อิมแพ็ค ชู "ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น" ลดใช้พลังงานพื้นที่จัดแสดงถึง 7%
เมื่อวันที่ 27 เมษายน นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 (เมษายน 2566-มีนาคม 2567) เป็นการก้าวสู่ปีที่ 25 ของอิมแพ็คว่า จะมุ่งเน้นการทำงานรูปแบบใหม่ Digital Transformation หรือการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ โดยใช้ดิจิทัลมาเป็นหัวใจการดำเนินงานของทุกภาคส่วนให้เชื่อมต่อเข้าถึงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำงาน (Working process) การสื่อสารระหว่างกัน (Communication) และข้อมูลที่ทันเวลา (Real time data) พร้อมวางกรอบนโยบายมุ่งสู่องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างคุณค่าครอบคลุมทุกด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล, การให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน, การสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน, การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน, การตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ควบคู่กับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, การเติบโตอย่างสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การเคารพความหลากหลาย ให้ความเท่าเทียมปราศจากการเลือกปฏิบัติ ปกป้องสิทธิมนุษยชน
นอกจากนั้น ยังคงต้องเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรและรักษาการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาความพร้อมของพนักงาน สนับสนุนคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการใช้ดิจิทัล รวมถึงให้ความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรคู่ค้า
สำหรับ “อิมแพ็ค” ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจไมซ์ (MICE) ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นปฏิบัติตามแนวทางมาตรฐานการจัดงานอย่างยั่งยืน (TSEMS) โดยส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐาน TSEMS ทุกฝ่ายในบริษัทจะมีตัวแทนพนักงานเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน นำเสนอโครงการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในด้านต่างๆ ดำเนินงานควบคู่ไปกับนโยบายของทาง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ที่มีการจัดอบรมคอยให้คำแนะนำ มาเยี่ยมชมโครงการทุกปี และจะตรวจประเมินรับรองมาตรฐานในทุก 3 ปี
การวางแผนดำเนินงานส่งเสริมองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้กำหนดโครงการหลักครอบคลุมในทุกด้านทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการพลังงานสะอาด, โครงการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง, โครงการลดการใช้พลาสติก, โครงการจัดการน้ำเสียภายในพื้นที่เมืองทองธานี, โครงการเปิดพื้นที่ให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า, โครงการจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste), โครงการอิมแพ็ค ฟาร์ม, โครงการสนับสนุนการจ้างงานคนในชุมชน นักเรียน นักศึกษา, โครงการกล้า MICE, โครงการอิมแพ็ค ปันน้ำใจมอบรักสู่สังคม, โครงการสุนัขชุมชนเมืองทองธานี, โครงการจักรยานสายตรวจชุมชนเมืองทองธานี, โครงการ Hotel Sustainable ของโรงแรมในเครืออิมแพ็ค (โนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค และ ไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค) เป็นต้น
“ในปี 2565 ที่ผ่านมา แต่ละโครงการได้ดำเนินงานตามแผนและสรุปผลสำเร็จรายงานต่อทีมบริหาร ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจในหลายโครงการสนับสนุนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และยังมีผลทางเศรษฐกิจด้วย ยกตัวอย่าง นโยบายความมั่นคงทางพลังงาน โครงการพลังงานสะอาด โครงการลดการลดใช้พลังงาน อิมแพ็คได้ดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์รูปแบบ Solar Rooftop เปลี่ยนพลังงานธรรมชาติอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ให้มาอยู่ในรูปของพลังงานไฟฟ้า ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งลดปัญหาก๊าซเรือกระจก ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ถือเป็นทางเลือกพลังงานสะอาดและมีความยั่งยืน” นายพอลล์ระบุ
โครงการโซลาร์เซลล์ หรือ Solar Rooftop ของอิมแพ็คมีการติดตั้งใน 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ หลังคาของอาคารชาเลนเจอร์ มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 593.64 กิโลวัตต์ หลังคาอาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 316.20 กิโลวัตต์ หลังคาอาคารจอดรถ P.3 มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 153 กิโลวัตต์ ซึ่งในปี 2565 ทั้ง 3 อาคารมีปริมาณการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 1,137,805 กิโลวัตต์/ชั่วโมง
ในส่วนของโครงการลดการใช้พลังงาน อิมแพ็คได้ปลูกฝังค่านิยมให้กับพนักงานในองค์กร รวมถึงคู่ค้าผู้จัดงาน ตระหนักและมีส่วนร่วมในการลดการใช้พลังงาน เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน พร้อมตั้งเป้าลดการใช้พลังงานในพื้นที่จัดแสดงงาน อีกทั้งวางแผนดำเนินงานควบคุมและลดการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง
ปี 2565 ที่ผ่านมา อิมแพ็คตั้งเป้าลดการใช้พลังงานในพื้นที่จัดแสดงงานอยู่ที่ 4% (อ้างอิงข้อมูลปี 2563 มาเป็นฐานเปรียบเทียบ สะท้อนพฤติกรรมการใช้พลังงานได้มากกว่าปี 2564 ที่มีสถานการณ์โควิด-19 และถูกสั่งปิดพื้นที่เป็นระยะ) ทั้งนี้ อิมแพ็คลดการใช้พลังงานในพื้นที่จัดแสดงงานได้เกินเป้าอยู่ที่ 7.83% ประหยัดพลังงานได้ถึง 1,811,224 กิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นอัตราค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ 7,806,376.27 บาท (อัตราค่าไฟเฉลี่ย 4.31 บาทต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง) สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนหรือลดก๊าซเรือนกระจก 1,016,096.77 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (kgCO2e) เทียบเท่าการลดการใช้พลังงานบ้าน 2 ชั้น ขนาด 16 ตารางวา จำนวน 5,407 หลังคาเรือน
“ความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลมาจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ การเปลี่ยนอุปกรณ์หลอดไฟเดิมเป็นหลอดไฟ LED ตามพื้นที่อาคารและห้องจัดงานต่างๆ ระบบปรับอากาศ มีการเปลี่ยนม่านอากาศ หรือ Air Curtain ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เข้ามาช่วยในการป้องกันอากาศภายในออกสู่ด้านนอก เพื่อรักษาอุณหภูมิภายในไว้ การควบคุมการทำงานของระบบปรับอากาศ (BBP) รวมถึงการปรับใช้อุณหภูมิพื้นที่จัดงานที่เหมาะสม” นายพอลล์กล่าว
อย่างไรก็ตาม วาระครบรอบ 25 ปี อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในเดือนตุลาคมนี้ บริษัทพร้อมเดินหน้าในการขยายธุรกิจพัฒนาศักยภาพสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และการบริการให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาวที่จะยกระดับการดำเนินธุรกิจมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า TBC Sustainability Goals 2030 หรือ TBC SG 2030 สอดรับกับนโยบาย BCG โมเดล (Bio, Circular, Green Economy) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emission) ของประเทศ
ที่มา : มติชน