ตรวจเข้ม สกัดสวมสิทธิ์ GAP ผักผลไม้ รถไฟสาย "มาบตาพุด - คุนหมิง" พบจับทันที

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผนึกกำลังอธิบดีกรมการค้าภายใน-กรมศุลกากร ลุยส่งออกทุเรียนทางรถไฟ "มาบตาพุด – คุนหมิง" ย้ำส่งออกผักผลไม้คุณภาพไทย ต้องมี GAP เท่านั้น หากพบสวมสิทธิ์ ดำเนินคดีทางกฎหมายทุกกรณี
 
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายไกรยสิทธิ์ อินทรพาณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้แทนบริษัท Pan Asia Silk Road จำกัด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการส่งออกทุเรียนทางรถไฟ (มาบตาพุด - คุนหมิง) ณ สถานีรถไฟมาบตาพุด อำเภอเมืองจังหวัดระยอง
 
ทั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์ส่งออกทุเรียน ผ่านเส้นทางรถไฟไทยพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรในพื้นที่ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระยอง ด่านตรวจพืชในพื้นที่ภาคตะวันออกเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยโดยมีนายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ร่วมให้การต้อนรับ
 
สำหรับการเปิดใช้รถไฟสายไทย - ลาว - จีน ผ่านสถานีรถไฟมาบตาพุดมายังสถานีรถไฟหนองคาย เพื่อส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทยไปจีน ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีจำนวน 135 ตู้ ทุเรียน 109 ตู้ ลำไย 26 ตู้ มูลค่า 1 พันกว่าล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนใต้จากจังหวัดชุมพร จะขนส่งมาโดยรถบรรทุก แล้วมาขึ้นรถไฟที่สถานีมาบตาพุด ไปยังสถานีรถไฟท่านาแล้ง จากสถานีท่านาแล้งจะมีการเปลี่ยนรถไฟ โดยใช้รถบรรทุกจากฝั่งลาว ขนส่งไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟความเร็วสูงเวียงจันทร์ใต้ ลำเลียงเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ด่านรถไฟโม่ฮาน หรือ ด่านโม่ฮาน (เปลี่ยนรถบรรทุกเข้าด่านที่บ่อเต็น)
 
ทั้งนี้หากส่งออกไปยังคุนหมิง ยูนนาน สามารถผ่านด่านทางรถไฟโดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นรถบรรทุก โดยการชนส่งโดยใช้เส้นทางรถไฟนี้ จะใช้เวลาประมาณ 4 วัน เห็นได้ว่าเส้นทางการขนส่งทุเรียนผ่านรถไฟลาว- จีนเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่มีศักยภาพรวดเร็ว ลดระยะเวลา ประกอบกับสามารถขนส่งได้ครั้งละหลายตู้ ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกต่างให้ความสนใจเลือกใช้เป็นเส้นทางส่งออกทุเรียนไปยังปลายทางประเทศจีนมากยิ่งขึ้น
 
เนื่องจากผลไม้ทุเรียนสดสามารถส่งตรงถึงมือผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างรวดเร็วและสร้างความพึงพอใจในรสชาติทุเรียนของไทย ส่งผลให้ทุเรียนไทยมีราคาสูงต่อเนื่องอย่างมีเสถียรภาพตลอดฤดูกาล อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ขอบคุณกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการกำกับดูแล ให้ทุเรียนไทยได้รับมาตรฐานเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีน
 
อย่างไรก็ตาม นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  และนายวัฒนศักย์  ประสานเสียงว่า การเปิดเส้นทางรถไฟสายลาว-จีนนับได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการขนส่งผลไม้ไทยด้วยระบบรางภายใต้พิธีสารการนำเข้าส่งออกผลไม้ระหว่างไทย – จีนซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของไทย – ลาว - จีนโดยมีกรมวิชาการเกษตร กรมการค้าภายใน กรมศุลกากร  และการรถไฟแห่งประเทศไทยตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ในการพัฒนารูปแบบให้บริการด้านการส่งออกด้วยการเพิ่มเส้นทางขนส่งทางบก
 
