สถาบันลงทุนไทย-จีน ผนึก 2 ชาติลงทุน ปลุก 6 อุตฯนิวเจน

สถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน (TCEII) ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนไทยและธุรกิจข้ามชาติ
 
อรุณ เอี่ยมสุรีย์ กรรมการบริหาร ส.อ.ท.และประธานสถาบัน ให้ข้อมูลที่มาในการจัดตั้งสถาบันและแนวทางที่จะดำเนินการต่อไปจากนี้ไว้ว่า
 
ความจริงแล้ว ส.อ.ท.มีคณะทำงานดูเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนหรือดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมทุนในไทยอยู่แล้ว เป็นแนวคิดของกรรมการ ส.อ.ท.ชุดที่แล้ว แต่ครั้งนั้นเป็นเรื่องของความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม ในวาระปัจจุบัน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภา ส.อ.ท. ได้เล็งเห็นถึงเรื่องการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ส.อ.ท. ขึ้นมาเพื่อดูแลภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก เรามีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการโรงงานอยู่ 1.5 หมื่นรายใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นจึงอยากกำหนดทิศทางที่ชัดเจน ในเวลาที่มีการค้าการลงทุนระหว่างกันทางภาคอุตสาหกรรม
 
จึงได้ปรับโฟกัสของหน่วยงานจัดตั้งเป็นสถาบันใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน จัดตั้งขึ้นมาประมาณ 1 เดือน แต่ได้เดินหน้ากิจกรรมต่างๆ มาก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุผลที่สถาบันเพิ่งลงนามแต่งตั้ง เนื่องจากรอองค์ประกอบที่ปรึกษาจากทางภาครัฐ เราเชิญหลายหน่วยงานมาเป็นที่ปรึกษา ส่วนใหญ่ติดในแง่ของการตอบรับ เรายังได้การตอบรับกลับมาทั้งหมด รอจนกระทั่งครบ
 
อรุณเสริมอีกว่า เรื่องวัตถุประสงค์เป็นพื้นฐานทั่วไป คงพอจะเข้าใจกันอยู่ว่า ส.อ.ท.เป็นตัวกลางในการส่งเสริมเรื่องของการลงทุนทางภาคเศรษฐกิจ ในด้านอุตสาหกรรมระหว่าง 2 ประเทศ เวลาที่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ จะเป็นตัวกลางช่วยประสานงานให้ หลักๆ การทำงานจะคล้าย ส.อ.ท. แต่สถาบันนี้จะเน้นความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนเป็นหลัก
 
ดังนั้น ช่วงการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ที่หอการค้าไทย-จีน เป็นเจ้าภาพ ช่วงวันที่ 24-26 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางสถาบันจึงประสานงานกับนักลงทุนและหน่วยงานที่มาจากทางจีนตลอดเวลา ระหว่างช่วงงานประชุมในไทย มีหลายคณะได้ประชุมร่วมกันและมีความร่วมมือกันเพิ่มเติม อาทิ หน่วยงานที่เป็นนานาชาติ หรือการค้าการลงทุนนานาชาติ มีการเดินงานอยู่ตลอด และนักลงทุนจีนเริ่มเข้ามาหารือกับทางสถาบันมากขึ้นแล้ว
 
ในส่วนของจีนก็มีหน่วยงานเกี่ยวกับการค้าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมค่อนข้างเยอะ ทุกๆ มณฑลของจีนจะมีหน่วยงานที่สนับสนุนผู้ประกอบการของเขาอยู่ และทั้งหน่วยงานราชการ กระทรวง กรมต่างๆ และในแง่ของท้องถิ่น ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการประสานงานเข้ามาหน่วยงานส่วนกลางไม่ว่าจะเป็นลักษณะกระทรวงอุตสาหกรรมและสารสนเทศ หรือกระทรวงพาณิชย์ ได้ประสานงานอยู่ตลอด
 
อรุณกล่าวต่อว่า การประสานงานส่วนใหญ่ เมื่อนักธุรกิจหรือนักลงทุน หรือพ่อค้า เดินทางออกนอกประเทศ หน่วยงานกลางจะเข้ามาแนะนำตัวว่าเป็นหน่วยงานอะไร และอธิบายถึงขอบข่ายความรับผิดชอบ จึงมาแมตชิ่งกับเรา
 
อาทิ เมื่อจีนจัดงานแสดงสินค้า จะมีการพูดคุยหารือเพื่อให้สถาบันช่วยสนับสนุนและประชาสัมพันธ์งานให้ เป็นต้น
 
ขณะเดียวกัน เมื่อทางสถานบันได้หารือกับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนเหล่านั้นแล้ว ข้อมูลก็จะอยู่ในมือของสถาบัน เราก็จะนำไปวิเคราะห์ว่าใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. มีกลุ่มไหนที่จะได้รับประโยชน์บ้าง หรือในกรณีที่นักธุรกิจจีนต้องการเข้าลงทุน อาทิ เรื่องยา เราก็จะมีการแมตชิ่งกับอุตสาหกรรมยาและการแพทย์ ของไทยให้ เพื่อให้ลองดูว่าจะสามารถสนับสนุนเครือข่ายอะไรกันได้บ้างต่อไป
 
