อานิสงส์จีนเปิดประเทศ หนุนเศรษฐกิจชาติกำลังพัฒนาในเอเชีย
อานิสงส์จีนเปิดประเทศ หนุนเศรษฐกิจชาติกำลังพัฒนาในเอเชีย แม้ภาวะสงครามในยูเครน และความปั่นป่วนของภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรปยังคงสร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เอดีบี คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียโตเร็วขึ้นในปีนี้ พร้อมคาดเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.3% ส่วนเวิลด์แบงก์ ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก พร้อมยืนยันว่า ภาคธนาคารของภูมิภาคยังแกร่งแม้อุตฯธนาคารทั่วโลกมีปัญหา
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ระบุในรายงานวานนี้ (4 เม.ย.) ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร็วขึ้นในปีนี้ เพราะได้แรงหนุนจากการที่จีนเปิดประเทศหลังจากบังคับใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) อย่างเข้มงวดมานานหลายปี แต่ขณะเดียวกัน สงครามในยูเครน และภาวะปั่นป่วนของภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรปยังคงสร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
รายงานของเอดีบีที่มีชื่อว่า Asian Development Outlook 2023 คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียจะเติบโต 4.8% ทั้งในปีนี้และปีหน้า เพิ่มขึ้นจากการขยายตัว 4.2% ในปี 2565 โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในที่นี้หมายถึงสมาชิกระดับภูมิภาค 46 แห่งของเอดีบี ยกเว้นญี่ปุ่น
“กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียนั้นกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งด้วยพลวัตที่น่าประทับใจ” “อัลเบิร์ต พาร์ก” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี ระบุในรายงาน พร้อมกล่าวเสริมว่า “การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และบริการ ซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยว ขณะนี้กำลังฟื้นคืนสู่สภาพเดิม หลังจากที่โรคระบาดผ่านพ้นไปแล้วเป็นส่วนใหญ่”
ส่วนเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย มีแนวโน้มขยายตัว 5.0% ในปีนี้และ 4.5% ในปี 2567 โดยจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเวลานั้นเศรษฐกิจจีนชะลอการเติบโตสู่ 3.0% และฉุดเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคเอเชีย
เอดีบี ระบุว่า การที่จีนเปิดประเทศอีกครั้งนั้นช่วยให้ แนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกสดใสขึ้น ผ่านการค้า การท่องเที่ยว และผลกระทบเชิงบวกอื่น ๆ ที่ส่งต่อไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแห่งอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจประเทศสำคัญแห่งอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มชะลอการเติบโต ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินเฟ้อสูง และการคุมเข้มนโยบายการเงิน โดยเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียซึ่งเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% ในปี 2565 มีแนวโน้มลดลงแตะ 4.2% ในปีนี้ ก่อนลดลงอีก สู่ 3.3% ในปี 2567
อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของภูมิภาคเอเชีย มีแนวโน้มขยายตัว 6.4% ในปีนี้ และ 6.7% ในปีหน้า ขณะที่มีการประมาณการว่า เศรษฐกิจอินเดียขยายตัว 6.8% ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมี.ค.
ส่วนเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มขยายตัว 4.8% ในปีนี้ และ 5.0% ในปี 2567 หลังขยายตัว 5.3% ในปี 2565
เศรษฐกิจมาเลเซียมีแนวโน้มขยายตัว 4.7% ในปีนี้ และ 4.9% ในปีหน้า หลังขยายตัวเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ 8.7% ในปีที่แล้ว ส่วนเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัว 6.5% ในปีนี้ และ 6.8% ในปี 2567 หลังจากขยายตัว 8.0% ในปี 2565
ส่วนเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 3.3% ในปีนี้ และ 3.7% ในปีหน้า หลังจากที่ขยายตัว 2.6% ในปีที่ผ่านมา
ข่าวดีจากเอดีบี สอดคล้องกับธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)ที่เผยแพร่รายงานคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในเดือนเม.ย. โดยปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นขยายตัวประมาณ 5.1% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 4.6% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว พร้อมทั้งระบุว่า อุตสาหกรรมธนาคารของภูมิภาคยังคงมีความแข็งแกร่งแม้ว่าอุตสาหกรรมธนาคารทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรปจะมีปัญหาในขณะนี้
หันมามองเศรษฐกิจจีน ธนาคารโลกก็ปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีจีนตลอดทั้งปีในปีนี้จาก 4.5% เป็น 5.1%
“เราคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้น ทั้งในเรื่องของสุขภาพประชาชน การบังคับใช้กฏระเบียบและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหัพภาค พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าการบริโภคในจีนที่จะฟื้นตัวจะช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวขึ้นเป็น 2.6%จาก 2% ในปี 2565” รายงานเวิลด์แบงก์ระบุ
รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า แม้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังไม่เต็มที่แต่ก็มีนัยสำคัญ
ส่วนประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญหาความวุ่นวายในอุตสาหกรรมธนาคารทั้งในสหรัฐและในยุโรป เวิลด์แบงก์มองว่า ตอนนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทั้งการติดต่อโดยตรงและทางอ้อมกับบรรดาธนาคารที่มีปัญหาในสหรัฐและในยุโรป
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