โดยการขนส่งทางรางเพื่อลดความแออัดที่หน้าด่านนำเข้าของจีนในส่วนของรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ไปติดค้างที่หน้าด่านในช่วงที่มีผลผลิตในปริมาณมาก ๆ เหมือนเช่นที่ปีก่อนๆที่ผ่านๆมา เกิดความล่าช้า ผลผลิตเน่าเสีย ตู้สินค้าไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการส่งออกได้รับผลกระทบ และส่งผลมาจนถึงราคาผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรเกิดความผันผวน
 
ในวันนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ได้ร่วมกันติดตามกระบวนการขั้นตอนการส่งออกทุเรียน และ มังคุดวันนี้ มีการขนส่งทั้งหมด 15 ตู้ เป็นทุเรียน 14 ตู้ น้ำหนักรวม 254 ตัน มังคุด 1 ตู้ น้ำหนัก 17 ตัน รวม 271 ตันโดยจะร่วมกันตัดซิล เปิดตรวจตู้ทุเรียน 1 ตู้  และ ตู้มังคุด 1 ตู้
 
พร้อมร่วมกันติดซิลตู้ ส่งรายงานให้ด่านหนองคายทราบเพื่อออกใบ pc นอกจากนี้ยังได้ติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรค พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานด้วยความเข้มงวดในมาตรการการตรวจสอบศัตรูพืช ตลอดจนเฝ้าระวังมิให้ผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพเล็ดลอดออกไปยังตลาดปลายทางโดยเด็ดขาด เพื่อให้ทุเรียนภาคใต้ที่ส่งออกไปยังตลาดปลายทาง มีคุณภาพได้มาตรฐานเช่นเดียวกับทุเรียนภาคตะวันออกที่มีผลผลิตออกมาก่อนหน้านี้
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่มีกระแสข่าวการจับกุมทุเรียน และกระบวนการสวมสิทธิ์ใบรับรอง GAP  กรมวิชาการเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินมาตรการกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในฐานะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการจดทะเบียนผู้ส่งออกและการขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุ โดยในเบื้องต้นได้ดำเนินการพักใช้หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA) และหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
 
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรย้ำขอให้พี่น้องเกษตรกรเก็บรักษาใบ GAP ไว้อย่างดี ใบรับรอง GAP ของท่านมีค่าอย่าให้ใครนำมาใช้สวมสิทธิ์ รวมถึงหนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงาน (ล้ง, ใบ DOA) ของท่านไม่สามารถให้เช่าใช้แทนกันได้ โดยหากไม่ปฏิบัติตามกรมวิชาการเกษตรสามารถระงับใช้หรือเพิกถอนใบ GAP/GMP หรือหนังสือสำคัญการขึ้นทะเบียนล้งได้
 
นอกจากนี้ ในประเด็นข้าวโพด กระเทียมและหอมแดงทราบว่า อาจมีการลักลอบนำเข้า หรือสำแดงเท็จโดยเฉพาะจากแนวชายแดนนั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมการค้าภายใน และ กรมศุลกากรเน้นย้ำ สินค้าพืชและผลไม้ทุกชนิดต้องมีมาตรฐานในการนำเข้า ส่งออก เป็นไปตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยในวันนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ลงพื้นที่ติดตาม ขยายผลการสั่งระงับล้ง และระงับบริษัทผู้ส่งออก ผู้กระทำความผิด
 
โดยสั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ประสานหน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พร้อมส่ง ผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ลงพื้นที่ กำชับด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจสอบการส่งออก/นำเข้า สินค้าเกษตรทุก lot ต้องมีคุณภาพ และห้ามมีการสวมสิทธิ์ หรือสำแดงเท็จอย่างเด็ดขาด หากพบสวมสิทธิ์ สั่งดำเนินคดีทางกฎหมาย ทุกกรณี ติวเข้ม ตลอดจนเฝ้าระวังมิให้ผลผลิต ทุเรียนด้อยคุณภาพเล็ดลอดไปยังตลาดปลายทางโดยเด็ดขาด
 
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)