เจ้าสัวไทยลุยขุมทรัพย์เวียดนาม เซ็นทรัลโหมค้าปลีก ไทยเบฟ ซีพี ขยายกิจการ
กลุ่มทุนเจ้าสัวไทยชิงขุมทรัพย์เวียดนามปักหมุดบ้านหลังที่สอง "เซ็นทรัล" บุกหนักค้าปลีกระดมทุกธุรกิจในไทยสร้างน่านน้ำใหม่ เจรจาบิ๊กดีลแสนล้านห้างเบอร์ 1 “วินคอม รีเทล” “เจ้าสัวเจริญ” ชู “บีเจซี” หัวหอกซินเนอร์ยีกิจการในเครือ เร่ง “บีสมาร์ท-เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต"
ตลาดค้าปลีกเวียดนามกำลังพลิกโฉมหน้าจากค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) สู่ค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ไม่ต่างจากประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อนหน้า วิวัฒนาการของธุรกิจนับเป็นขุมทรัพย์มหาศาลจากกำลังซื้อที่กำลังเติบโต ชนชั้นกลางที่ขยายตัวและเป็นสัดส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยและเป็นที่ต้องการของสินค้าและบริการ ในห้วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทุนค้าปลีกไทยและยักษ์ค้าปลีกจากทั่วโลกทยอยเข้าปักหมุดสร้างฐานธุรกิจในฐานะน่านน้ำใหม่ และเป็นนิวเอสเคิร์ฟ (New S-Curve) แห่งอนาคต
โดยเฉพาะผู้นำค้าปลีกของไทย “กลุ่มเซ็นทรัล” เข้ายึดหัวหาดเวียดนาม ที่เศรษฐกิจเติบโตสูงสุดในภูมิภาค มีฐานะเป็นบ้านหลังที่สองของเซ็นทรัล มากว่า 10 ปี รั้งตำแหน่งผู้นำค้าปลีกต่างชาติรายใหญ่สุดในเวลานี้ พร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งระดมทัพค้าปลีกจากเมืองไทยขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดมีกระแสข่าวบิ๊กดีลระดับแสนล้านระหว่าง เซ็นทรัล ที่สนใจเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้ารายใหญ่สุดในเวียดนาม วินคอม รีเทล (Vincom Retail)
รายงานข่าว ระบุว่า วินคอม รีเทล เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า 83 แห่ง เป็นส่วนหนึ่งของ วินกรุ๊ป (Vingroup) บิ๊กคอร์ปแห่งเวียดนาม กำลังพิจารณาขายหุ้นในวินคอม รีเทล ที่ถือครองอยู่เกือบ 60% ซึ่งเปิดกว้างกลุ่มนักลงทุนต่างๆ รวมทั้ง “กลุ่มเซ็นทรัล”
ปัจจุบัน วินคอม รีเทล มีมูลค่าตลาด 2,800 ล้านดอลลาร์ หรือราว 96,000 ล้านบาท หากบรรลุข้อตกลงขายหุ้นส่วนใหญ่ในวินคอม รีเทล จะเป็นการทำธุรกรรมควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (Merger &Acquisition) ที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเวียดนามในรอบหลายปี อย่างไรก็ดี กลุ่มเซ็นทรัลปฎิเสธยังไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับดีลดังกล่าวในขณะนี้
นักวิเคราะห์ในธุรกิจค้าปลีก กล่าวว่า เวียดนามถือเป็นตลาดหลักสำคัญของเซ็นทรัลที่มีการลงทุนใหญ่ต่อเนื่องสู่โอกาสแห่งอนาคตที่เวียดนามยังมีศักยภาพไปได้อีกไกลไม่ต่างจากเมืองไทยเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งยุทธศาสตร์ของเซ็นทรัลมีความชัดเจนในการซื้อกิจการระดับผู้นำตลาดเพื่อสามารถต่อยอด เคลื่่อนธุรกิจได้เปี่ยมประสิทธิภาพในทันที
รวมทั้งการผนึกความร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นทั้งร่วมทุน หรือการเข้าซื้อกิจการา ทำให้เซ็นทรัลสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่ง “เวียดนาม” นับเป็นตลาดที่กำลังพัฒนา การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังค่อนข้างติดขัด หรือมีอุปสรรคหลายด้าน ดังนั้นการขยายธุรกิจค้าปลีกซึ่งต้องใช้ “พื้นที่” และ “ทำเล” เป็นหัวใจสำคัญนั้น จำเป็นต้องมีพันธมิตรที่เปี่ยมประสิทธิภาพ มีเครือข่ายหรือพลังแห่งซัพพลายเชน ซึ่งจะเป็นแต้มต่อที่สำคัญเหนือคู่แข่ง
