"อาคม" หนุนสกุลเงินท้องถิ่น ดันเงินบาท ลดพึ่งพาดอลลาร์ทำธุรกรรมในอาเซียน

"อาคม" เผย ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุม รมว.คลัง และผู้ว่าการธนาคารอาเซียน ก่อนส่งให้ กกต.พิจารณาตามขั้นตอน เน้นการให้ความสำคัญสกุลเงินท้องถิ่น ส่งเสริมบทบาทการใช้เงินบาทในภูมิภาค ระบุโครงการนำร่องได้ผลดีหวังชาติในอาเซียนทำธุรกรรมทางการเงินสะดวกขึ้น
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 9 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 27 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดประชุมไปเมื่อวันที่  29 – 31 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาที่เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
 
โดยการนำเข้าขอความเห็นชอบจาก ครม.ในครั้งนี้เป็นไปตามขั้นตอนการรับรองแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมหลังจากที่ชาติสมาชิกเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมกัน และเนื่องจากมีการยุบสภาฯและเป็นรัฐบาลรักษาการจะต้องส่งเรื่องที่ ครม.เห็นชอบแล้วส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาด้วย
 
 
ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์ฉบับนี้ครอบคลุมเรื่องสำคัญหลายเรื่อง รวมทั้งการส่งเสริมสกุลเงินท้องถิ่นให้มีการใช้แพร่หลายมากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในขณะนี้เงินบาทของเราก็มีบทบาทมากขึ้นในการใช้ซื้อขายสินค้าบริเวณชายแดนซึ่งก็อยากจะผลักดันให้มีการใช้เงินบาทในการทำธุรกรรมกับประเทศต่างๆในภูมิภาคมากขึ้น
 
โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการทดลองการใช้สกุลเงินท้องถิ่นร่วมกับบางประเทศเช่น สิงคโปร์ ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีโครงการทีทำร่วมกับอินโดนิเซีย และเวียดนามซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นและควรมีการส่งเสริมเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อทำให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศต่างๆในอาเซียนมีความสะดวกมากขึ้น 
 
ปัดตอบนโยบายใช้เงินดิจิทัล
 
เมื่อสอบถามถึงนโยบายเรื่องการใช้เงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย นายอาคมกล่าวว่าไม่รู้เหมือนกัน เรื่องให้ไปถามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 
 
 
“เรื่องนี้ไม่รู้ต้องไปถามผู้ว่าแบงก์ชาติดู” นายอาคมกล่าว 
 
 
เมื่อถามย้ำว่าเรื่องนี้ ธปท.เคยออกเกณฑ์ห้ามใช้เงินดิจิทัลซื้อขายสินค้าใช่หรือไม่ นายอาคมตอบย้ำว่าเรื่องนี้ก็ต้องไปถามผู้ว่าแบงก์ชาติดู
 
 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)