กรมเจรจาฯ กางแผนปี 63 เร่งเจรจา FTA สร้างโอกาสให้สินค้าและบริการของไทย พร้อมลงพื้นที่ทั่วประเทศ กระตุ้นให้ใช้ประโยชน์จาก FTA
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางแผนปี 2563 เน้นขยายโอกาสการค้าการลงทุนไทยผ่าน FTA ดันลงนาม RCEP เร่งเจรจาปิดดีล FTA คงค้าง เปิดการเจรจากรอบใหม่ๆ และยกระดับ FTA ที่มีอยู่ คู่ขนานกับการเสริมสร้างความรู้การใช้ประโยชน์จาก FTA ผ่านการลงพื้นที่จัดสัมมนาร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมหนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่อวดศักยภาพ จัดประกวดแผนธุรกิจลุยส่งออกตลาดต่างประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยแผนการทำงานปี 2563 ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่ให้กรมฯ เร่งทำงานเชิงรุกผ่านการเจรจา FTA ทั้งเร่งสรุปการเจรจาค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และเข้าร่วมการเจรจากรอบใหม่ๆ เพื่อเปิดตลาด ลดอุปสรรคทางการค้าให้กับสินค้าและบริการของไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกของไทยขยายตัว มีแต้มต่อในการแข่งขันเมื่อเทียบกับสินค้าและบริการจากประเทศที่ไม่มี FTA รวมทั้งนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล) ที่ให้เร่งลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการในจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ชี้โอกาสขยายตลาดและเพิ่มช่องทางการค้าด้วย FTA ทั้งนี้ ในปี 2563 กรมฯ ได้กำหนดแผนงานสำคัญออกเป็น 2 ด้าน ดังนี้
ด้านแรก
การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย ประกอบด้วย
(1) เร่งทำงานร่วมกับสมาชิก RCEP อีก 15 ประเทศ เพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายความตกลง RCEP และหาข้อสรุปประเด็นคงค้างของอินเดียให้เป็นที่พอใจร่วมกัน ให้เสร็จภายในครึ่งแรกของปี 2563 เพื่อให้รัฐมนตรี RCEP ลงนามความตกลงร่วมกันได้ในปีดังกล่าว ตามที่ผู้นำ RCEP ตั้งเป้าไว้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา
(2) เร่งเจรจาปิดรอบความตกลง FTA ที่ค้างอยู่ ทั้งไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน โดยเฉพาะไทย-ตุรกี ที่ทั้งสองฝ่ายตั้งใจสรุปผลการเจรจาให้ได้ในปี 2563
(3) เตรียมการเข้าร่วมการเจรจา FTA กรอบใหม่ๆ เนื่องจากหลังจากการเลือกตั้งของไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มีประเทศคู่ค้าหลายประเทศแสดงความสนใจจะทำ FTA กับไทย ซึ่งไทยเล็งเห็นประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทยไปตลาดใหม่ๆ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านการลงทุนของต่างประเทศ โดยกรมฯ จะต้องทำการศึกษา ระดมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจ เช่น FTA ไทย-สหภาพยุโรป ไทย-สหราชอาณาจักร (ภายหลังเบร็กซิท) CPTPP ไทย-EFTA (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ลิกเทนสไตน์ และไอซ์แลนด์) ไทย-EAEU (รัสเซีย เบลารุส คีร์กีซสถาน คาซัคสถาน และอาร์เมเนีย) เป็นต้น
(4) ยกระดับหรือทบทวนปรับปรุงความตกลง FTA ที่ไทยทำแล้วกับหลายประเทศในปัจจุบัน เพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติม หรือผนวกเพิ่มข้อบทใหม่ๆ ในความตกลง เพื่อให้เท่าทันสภาพแวดล้อมและรูปแบบทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เป็นต้น และ
(5) เข้าร่วมหรือเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการการค้า (JTC) กับประเทศคู่ค้า เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือและเจรจาลดปัญหาอุปสรรคทางการค้าของไทย เช่น สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม สิงคโปร์ รัสเซีย บังคลาเทศ มัลดีฟส์ และโมซัมบิก เป็นต้น
ด้านที่ 2
การเสริมสร้างความรู้และความพร้อมรองรับการใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA กรมฯ จะสานต่อการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นต้น อย่างต่อเนื่อง โดยการจัดสัมมนาเผยแพร่และสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง FTA ตลอดจนลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจ และสร้างความตื่นตัวในการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ซึ่งในปี 2563 กรมฯ มีแผนการทำงาน ดังนี้
(1) ลงพื้นที่จัดสัมมนาและพบปะเกษตรกรในเครือข่ายของสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทยในยุคการค้าเสรี โดยเฉพาะในสินค้าที่พื้นที่มีศักยภาพ โดยดำเนินการใน 6 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครสวรรค์ สงขลา ระยอง และอุตรดิตถ์
(2) ลงพื้นที่จัดสัมมนาและพบปะกลุ่มสหกรณ์ในเครือข่ายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมสหกรณ์ไทยสู่การค้าเสรีใน 4 จังหวัด ได้แก่ ตาก ชัยภูมิ ตราด และกระบี่
(3) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงสินค้าศักยภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้สู่ตลาดโลก โดยจะดำเนินการที่จังหวัดปัตตานี และยะลา
(4) โครงการจัดทัพโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมไทยรับมือการเปิดเสรี และ
(5) การประกวดแผนธุรกิจของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผ่านการอบรมให้ความรู้ในการทำแผนธุรกิจ เพื่อส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยไปตลาดอาเซียน และจีน
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยในปี 2561 การค้าไทยกับ 18 ประเทศ มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 11 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก
สำหรับช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม – ตุลาคม) การค้าไทยกับ 18 ประเทศ FTA มีมูลค่า 253,898.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.4 ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออก 128,271.2 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 125,626.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562
ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์