9 พรรค ประชัน "วิชั่น" แก้โจทย์ภาคอุตฯ!
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดดีเบตโชว์วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยจาก 9 พรรคการเมือง ตอบโจทย์แก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุนด้านนโยบายอย่างต่อเนื่อง
รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย สุพันธุ์ มงคลสุธี ระบุ ในฐานะที่เคยอยู่สภาอุตสาหกรรมมามากกว่า 20 ปี เผชิญกับอุปสรรคมากมาย ได้พยายามเสนอแนะหลายๆ เรื่องต่อภาครัฐแต่ไม่ได้รับการตอบรับที่เพียงพอ ดังนั้น ภาครัฐกับเอกชนต้องจับมือกัน การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมต้องแขวนกฎหมาย 1,400 ฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ด้วย พรก.1 ฉบับ ให้งดใช้ชั่วคราวเพราะการแก้กฎหมายไม่ทันการ และค่อยๆ แก้ไขในระยะ 5 ปี ถัดมาคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเอสเอ็มอี เพิ่มวงเงินค้ำประกัน บสย.ให้ไม่ต่ำกว่า 60% ต้องจัดตั้งกองทุนเอสเอ็มอี 1 แสนล้านบาท และต้องบริหารโดยภาคเอกชน สร้างแต้มต่อให้ภาคอุตสาหกรรม บีโอไอต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เจ้าของเป็นคนไทย และที่สำคัญต้องสร้างรายได้ลดค่าใช้จ่ายเอสเอ็มอี
ด้านคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ เกียรติ สิทธีอมร ระบุ นโยบายที่พรรคได้ประกาศไว้ 16 นโยบายหนึ่งในนั้นมีนโยบายช่วยเอสเอ็มอี โดยรัฐไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม พรรคสามารถนำเงินที่อยู่ในระบบที่ไม่ได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ 1 ล้านล้านบาท นำมากระตุ้นเศรษฐกิจ ในจำนวนนี้ 3-5 แสนล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ต้องแก้ปัญหาหลักที่เกิดจากต้นทุนพลังงานที่สูง ทั้งน้ำมัน ก๊าซ ค่าไฟ การขนส่ง ยืนยันว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและได้คุมกระทรวงพลังงานภายใน 1 เดือนกำไรโรงกลั่น ค่าการตลาด จะต้องไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร ต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุ ภาคอุตสาหกรรมไทยจะเติบโตได้ เมื่อมีการสนับสนุนและผลักดันสิ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ในอนาคตจะต้องมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เติบโตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย
จากการเสวนาแสดงให้เห็นว่าการสนับสนุนจากภาครัฐด้านนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องมีความต่อเนื่อง และภาคเอกชนควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการปราบปรามคอรัปชั่นในประเทศไทยให้หมดไป
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