“หากเซ็นทรัล ปิดดีล วินคอม รีเทล ได้ จะเป็นพลังสนับสนุนการขยายอาณาจักรเซ็นทรัลได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกิจการหลักทั้งห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า”
5 ปีลงทุน5หมื่นล้านดันยอด1.5แสนล้าน
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC กล่าวว่า เวียดนามเป็น “บ้านหลังที่สอง” ของเซ็นทรัล รีเทล ด้วยศักยภาพประชากรกว่า 97 ล้านคน มากกว่าไทยเกือบเท่าตัว มีคนวัยหนุ่มสาวจำนวนมากนับเป็นฐานหลักของกำลังซื้อซึ่งมีสัดส่วนสูงเทียบไทยที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัย อัตราการเกิดต่ำ
ประการสำคัญค้าปลีกแบบโมเดิร์นเทรดอยู่ในอัตราต่ำกว่า 15% สามารถขยายตลาดสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้อีกมากใน10-15 ปีข้างหน้า ธุรกิจค้าปลีกจะถูกพัฒนามากขึ้นจากความเป็นเมือง (Urbanization) ผู้คนมองหาการใช้ชีวิต ประสบการณ์ สินค้าและบริการใหม่ๆ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตมากขึ้น แลนด์สเคปค้าปลีกกำลังจะพลิกโฉมหน้าครั้งใหญ่เป็นโอกาสสำคัญของภาคธุรกิจค้าปลีก
โดยวางโรดแมปการขยายธุรกิจในเวียดนาม 5 ปีจากนี้ เตรียมงบลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท ขยายเครือข่ายธุรกิจภายใต้เป้าหมายสร้างยอดขายนิวไฮทะลุ 1.5 แสนล้านภายในปี 2570 ซึ่งงบดังกล่าวไม่รวมงบพิเศษสำหรับการซื้อกิจการ และเฉพาะปี 2566 นี้ ใช้งบกว่า 6,000 ล้านบาท ขยายสาขาใหม่และปรับปรุงธุรกิจ
ปัจจุบัน ค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัลในเวียดนามมีร้านค้ากว่า 340แห่ง พื้นที่รวม 1.2 ล้านตร.ม. ใน 40 จังหวัด คิดเป็น 85% ของจีดีพีเวียดนาม ใน 5 ปีข้างหน้าจะดับเบิ้ลร้านค้าเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 600แห่ง
ผงาดผู้นำค้าปลีกต่างชาติใหญ่สุดในเวียดนาม
ย้อนรอยการเข้าลงทุนในปี 2555 ของเซ็นทรัลในตลาดเวียดนามลงทุนไปแล้วกว่า 15,000 ล้านบาท ไม่นับรวมงบซื้อกิจการสร้างอาณาจักรค้าปลีกจากเมืองไทยก้าวขึ้นทำเนียบผู้นำค้าปลีกต่างชาติรายใหญ่สุดในเวียดนาม ในฐานะเบอร์ 1 ไฮเปอร์มาร์เก็ตและเบอร์ 2ศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ ในปี 2565 ยอดขายในเวียดนามครองสัดส่วนรายได้ 25% ของยอดขายรวมเซ็นทรัล รีเทล
“เซ็นทรัล รีเทล มีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแรงทั้งในโฮจิมินห์ ฮานอย เรามีคอนเทนต์ที่เคลียร์ และเป็นผู้นำที่ไม่มีใครตีแตกได้! จากนี้ คือ การมุ่งสู่เป้าหมายเบอร์ 1 ด้านออมนิแชนแนลในกลุ่มฟู้ด และอันดับ 2 ในกลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ของเวียดนาม"
กลุ่มเซ็นทรัล มีฐานบัญชาการใหญ่ในโฮจิมินห์ เมืองเศรษฐกิจการค้าการลงทุนใหญ่สุดของเวียดนาม พร้อมกระจายทัพค้าปลีกสู่ “ฮานอย” และจังหวัดต่างๆ ทั้งเทียร์ 1, 2, 3 และ 4 โดยใช้ความได้เปรียบของโมเดลหรือแพลตฟอร์มหลากหลายในพอร์ต การพัฒนารูปแบบร้านใหม่ๆ ให้สอดรับพฤติกรรมการบริโภคของชาวเวียดนาม ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรค้าปลีกท้องถิ่น เหงียนคิม (Nguyen Kim) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดในเวียดนามและ ลานชี มาร์ท (Lan Chi)
