เปิดเส้นทางจีนสู่ 'เบอร์ 1 เศรษฐกิจโลก'
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนเคยเป็นประเทศยากจน ประชาชนอดอยากล้มตายหลายล้านคน แต่ปัจจุบันเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกและมีแผนก้าวเป็นเบอร์ 1 ให้ได้แต่ความฝันนี้ยังมีอุปสรรคมากมายให้ฟันฝ่าและตอนนี้จีนเหมือนจะยังก้าวไม่ข้ามอุปสรรคเหล่านั้น
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า จีนเริ่มไต่ระดับในช่วงปลายทศวรรษ 70 ด้วยการวางแผนเชิงรุกจากส่วนกลางเปิดตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบเรื่องแรงงานราคาถูก เงินหยวนอ่อน และระบบโรงงานที่แข็งแกร่งกระจายสินค้าจีนออกไปทั่วโลกปัจจัยทั้งหมดเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจีนชนบทล่มสลายกลายเป็นมหาอำนาจที่รุ่งเรืองหลากหลาย และมุ่งมั่นสู่ความเป็นเบอร์ 1 โลก
จีนไต่ระดับขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของโลกในขณะนี้ ด้วยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ระดับ 13.1 ล้านล้านดอลลาร์ แม้ยังคงตามหลังสหรัฐแต่ก็ใกล้เข้าไปทุกที ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า เศรษฐกิจจีนที่ปี 2563 โตแค่ 6% เศษ จะเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้โตสองเท่าระหว่างปี 2554-2563แต่อีกมุมหนึ่ง จีนก็เป็นประเทศที่เสียหายหนักจากสงครามการค้ากับสหรัฐ ทั้งยังต้องเผชิญกับความท้าทายนานัปการในการรักษาระดับการเติบโตเอาไว้ให้ได้ อนาคตข้างหน้าดูแล้วไม่ง่าย
“ในอนาคตจีนยังคงเป็นประเทศที่มีแข่งขันได้สูงมาก ยังคงเป็นผู้เล่นระดับโลก แต่ก็เป็นเรื่องของการจัดการความคาดหวังเทียบกับอนาคตที่คุณอยากจะเป็น”
ไมเคิล โยชิคามิ ผู้ก่อตั้งบริษัทเดสทิเนชัน เวลธ์ แมเนจเมนท์ให้ความเห็น
จะว่าไปแล้ว ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตชนิดที่ทั่วโลกต้องอิจฉา ตอนนี้ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จีดีพีที่เคยสูงสุด 14.2% เมื่อปี 2550 ธนาคารโลกระบุว่า ตัวเลขถดถอยลงเหลือปีละไม่ถึง 7% มาตั้งแต่ปี 2558
บริษัทของโยชิคามิตั้งอยู่ในซานฟรานซิสโก แต่เขาลงทุนธุรกิจในจีนค่อนข้างมากและเดินทางไปที่นั่นบ่อย เห็นชัดว่า แดนมังกรเป็นผู้นำด้านการศึกษาและนวัตกรรมเทคโนโลยี แต่ต้องเจ็บปวดจากการถูกสหรัฐเก็บภาษี ประกอบกับค่าจ้างแรงงานสูง และการผลิตซบเซา
“เศรษฐกิจจีนตั้งเป้าโต 7% จากที่เคยโตถึง 14% ถ้าโต 6%ก็ยังถือว่ามาก แต่คุณจะได้เห็นความรู้สึกแย่ๆ มากมาย ถ้าคุณไปคุยกับผู้คนในจีน คนทั่วไปจะไม่โลกสวยเหมือนเมื่อ 2 ปี 4 ปี หรือเมื่อ 6 ปีก่อน” โยชิคามิกล่าว หนึ่งในเรื่องร้ายก็คือสงครามการค้า
ขณะที่ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าสู่ข้อตกลงการค้าเฟส 1 แต่ยังมีเรื่องมากมายให้ต้องทำต่อไปอีก และปัญหาที่เกี่ยวเนื่องยังสัมผัสได้จากเศรษฐกิจจีน
“คนทั่วไปเชื่อว่า ภาษีการค้ากำลังสร้างความเสียหาย เงินเฟ้อเพิ่ม ราคาอาหารพื้นฐานขึ้นไปแล้ว 10-15% ราคาเนื้อสุกรพุ่ง 100% เห็นได้เลยว่าชาวบ้านกำลังเปลี่ยนแปลงอาหารที่รับประทาน เพราะพวกเขาหาซื้อสินค้าเหล่านี้ไม่ง่ายอีกต่อไป สงครามการค้าทำร้ายพวกเขามาก แน่นอนสหรัฐอยากทำดีล แต่จริงๆ แล้วจีนอยากทำดีลมากกว่า”
ความเสียหายจากสงครามการค้าที่มีผลต่อเศรษฐกิจนั้นชัดเจนและวัดได้ ข้อมูลนับถึงเดือน ต.ค.จากโนมูระ โกลบอล อีโคโนมิกส์ชี้ว่า อัตราการเติบโตของรายได้ทางการคลังปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 3.8% จาก 6.2% ในปี 2561 ส่วนรายได้จากการเก็บภาษีแทบไม่เพิ่ม หลังจากเคยเพิ่มถึง 8.3% ในปี 2561
นอกจากนี้การส่งออกเดือน พ.ย.เติบโตลดลง 0.3% จากที่เคยโตถึง 9.9% ในช่วงเดียวกันของปี 2561 เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐเสียหายยับเยิน ปี 2562 ลดลง 12.5% จากที่เคยเติบโต 8.5% ในปี 2561 การที่ส่งออกลดลงฉุดจีดีพีจีนปีนี้ลง 1.3%
