3 ปัจจัยแรงส่งเศรษฐกิจไทย ช่วงรอรัฐบาลใหม่

"เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.6% ลดลงจากประมาณการณ์เดิมที่ 3.7% และปี 2567 ขยายตัวที่ 3.8% ปรับลดลงจาก 3.9%"
 
คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยข้างต้นนี้มาจาก “สักกะภพ พันธ์ยานุกูล” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
 
นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า ภาคการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวปี 2566 เข้าไทย 28 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ 22 ล้านคนและปี 2567 ที่ 35 ล้านคน จากเดิมอยู่ที่ 31.5 ล้านคน
 
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นระดับ 4% จากเดิม 3.4% จะเป็นแรงส่งสำคัญต่อเนื่อง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลที่ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
 
ที่ต้องจับตาคือ ภาคการส่งออก คาดการณ์ปี 2566 มูลค่าการส่งออกจะติดลบ 7% จากเดิมประเมินที่ 1% และมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 1.2% จากเดิม 0.4%
 
แต่คาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2566 และเป็นรอยต่อในปี 2567 ที่คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะอยู่ที่ 4.3% จากเดิมประเมินที่ 2.6% และมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 4.2% จากเดิม 3.3% สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
 
“เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้จากจำนวนและค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมามากและเร็วกว่าคาดแต่ต้องติดตามความเสี่ยงด้านต่ำจากเศรษฐกิจการเงินโลกที่ไม่แน่นอนสูงแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องและภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นจากสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักซึ่งมีนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินและเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป” ผู้บริหารแบงก์ชาติระบุ
 
ข้อมูลดังกล่าวสอดรับกับรายงานนโยบายการเงินไตรมาส 1 ของแบงก์ชาติ!!
 
โดยพยากรณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัว 2.5% และ 2.9% ในปี 2566 และ 2567 โดยเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปมีแนวโน้มดีขึ้นจากแรงส่งของภาคบริการขณะที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวดีหลังการยกเลิกมาตรการควบคุมโรคส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวทั้งในภาคการผลิตกับภาคบริการ
 
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้นและการเปิดประเทศของจีนจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชียด้วย
 
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนจากแนวโน้มเงินเฟ้อโลกที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นจากสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะมีนัยต่อการดำนโยบายการเงินและเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป
 
ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัว 3.6% และ 3.8% ในปี 2566 และ ปี 2567
 
สาเหตุหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่องเช่นกัน และการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
 
ที่ต้องจับตาคืออัตราเงินเฟ้อโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 2.9% และ 2.4% ในปี 2566 และ2567โดยแรงกดดันด้านอุปทานจะทยอยลดลง
 
ตามแนวโน้มค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ
 
ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง อยู่ที่ 2.4% และ 2.0% ในปี 2566 และ 2567
 
อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ประมาณการเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูง จากการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้นจากการเผชิญภาวะต้นทุนสูงอย่างต่อเนื่องและมีต้นทุนบางส่วนที่ยังไม่ได้ส่งผ่านในช่วงก่อนหน้า และแรงกดดันด้านอุปสงค์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวมากกว่าคาด จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
 
โดยภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย ตึงตัวขึ้นบ้างตามทิศทางนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ หลังผู้ร่วมตลาดคาดว่าปัญหาสถาบันการเงินอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ต้องชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
 
ทั้งนี้ ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชน สะท้อนจากปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยยังขยายตัว และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
 
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐเฉลี่ยแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยปรับแข็งค่าในช่วงต้นไตรมาสจากการเปิดประเทศของจีนที่ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ก่อนเคลื่อนไหว
 
ผันผวนตามคาดการณ์นโยบายการเงินของสหรัฐ
 
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินและภาคธุรกิจของไทยมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินและสินทรัพย์เสี่ยงที่มีปัญหาจำกัด รวมถึงธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนที่เข้มแข็ง
 
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง จึงยังต้องติดตามพัฒนาการและผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยอย่างใกล้ชิด
 
ด้านความสามารถในการชาระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น
 
ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงควรผลักดันให้ครอบคลุมกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างตรงจุดและยั่งยืน
 
ด้าน “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า เศรษฐกิจไทยเวลานี้ต้องจับตาภาคการส่งออก คาดว่าไตรมาส 1 จะติดลบ 10% และไตรมาส 2 จะติดลบ 4-5% แต่น่าจะพลิกกลับมาฟื้นในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-3.5%
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย คือ ภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นเครื่องยนต์ที่กระจายรายได้ ช่วยเพิ่มการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวและบริการทุกภาค แต่ก็มีปัญหาหลายส่วนที่ควรเร่งแก้ไขเพื่อให้ท่องเที่ยวเป็นกลไกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้เร็วที่สุด
 
ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะฟอร์มทีมได้ประมาณเดือนสิงหาคม เร่งแก้คือ การกระตุ้นท่องเที่ยวในเมืองรอง และโรงงานระดับ 3 ดาวลงไป จนถึงกลุ่มเอสเอ็มอี เพราะนักท่องเที่ยวยังไปไม่ถึง ไม่เข้าพัก ยังเน้นเมืองใหม่ และโรงงานระดับ 4 และ 5 ดาว
 
นอกจากนี้ อยากให้เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ในภาคท่องเที่ยวที่สูงถึง 30% หรือคิดเป็นจำนวนหลักแสนคน หากขาดแรงงานธุรกิจก็ขับเคลื่อนลำบาก ควรคิดมาตรการดึงแรงงานเข้าระบบ หลังผลกระทบโควิด-19 จนแรงงานกลุ่มนี้กระจายไปภาคอื่นแทน
ปัญหาต่อมาที่อยากให้รัฐบาลใหม่แก้ คือ ต้นทุนเอกชน โดยเฉพาะค่าไฟของไทยที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เรื่องนี้กระทบมาก อยากให้ปรับโครงสร้างทั้งระบบ
 
นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลใหม่ดูแลเอสเอ็มอีไทยด้วยการออกมาตรการดูแลทุนจีน โดยเฉพาะกลุ่มค้าส่งค้าปลีกที่เข้าลงทุนไทยมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวสินค้าจีนที่ผลิตจำนวนมากขายไม่ได้ มีโอกาสทะลักเข้าไทยแทน เอสเอ็มอีไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหนักแน่นอน
 
เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแค่ไหน และรัฐบาลใหม่จะหน้าตาอย่างไร …อีกไม่นานก็รู้!!
 
 
ที่มา : มติชน
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)