ปัจจุบัน ตลาดค้าปลีกเวียดนามมูลค่า 49.7 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.69 ล้านล้านบาท “โมเดิร์นเทรด” มีสัดส่วนอยู่เพียง 11% ประมาณ 5.7 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.94 แสนล้านบาท จึงเป็นโอกาสมหาศาลในอนาคต
สำหรับทัพค้าปลีกของเซ็นทรัลนำโดย “กลุ่มฟู้ด”ที่มีเรือธง GO! ไฮเปอร์มาร์เก็ต 38 สาขา ท็อปส์ มาร์เก็ต 10 สาขา Mini go! ซูเปอร์มาร์เก็ต 3 สาขา และลานชี มาร์ท 24 สาขา “กลุ่มพร็อพเพอร์ตี้” สร้างแลนด์มาร์กศูนย์การค้า GO! รวม 39 สาขา และ“กลุ่มนอนฟู้ด”ได้แก่ เหงียนคิม ซูเปอร์สปอร์ต คุโบ และโรบินส์
บ้านหลังที่สองทีซีซีกรุ๊ป
อาณาจักรไทยเจริญคอร์ปอเรชั่นหรือทีซีซี กรุ๊ป ของ “เจ้าสัวเจริญ” และตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ในเวียดนาม มีความสำคัญเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองต่อจากไทย เป็นหนึ่งในประเทศเชิงยุทธศาสตร์การค้าที่มีกิจการ “ครบวงจร” ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ
นานนับทศวรรษ ที่ “ทีซีซี กรุ๊ป” ปักหมุดขยายการลงทุนในประเทศเวียดนาม โดย 2 เสาหลักที่สำคัญ คือกลุ่มอุตสาหกรรมการค้า ผ่านบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี และกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มอย่างบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ใช้ทางลัดด้วยการซื้อและควบรวมกิจการหรือ M&A เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด
สำหรับบีเจซี เข้าไปบุกเบิกธุรกิจในเวียดนามมายาวนาน เพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคกรุยทางตลาดหรือ Market Infrastructure เริ่มจากสร้างกระดูกสันหลังเสริมใยเหล็กหรือระบบการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า ย้อนยุคนั้นบริษัทมีการใช้เงินร่วม “พันล้านบาท” ลงทุนซื้อหุ้น หรือซื้อกิจการ ไทอัน กรุ๊ป ไทยคอร์ปฯ ตลอดจนภูไท กรุ๊ป ที่ต่างแกร่งในการกระจายสินค้าพื้นที่เวียดนามเหนือจรดใต้ และยังได้กิจการค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ บี สมาร์ท (B’s Mart) ปัจจุบันมีสาขาราว 78 แห่ง
การซื้อกิจการไทยคอร์ป ยังได้กิจการผลิตเต้าหู้เพียง “รายแรกและรายเดียว” ในเวียดนามมาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอ มีโรงงานผลิตสินค้าจำเป็น บริษัทยังทุ่มเงิน 1,500 ล้านบาท ผนึกพันธมิตรระดับโลก โอเว่น อิลลินอยส์ (โอ-ไอ) และไซ่ง่อนเบียร์แอลกอฮอล์เบฟเวอเรจ (ซาเบโก) เปิดโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วที่ใหญ่สุดในเวียดนาม
ทว่า จุดเปลี่ยนที่เป็นการเติมเต็ม “จิ๊กซอว์” ความครบวงจรของเครือข่ายการค้าคือการทุ่มเงินระดับหมื่นล้านบาท ซื้อกิจการห้างค้าปลีก “เมโทร แคชแอนด์แครี่ เวียดนาม” จากกลุ่มเมโทร กรุ๊ป ซึ่งปัจจุบันคือ “เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต” ทำให้บีเจซี มี “หน้าร้าน” เพื่อจำหน่ายสินค้าหลากหลายรูปแบบ ทั้งร้านสะดวกซื้อ โมเดิร์นเทรด ห้างค้าปลีกแบบชำะเงินสด เป็นต้น
ค้าปลีกในเวียดนามเร่งโต
