"หอการค้า" หวั่นไตรมาส3-4 เกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจ หากตั้งรัฐใหม่ล่าช้า

"หอกการค้า" หวั่นไตรมาส 3-4/66 เกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจ หากตั้งรัฐใหม่ล่าช้า
 
เมื่อวันที่ 11 เมษายน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนมีนาคม 2566 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 37 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา
 
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจเริ่มมีจุดปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือนเมษายน จากเงินหมุนเวียนของเทศกาลสงกรานต์และกิจกรรมรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ปัญหาที่มีความกังวลจะเกิดสุญญากาศในไตรมาส 3/2566
 
เนื่องจากยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลชัดเจน คาดว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จสิ้นได้ช่วงเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายน และรัฐบาลจะมีการเสนอนโยบายเข้าสภา รวมถึงมีการจัดทำเรื่องงบประมาณต่อไป ซึ่งผลลัพธ์ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะได้พรรคใดขึ้นมานั่งบริหารประเทศ
 
เช่น หากได้พรรคเพื่อไทย ที่ชูนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใช้งบฯเฉลี่ย 5 แสนล้านบาท การเกลี่ยงบฯใหม่ที่จะใช้ในระยะเวลา 6 เดือน อยู่ในปีงบประมาณ 2567 จะมีการเกลี่ยงบฯใหม่ หรือพรรคอื่นๆ ที่ชูนโยบายต่างๆ ที่อาจไม่ได้อยู่ในโครงสร้างงบฯ ปี 2567 ที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วจากการรับหลักการในครั้งแรก จึงต้องมีการเกลี่ยงบฯใหม่และอาจไม่เร็วมากพอ
 
ดังนั้น สุญญากาศทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นทันทีในช่วงไตรมาส 3 และต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ซึ่งสิ่งสำคัญคือการจัดตั้งรัฐใหม่ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดจะส่งผลต่อการเร่งจัดสรรงบฯ ในเรื่องการใช้งบฯปี 2566 ในโครงสร้างที่ปีงบฯ 2567 สามารถจัดทำได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยกำลังของภาครัฐในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566
 
“โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวถึง 3.5% ถึงเป็นไปไม่ได้โดยง่าย เพราะสุญญากาศทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอาจทำให้การลงทุนต่างๆ ไม่โดดเด่นมาก เพราะยังไม่รู้ว่าพรรคใดจะได้จัดตั้งรัฐ และนโยบายเป็นรูปแบบใด”นายธนวรรธน์ กล่าว
 
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยบวกภาครัฐมีการดำเนินงานกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการเที่ยวด้วยกันเฟส 5 การเลือกตั้ง ภาคการท่องเที่ยวฟื้นขึ้น ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เกิดบรรยากาศคึกคัก
 
โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (CCI) จากการสำรวจตัวอย่าง 2,241 ตัวอย่าง กระจายตัวทั่วประเทศ พบว่ามีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 53.8 จากระดับ 52.6 ความเชื่อมั่นในปัจจุบัน อยู่ที่ 38.0 จากระดับ 37.0 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 61.4 จากระดับ 60.2 เทียบเดือนกุมภาพันธ์
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยเดือนมีนาคม 2566 จำนวนตัวอย่าง 369 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าดัชนีปรับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม อยู่ที่ 50.5 จากระดับ 49.7 ดัชนีความเชื่อมั่นปัจจุบัน อยู่ที่ 49.9 จากระดับ 49.4 ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต อยู่ที่ 51.1 จากระดับ 50.1
 
ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 48.0 50.9 และ 62.5 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ที่อยู่ระดับ 46.8 49.9 และ 61.2 ตามลำดับ
 
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่ายังมีปัจจัยลบ เนื่องจากผู้บริโภคกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด สถานการณ์การเงินโลก และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยประเทศต่างๆ เพิ่มแรงกดดันเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกหดตัวลงและมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
 
 
ที่มา : มติชน
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)