โนมูระ บริษัทวิจัยซึ่งมีฐานปฏิบัติการในกรุงโตเกียว ระบุในรายงานประจำปีว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจจีนว่า โนมูระเคยเป็นรายแรกที่มองว่า เศรษฐกิจจีนชะลอตัวตั้งแต่กลางปี 2561 และอยากเป็นรายแรกที่ประเมินว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว “น่าเสียดายที่เราต้องย้ำว่า ความเลวร้ายยังไม่จบ ปี 2563 จะเป็นอีกปีที่สาหัส”
ในบรรดาอุปสรรคทั้งหลายที่ขัดขวางการเติบโตของจีน โนมูระมองว่า หนึ่งในนั้นคือการที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ซบเซา โอกาสในการออกมาตรการกระตุ้นมีน้อย โดยเฉพาะการผ่อนคลายสินเชื่อที่เคยกระตุ้นการเติบโตได้เมื่อปี 2559-2560 นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่คอยฉุดรั้งเศรษฐกิจอีกนานัปการ
ADVERTISEMENT
“ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจไม่สดใส ปักกิ่งจำเป็นต้องลงมือทำมากกว่านี้เพื่อหนุนการเติบโต อย่างไรก็ตาม เราขอแนะนำให้ระมัดระวังว่าชุดมาตรการกระตุ้นที่รัฐบาลปักกิ่งออกมาต้องมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และรวดเร็วพอ เนื่องจากหนี้พุ่งสูงมากรวมถึงหนี้ต่างประเทศ ขณะที่ผลตอบแทนเงินทุนต่ำมาก การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง และทุนสำรองระหว่างประเทศลด” ติง ลู่ นักเศรษฐศาสตร์จากโนมูระและคณะตั้งข้อสังเกตในรายงาน
กระนั้นวอลล์สตรีทมองว่า ปัญหาในปี 2563 อาจเป็นจุดเปลี่ยนก็ได้ เมื่อมองไปข้างหน้าตามกรอบเวลา มีเหตุผลมากมายทำให้เชื่อได้ว่าความพยายามเดินหน้าสู่เบอร์ 1 โลกของจีนจะได้แรงส่งทรงพลังขับเคลื่อนโดยการขยายสิ่งที่เคยผลักดันการเติบโตให้กับเศรษฐกิจจีนเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา เช่น การผงาดขึ้นของเมืองใหญ่จำนวนมาก
มอร์แกน สแตนลีย์คาดว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านเมืองใหญ่ราว 23 เมืองของจีนจะมีประชากรมากกว่านครนิวยอร์ก เฉพาะ 5 เมืองรวมกันมีประชากร 120 ล้านคน
การที่เมืองใหญ่เหล่านี้ดึงแรงงานจากชนบทเข้ามาอยู่ในศูนย์กลางที่มีประชากรมหาศาลก็เพื่อลดผลกระทบจากการที่สังคมผู้สูงอายุส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
“เราเชื่อว่าคำตอบสำหรับความท้าทายเหล่านี้คือการสร้างความเป็นเมืองเฟสใหม่ ที่มีศักยภาพในการเพิ่มผลิตภาพ โดยเอื้อให้ธุรกิจและแรงงงานเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรียิ่งขึ้น พร้อมๆ กับหลอมรวมอุตสาหกรรมที่แตกต่างหลากหลายเข้าด้วยกัน” นักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนลีย์ให้ความเห็นในรายงาน
สำหรับโอกาสในการลงทุน จีนลงทุนหนักมากในเทคโนโลยี 5จี ส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างความทันสมัยและความเป็นเมือง จุดประสงค์เพื่อให้ครัวเรือนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อความอัตโนมัติ ส่วนนักเรียนก็สามารถเรียนรู้เสมือนจริงที่เอื้อประโยชน์ให้ในทุกมิติตั้งแต่การติวออนไลน์ไปจนถึงทำการบ้าน
มอร์แกน สแตนลีย์ แนะนำให้ลูกค้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี เช่น อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (ไอโอที) และซอฟต์แวร์ การทำอุตสาหกรรมเก่าเข้าสู่ระบบดิจิทัล และเทรนด์ที่ใช้กับเมืองใหญ่ จำพวกอุปกรณ์อัจฉริยะ อาชีวศึกษาและนวัตกรรมอื่นๆ แต่โยชิกามิมองต่างออกไปว่า การลงทุนในจีนถือเป็นเกมอันตราย เนื่องจากจีนอยู่ระหว่างการเป็นตลาดเกิดใหม่กับตลาดพัฒนาแล้ว จึงไม่แน่ใจว่าการประเมินคุณค่าของการลงทุนในจีนจะคุ้มค่าพอในจุดนี้หรือไม่
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 24 ธันวาคม 2562