แผนรุกของบีเจซี ในเวียดนาม “ค้าปลีก” ยังเป็นหนึ่งในหมากรบสำคัญ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เคยกล่าวในงาน “Entering into The Next Phase of Growth” ถึงภารกิจขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตก้าวกระโดด และเป็นบริษัทระดับภูมิภาค จะเน้นตลาดที่ใช้เวลาบินไปดูงาน 1-2 ชั่วโมง สนามการค้าจึงเป็น “คาบสมุทรอินโดจีนตอนใต้ถึงมาเลเซีย”
นอกจากนี้ ธุรกิจที่จะขยายมุ่งสู่การทำความรู้จักและเข้าใจลูกค้ามากขึ้น จากอดีตร้อยปีเป็นผู้ผลิตต้นน้ำ จากนี้คือการลุยปลายน้ำอย่าง “ค้าปลีก” ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไป (Traditional Trade) ครอบคลุม 236,000 แห่งในภูมิภาคอาเซียน
และตามแผน 5 ปี เงินลงทุน 60,000 ล้านบาท สัดส่วน 70% จะเทน้ำหนักให้ค้าปลีกด้วย และหากดูเวียดนาม ค้าปลีกของบริษัทประกอบด้วย เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต 25 สาขา ตามแผนดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 113 สาขา
“การค้าขายในประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ยังผ่านร้านค้าดั้งเดิม ในไทยมี 400,000 ร้านค้า เราครอบคลุมช่องทางจำหน่ายเพียง 100,000 ร้าน ส่วนเวียดนามมี 800,000 ร้านค้า เราครอบคลุมเพียง 200,000 ร้านเท่านั้น ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก”
ซีพีชิมลางแม็คโครฟู้ดเซอร์วิส-ไก่ย่าง 5 ดาว
สำหรับยักษ์ใหญ่ซีพี ได้มีการลงทุนธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในเวียดนาม ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงการแปรรูปเนื้อสัตว์และอาหารสำเร็จรูป รวมทั้งธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารอย่างครบวงจร
สำหรับกลุ่มธุรกิจร้านอาหารมีแบรนด์ “ไก่ย่าง5ดาว” ซึ่งเปิดสาขาในเวียดนามตั้งแต่ปี 2553 ในรูปแบบลงทุนเอง และแฟรนไชส์ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ปัจจุบันมีจุดขายกว่า 700 จุดขาย ขณะเดียวกันกลุ่ม ซี.พี.เวียดนาม มีการขยายธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มอาหารอย่างร้าน CPFoodsHouse และ CP Porkshop ที่ร้านจัดจำหน่ายสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์ซีพี และผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อหมู
นอกจากนี้ ภายใต้ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ที่มีธุรกิจค้าส่ง “แม็คโคร” และค้าปลีก “โลตัส” ได้มีการขยายธุรกิจ แม็คโคร ฟู้ด เซอร์วิส ในเวียดนาม มากว่า 11 ปี ลงทุนผ่าน บริษัท วีนาสยาม ฟู้ด จำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท “Indoguna Vina Food Service Company Limited” เพื่อดำเนินธุรกิจ นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าพร้อมบริการ จัดส่งประเภทอาหารสดและอาหารแช่แข็งคุณภาพดีจากประเทศไทยและต่างประเทศ มีกลุ่มเป้าหมายคือ ธุรกิจบริการด้านอาหาร และธุรกิจโรงแรมในประเทศเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ “โลตัส” ยังคงเน้นเปิดสาขาในไทยและมาเลเซีย เช่นเดียวกับร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” เวลานี้ได้รับสิทธิ์ไลเซ่นส์ขยายสาขาใน กัมพูชา และลาว เท่านั้น
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