"จุฬา" โชว์แผนเคลื่อน "อีอีซี" ผนึกเอกชนดึงลงทุนเข้าไทย
"จุฬา สุขมานพ" กางแผนขับเคลื่อน "อีอีซี" สู่เป้าหมายปลายทางการลงทุน ท่องเที่ยว และอยู่อาศัย เร่งเครื่อง 3 เดือนแรกจัดกลุ่ม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เดินหน้าโรดโชว์นักลงทุน
“การร่วมงานกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นหนึ่งในงานที่ผมอยากทำมากที่สุด เพราะผมชอบการวางแผนโครงการ วางแผนเมือง เป็นงานที่ทำมาตั้งแต่รับราชการ และคิดไว้ว่าก่อนเกษียณอยากทำอะไรให้สำเร็จ เห็นเป็นรูปธรรม”
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวกับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ถึงความตั้งในการรับตำแหน่งใหม่
คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีมติให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกพอ.ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2566 โดยหลังรับตำแหน่งได้กำหนดแผนขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นรูปธรรม โดยช่วง 3 เดือนแรก จะจัดกลุ่ม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อง่ายต่อการเชิญชวนและจูงใจนักลงทุน อีกทั้งเพื่อให้ EEC จัดลำดับความสำคัญของการกระตุ้นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องต่อความต้องการของนักลงทุน
สกพอ.จำเป็นต้องโฟกัสการทำงานให้ชัดเจนว่าจะส่งเสริมการลงทุนให้มีทิศทางอย่างไร ดังนั้นช่วงแรกของการวางกลยุทธ์องค์กรต้องจัดบุคลากรตามความถนัดให้สอดคล้องอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมทั้งจัดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อดึงลงทุนกลุ่มที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะง่ายต่อการประชาสัมพันธ์และจูงใจการลงทุน
“จะใช้เวลาจัดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไม่นาน เพราะมีการทำข้อมูลอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดกลยุทธ์การนำเสนอข้อมูลเพื่อจูงใจการลงทุน”
ดังนั้นจึงกำหนดให้ปี 2566 เป็น 'ปีแห่งการเริ่มต้น' โรดโชว์ดึงการลงทุนแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น ซึ่ง สกพอ.ต้องเดินหน้าไปพร้อมภาคเอกชน และปีนี้จะได้เห็นชัดว่าพื้นที่ EEC มีใครจองการลงทุนและเริ่มเห็นการเจรจาดีลการลงทุน
สำหรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะจัดคลัสเตอร์ดึงการลงทุน ประกอบด้วย
1.ยานยนต์สมัยใหม่
2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
3.อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
4.การแปรรูปอาหาร
5.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
6.หุ่นยนต์
7.การบินและโลจิสติกส์
8.การแพทย์ครบวงจร
9.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
10.อุตสาหกรรมดิจิทัล
11.อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
12.อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา
แผนงานผนึกเอกชนโรดโชว์ต่างประเทศจะเป็นภารกิจสำคัญเพื่อดึงการลงทุนมา EEC
ขณะที่การโรดโชว์ดึงนักลงทุนจะเห็นเป็นรูปธรรมถึงการทำข้อตกลงเริ่มลงทุน โดย สกพอ.ต้องเดินหน้าไปพร้อมเอกชน ซึ่งจะหารือหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนโรดโชว์ต่างประเทศร่วมกัน โดยเวทีโรดโชว์จะเป็นช่องทางเจรจาธุรกิจให้นักธุรกิจไทยและต่างชาติ เพื่อให้เกิดข้อตกลงเริ่มลงทุนใน EEC
ทั้งนี้ จะประเมินประเทศเป้าหมายการโรดโชว์กลุ่มแรก โดยเชื่อว่านักธุรกิจโซนเอเชียมีพฤติกรรมกระจายการลงทุนในเอเชีย โดยเฉพาะไทยที่เป็นประตูการค้าเชื่อมอาเซียน หากมีการโรดโชว์ให้ข้อมูลถึงความพร้อมของ EEC เชื่อว่านักธุรกิจกลุ่มนี้จะสนใจ
แผนการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะจะต้องไม่จำกัดเฉพาะภาคอุตสาหกรรม
สำหรับแผนการพัฒนาเมืองใหม่นั้น ถึงเวลาต้องปรับภาพการลงทุนเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ซึ่งมีกรอบวงเงินลงทุน 1.35 ล้านล้านบาท โดยโจทย์แรกมีการรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (มาร์เกตซาวดิ้ง) เพื่อถามความสนใจการลงทุนและนำไปวางกรอบผังเมือง
“สกพอ.จะทำหน้าที่วางคอนเซ็ปต์พัฒนา ตรงไหนที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน เราก็ไม่ต้องไปออกแบบ เปิดกว้างให้เอกชนที่สนใจร่วมลงทุนนำไปดำเนินการดีไซน์ให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์”
อีกทั้งการพัฒนาเมืองใหม่ให้ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนต้องมีการพัฒนาที่นำไปด้วยภาคบริการ เพื่อทำให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองใหม่ใช้เวลาอยู่ในนานขึ้น เกิดการจับจ่ายใช้สอยได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงการทำงานในอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่ต้องครบครันไปด้วยการทำงาน การพักผ่อน และการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ
“ผมจะทำให้ EEC เป็นปลายทางของทุกคน ไม่ใช่ต้นทางของการลงทุน ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ทำให้เทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนหันมาใส่ใจสุขภาพ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และสนใจการค้าขายออนไลน์ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีต่างๆ ยังเติบโต ซึ่งชี้ให้เห็นว่าขณะนี้ไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยนไป ดังนั้นการลงทุนใน EEC ถึงเวลาต้องเปลี่ยนให้สอดรับเทรนด์ดังกล่าว”
ดังนั้นเป้าหมายการสร้างเมืองใหม่อัจฉริยะที่ตนวางไว้ คือ เน้นที่อุตสาหกรรมบริการเพื่อดึงคนเข้ามาพื้นที่มากขึ้น ไม่ใช่เพียงการดึงดูดนักลงทุนจากอุตสาหกรรม เพราะถ้าโฟกัสเฉพาะภาคการผลิต จะทำให้การต่อยอดให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่มีจำกัด แต่หากเทียบกับอุตสาหกรรมบริการ เช่น โรงแรม การศึกษา การท่องเที่ยว จะทำให้เกิดกิจกรรมใน EEC เพิ่มขึ้น
สำหรับการพัฒนาเมืองใหม่จะเห็นการจัดสรรพื้นที่ 3 จังหวัดใน EEC ชัดเจน เช่น จังหวัดฉะเชิงเทราหารือกับเอกชนกลุ่มพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าว่าสนใจการลงทุนนั้น หากเกิดการลงทุนจริงแล้ว แนวทางการพัฒนาต่อยอดพื้นที่ส่วนนี้อาจพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยานยนต์ไฟฟ้า และเชื่อมการเดินทางด้วยระบบขนส่งไปกลางเมือง EEC ที่อาจพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้าและการบริการต่างๆ
ปี 2566 จะเป็นปีของการตอกเสาเข็มการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์
ส่วนแผนพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ในปัจจุบันอยู่ช่วงเริ่มวางโครงสร้างสาธารณูปโภค ซึ่งอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนการลงทุนของเอกชนคาดว่าในปี 2566 จะเริ่มเห็นการตอกเสาเข็ม เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยเชื่อมั่นว่าจะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 2568
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