สำหรับหน่วยงานเก่าได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง มีเรื่องของการจัดการประชุมสินค้า มีการประชุมใหญ่ประจำปี เช่น การประชุมของไชน่าอาเซียน ซิมโพเซียม ที่จะมีการจัดที่ประเทศจีน ภายในปี 2566 นี้ เป็นต้น
 
วันนี้ทางจีนมีบทบาทมากมายกับไทย เนื่องจากจีนเป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้ลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมที่ใหญ่รายหนึ่งของโลก เพราะฉะนั้น จีนในฐานะที่มีหลายบทบาทก็ได้ผันตัวเองมาเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายด้วย
 
หลังจากนี้จะมีหลายกิจกรรมจัดขึ้นที่จีน หลังจากที่ช่วงโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดชะงักไป ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นการสร้างเครือข่าย
 
การจัดคู่ธุรกิจนั้น ในส่วนของสถาบันมีการจัดตั้งขึ้นมาได้ไม่นาน ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนของการเริ่มแมตชิ่งธุรกิจยังไม่เยอะ ช่วงแรกจะเน้นการจับคู่ใน 6 อุตสาหกรรมใหม่ เป็นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่ เป็นฐานการผลิตของโลกอยู่แล้ว แต่ฐานการผลิตเหล่านั้นเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม
 
วันนี้เราอยากขับเคลื่อนไปในส่วนของเป้าหมายอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานหมุนเวียน ออโตโมชั่น และไบโอเทคโนโลยี ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราอยากได้ แต่ไม่ใช่ว่านอกกรอบนี้เราไม่สนใจ เพียงแต่ว่าอยากขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้เป็นหลัก
 
ประธานสถาบันกล่าวอีกว่า ในอดีตก่อนจัดตั้งสถาบันขึ้นมาจะใช้วิธีการดำเนินงานแบบเชื่อมเครือข่ายแต่ ณ วันนี้ การลงทุนจากทางจีนที่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงหลังๆ เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สำคัญรายหนึ่ง เพราะฉะนั้นเรื่องของการที่จะทำให้มีโฟกัส เราต้องประกาศเจตนารมณ์ให้ชัดเจน เราจึงได้มีการตั้งชื่อเป็น สถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน ถือเป็นการรีโฟกัสให้ชัดเจน ไม่ใช่ว่าทำของใหม่และของเก่าไม่ทำ ทำให้ชัดถึงเรื่องการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม ส.อ.ท.จะเป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ และเป็นผู้สนับสนุนให้กับผู้ที่สนใจลงทุนได้เข้ามาอย่างมีประสิทธิภาพ
 
ประธานสถาบันกล่าวถึงเป้าหมายว่า ส.อ.ท.ต้องการเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในแง่ของการที่จะให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทย รวมถึงเราต้องการเป็นตัวหลักในการแมตชิ่งกับผู้ประกอบการไทยให้ได้ประโยชน์จากนักลงทุนจีน อาทิ เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี ถ้าเราเป็นตัวกลางของเรื่องนี้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งเรามีสมาชิกกว่า 1.5 หมื่นราย เพราะฉะนั้นเป้าหมายสำคัญของสถาบันจึงต้องการเป็นแกนหลักในกิจกรรมนี้
 
เป้าหมายในปีแรกของการจัดตั้งสถาบันอาจจะยังไม่ตั้งเป็นตุ๊กตา หรือดัชนีความสำเร็จ (เคพีไอ) ที่ชัดเจน เพราะเพิ่งจัดตั้งมาไม่นานนี้ เนื่องจากแบบเก่าจะมีในเรื่องของการวัดผลทางเคพีไอ และการจัดเทรนนิ่งค่อนข้างเยอะ แต่สถาบันนี้จะเพิ่มในเรื่องของการค้าการลงทุนให้มากขึ้น
 
ปัจจุบัน ส.อ.ท.ได้แมตชิ่งกับหน่วยงานของจีนหลายหน่วยแล้ว อยู่ระหว่างทำแผนร่วมกัน อาทิ สถานทูต มณฑลใหญ่ๆ ของจีน เริ่มมีการสื่อสารและมีการประชุมหารือเพิ่มเติมร่วมกันแล้ว หลังจากที่มีความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมแล้ว เราจะมีการวางเป้าหมายที่ชัดเจนต่อไป
 
ทั้งนี้ข้อมูลของประธานสถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน สอดคล้องกับหลายหน่วยงานที่ออกมาระบุว่า การลงทุนจากจีนได้ขึ้นแท่นครองอันดับหนึ่ง และแซงหน้าทุนจากชาติเดิมที่เข้ามาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะญี่ปุ่น อาเซียน อเมริกา หรือยุโรป
 
ที่มา : มติชน 
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)