยู่ระหว่างจัดทำ แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2023) โดยรวมทั้ง 5 แผนพลังงานไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
ทั้งนี้ ในส่วนของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2580 หรือ PDP 2023 เบื้องต้นจะบรรจุปริมาณการผลิตไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้ามากกว่าแผนเดิม PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่มีอยู่ 77,211 เมกะวัตต์ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงขึ้น เพราะช่วงปลายของแผนฯ คาดว่าจะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น และการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ทั้งนี้ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะสูงขึ้นอยู่ระดับ 50% นอกนั้นจะเป็นไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งต่ำกว่า 50% ลดลงจากปัจจุบันที่อยู่ 60% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ รวมทั้งจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กบรรจุอยู่ในแผนด้วย เป็นต้น ส่วนค่าไฟฟ้าจะพยายามให้เท่าแผน PDP เดิมที่เฉลี่ยทั้งแผนอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาเทคโนโลยี Small Modular Reactors (SMR) ถือเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ ที่พูดคุยกันมานานแล้ว เพราะเครื่องปฏิกรณ์แบบแยกส่วนขนาดเล็กเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิชชันที่มีขนาดเล็กกว่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบทั่วไป ออกแบบโดยคำนึงถึงความเป็นรูปแบบโมดูลสำเร็จรูป
อีกทั้งจะมีกำลังไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ระดับ 100-300 เมกะวัตต์ หรือกำลังไฟฟ้าความร้อนที่ส่งออกน้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นประมาณหนึ่งใน 3 ของกำลังไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แบบปกติ ซึ่งการเลือกใช้เทคโนโลยี SMR มีผลดีในแง่การประหยัดงบประมาณการก่อสร้าง ติดตั้งง่าย มีความปลอดภัยสูง สามารถติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเป็นอีกหนึ่งข้อเสนอที่จัดทำไว้ให้เลือก คงยังไม่บรรจุในแผนฯ เบื้องต้นจะเสนอคณะอนุกรรมการ PDP ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน อนุมัติก่อนไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ซึ่งที่ผ่านมาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เคยอยู่ในแผน PDP นานแล้ว พอเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในภูมิภาค Tohoku ของญี่ปุ่นส่งผลให้กระทบกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น เกิดการระเบิดของเตาปฏิกรณ์หลายครั้ง ทำให้สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล
"จากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์ในภาพรวม อีกทั้ง ขณะนี้ ประเทศไทยเกิดกรณีีวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หายไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ ในจ.ปราจีนบุรี ก็อาจปลุกกระแสการต่อต้านไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของภาคประชาก็ได้"
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยี SMR ถือเป็นเทคโนโลยีที่ทั้งโลกได้เห็นถึงความสำคัญและนิยมใช้ สนพ.จึงหารือกับกฟผ. และเสนออีกหนึ่งทางเลือกเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี สะอาด ถูก และปลอดภัย เพราะถ้าไม่ทำก็อาจเสียโอกาส ถือเป็นหน้าที่ของสนพ. ด้วยเทรนด์เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยลดคาร์บอน อาทิ แอมโมเนีย ไฮโดรเจน และ การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (ccs) เป็นต้น ซึ่งทุกอย่างอยู่ที่ภาคประชาชน และผู้มีอำนาจตัดสินใจ
"ตอนนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นรักษาการ หากตัดสินใจไม่ได้ เราก็อาจนำเสนอปลัดกระทรวงพลังงานรับทราบ เพื่อเร่งประชาพิจารณ์ก่อนในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2566 เพื่อเตรียมนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานท่านใหม่ ซึ่งสนพ.ได้ตั้งใจทำแผนมาโดยตลอด ให้เดินหน้าไปพร้อมกับเจตนารมณ์เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ โดยคาดว่าแผนพลังงานชาติ จะเสร็จกลางปี 2566 นี้"
รายงานข่าวระบุว่า ประเทศไทย ได้มีแนวคิดเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นานแล้ว จากปัจจัยที่ไทยไม่สามารถผลิตพลังงานได้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศรัฐบาลได้อนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดชลบุรีเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1976 แต่ท้ายที่สุดจำเป็นต้องเลื่อนโครงการออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากถูกกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ จากการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ในอ่าวไทย แม้ว่าเมื่อปี 1992 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติเห็นชอบต่อการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 2 แห่งภายในปี 2006 แต่แนวทางการดำเนินการยังคงไม่ชัดเจน รัฐบาลได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายด้วยการนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และสนับสนุนให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมากขึ้น
อย่างไรก็ดี วิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งล่าสุดช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 2000 ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในไทยอีกวาระหนึ่งอย่างจริงจัง โดยได้กำหนดแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ ปี 2011 – 2021 ครอบคลุมโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีกำลังผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 4,000 เมกะวัตต์ โดยได้อนุมัติงบประมาณระหว่างปี 2008 – 2011 สำหรับเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน
โดนได้เลือกสถานที่ก่อสร้าง/เทคโนโลยีการผลิต ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน และพัฒนาบุคลากรซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งงบประมาณ 240 ล้านบาทระหว่างปี 2008 – 2010 สำหรับเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาและการพัฒนาบุคลากร เลือกสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีความเป็นไปได้แล้วรวม 4 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ ขอนแก่น และตราด
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย แบ่งเป็นประเด็นหลัก ๆ คือ กระแสต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ของสังคม เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจและไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกำหนดนโยบายด้านพลังงานของไทยไปในทิศทางที่ชัดเจนและขาดการต่อเนื่อง
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