บทความพิเศษ : จากเวียดนามกับสหรัฐฯ ไปสู่ความสัมพันธ์ไทย-จีน ในเส้นทางการจะให้‘ฟรีวีซ่า’แก่คนจีน - จริงหรือ?
ข่าวกิจกรรมทางการทูต ณ ขณะนี้ไม่น่าจะมีอะไรร้อนแรงไปกว่ากำหนดการของนายโจ ไบเดนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเยือนเวียดนาม ในวันที่10-11 กันยายน 2566
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน รัฐบาลใหม่ของไทยกอปรด้วย 11 พรรคการเมือง นำโดย นายเศรษฐาทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีภารกิจเสนอร่างนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา เป็นการเริ่มต้นการบริหารราชการแผ่นดินก่อนที่จะเปิดตัวไปสู่วาระอื่นๆ หลังจากไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากยุคคสช. หลังการรัฐประหารและการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560รวมทั้งสิ้น 9 ปี
กรณีเวียดนาม-สหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องอ่อนไหวนักที่อดีตศัตรูในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งยุติลงเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 เดินทางมาพบกันในช่วงวันที่ 11 กันยายน เร็วๆ นี้ ซึ่งครบรอบ 22 ปี เหตุการณ์โศกนาฏกรรมจากการก่อการร้ายต่ออาคารเวิลด์เทรดและอื่นๆ ในสหรัฐฯ เสมือนกับการปรับความรู้สึกทางอารมณ์ของกันและกัน ภายในชาติและระหว่างกัน ให้ไปสู่พัฒนาการใหม่หลังการยุติลงของสงคราม กล่าวคือ เป็นการเยียวยาบาดแผลจากสงครามและความรุนแรงที่ต่างคนต่างมี
ดูแปลกแต่เป็นเรื่องจริงที่ บัดนี้ เวียดนามค้าขายกับสหรัฐฯ เป็นอันดับหนึ่ง ปริมาณกว่า 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยกับจีน แต่เวียดนามขาดดุลกับจีนเสมอๆ สหรัฐฯ ลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวน 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน 1,200 โครงการ เป็นอันดับ 11 จากนานาประเทศอนึ่ง เมื่อปี 2538 เวียดนามและสหรัฐฯ ปรับความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นปกติและแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูต เคยมีการเยือนสำคัญๆ ได้แก่ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อปี 2559 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2562 และนายเหวียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม เยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำหนดเยือนเวียดนามตามคำเชิญของนายจ่อง เลขาธิการพรรคฯ และหารือในเรื่องความร่วมมือระหว่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงประเด็นสิ่งท้าทายความมั่นคงนอกรูปแบบต่างๆ (อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โรคระบาด ความมั่นคงทางน้ำ ระดับน้ำทะเล เป็นต้น) ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการเป็นพันธมิตรที่กว้างขวางนายไบเดน เป็นประธานาธิบดีล่าสุดที่เยือนเวียดนามแต่มิได้มีข่าวสารว่าจะมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยซึ่งเป็นมหามิตรที่ใกล้ชิดจากอดีตกาลแต่อย่างใด
เมื่อมาดูประเทศไทยๆ กำลังเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่แม้ว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่แข็งแรงก็ตาม ในทางการเมือง ไทยยังขาดเสถียรภาพและความมั่นคง มีการรัฐประหารบ่อยครั้ง การส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรที่หนึ่งของเศรษฐกิจติดลบมากว่า 10 เดือน การท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องจักรที่สอง ก็ยังซบเซาเพราะการท่องเที่ยวภายในและจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย และอินเดีย ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเคยมีมากถึง 11 ล้านคนจากทั้งสิ้น 40.5-41 ล้านคน เมื่อปี 2562 ก่อนโรคระบาดโควิด-19
ทุกประเทศรอรับนักท่องเที่ยวจากจีน เพราะประเทศนี้เคยเป็นแหล่งส่งออกนักเดินทางจำนวนมาก เพราะมีประชากรมากถึง 1.4 พันล้านคนเดินทางไปแทบจะทุกประเทศ ไปอยู่อาศัย ประกอบอาชีพ ทำงาน บางแห่งที่เศรษฐกิจและการเมืองอ่อนแอ ก็อาจมีผู้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่แบบกลืนประเทศไปเลย ที่เคยเรียกว่า “กลืนชาติ” ดูจะเห็นได้ชัดเจนในยุคปัจจุบัน ดังนั้น การที่ระบอบคอมมิวนิสต์ในจีนสามารถที่จะสั่งการเดินหน้า หรือถอยหลัง กล่าวคือ อนุญาตให้/ไม่ให้ออกนอกประเทศได้ จึงต้องใคร่ครวญให้จงหนัก เพราะเมื่ออนุญาตให้คนต่างชาติจำนวนมหาศาลเข้าประเทศตนได้โดยปราศจากวีซ่า ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอธิปไตย โดยผ่านกลไกทางการทูตการกงสุลการตรวจคนเข้าเมือง
ซึ่งเหล่านี้จะต้องมีมาตรฐานและเชื่อมโยงระหว่างกันนั่นคือ ออนไลน์ในระบบตรวจสอบและค้นหาร่วมกันได้ มันจะมีปัญหาความไม่มั่นคง อาชญากรรมข้ามชาติ กลุ่มอิทธิพล การฉ้อฉลของกลุ่มคนจีนที่มีสีดำ สีเทา (คือไม่ชัดเจนในตอนแรก และอำพรางต่อมา) การลักลอบหลบหนีเข้าเมืองแย่งอาชีพคนไทยพื้นเมือง เป็นต้น ประเทศผู้รับจึงจะต้องเตรียมตัวเพิ่มมาตรการระมัดระวังภัยอย่างมาก
ในฐานะนักการทูตผู้มีประสบการณ์พอประมาณขอเรียนว่า เราอาจต้องไตร่ตรองให้รอบคอบว่า ประเทศที่มีประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์เข้มข้นเช่น เวียดนาม เขายกเว้นวีซ่ากับจีนไหม และจีนให้ฟรีวีซ่ากับประเทศอื่นๆ ไหม คือจีนพร้อมจะต้อนรับคนต่างประเทศเข้าจีนโดยไม่ต้องมีวีซ่าไหมสหรัฐฯ ก็ดี รัสเซียก็ดี กับจีนนั้น เขายังมีวีซ่าระหว่างกันใช่ไหม หากเขายังระมัดระวังเช่นนี้ ประเทศไทยจะกล้าหาญไปยกเว้นวีซ่าแก่จีนทำไม และจีนจะยกเว้นให้ไทยไหม มีคนไทยกี่คนที่อยากจะไปจีนในจำนวนมากๆ และบ่อยๆ และมีกี่ประเทศที่ไปเสนอเช่นนี้กับจีน เราต้องมีไหวพริบที่จะถามตนเองสักหน่อย ที่ผ่านไป ไทยไปยกเว้นแก่หลายประเทศ โดยประกาศให้ฝ่ายเดียวก็มี หรือเป็นความตกลงสองฝ่ายก็ดี ซึ่งคนไทยมิได้สิทธ์ิยกเว้นตอบแทนหรือมิได้ไปใช้สิทธ์ิ รัฐบาลควรที่จะทบทวนยกเลิกไป เพราะพ้นสมัยโปรโมชั่นแล้ว ประเทศไทยต้องแสดงตนให้เป็นที่น่าเคารพนับถือ เพื่อให้ประเทศอื่นเคารพนับถือไทย
ในช่วงหลังโควิด-19 จีน ประเทศไทยและนานาประเทศล้วนรอรับนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งยังมีจำนวนต่ำกว่าก่อนโรคระบาด เพราะชาวจีนชนชั้นกลางขึ้นไปที่พอมีฐานะพอจะเป็นนักท่องเที่ยวได้ ประสบปัญหาหนี้เสีย หนี้ท่วมในภาคอสังหาริมทรัพย์ นัยว่ามากถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาวะเงินฝืด การบริโภคภายในลดลง ลงทุนลดลง จึงฉุดเศรษฐกิจฟื้นขึ้นมิได้ การเติบโตของจีดีพีอาจจะต่ำกว่า 3-4% ดังนั้น จึงไม่สามารถออกมาท่องเที่ยวมากๆ นานๆ เหมือนอดีต ฉะนั้น แม้จะยกเว้นวีซ่าเช่นไรก็จะไม่สามารถส่งผลได้อย่างที่คาดการณ์
เวียดนามกำลังรอรับประธานาธิบดีสหรัฐฯมาเยือนเพื่อส่งเสริมสถานะและหน้าตาของประเทศในการเมืองระหว่างประเทศ ส่วนไทยกำลังจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ เตรียมดำเนินการยกเว้นวีซ่า ลดราคาค่าตัวและศักดิ์ศรีเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวการใช้สอย การผลิตและเศรษฐกิจของไทย โดยคาดหมายว่าจะมีคนจีนแห่กันเข้าไทย (ซึ่งหากเข้าจริงอย่างมืดฟ้ามัวดินก็จะน่าสะพรึงกลัวต่อความมั่นคง เพราะไม่มีการตรวจสอบหรือควบคุมที่รัดกุม) เราน่าจะมาติดตามดูว่าในอีก 1-2 ปี ประเทศทั้งสองจะได้ใช้เวลาที่ผ่านไปพัฒนาประเทศเช่นไรเป็นบทเรียน
เกี่ยวกับผู้เขียน :
คมกริช วรคามิน
- นักการทูตผู้ประพันธ์หนังสือ “เหลียวหลัง แลหน้า :การต่างประเทศของไทยและเวียดนาม” (2566)
- อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย
- ที่ปรึกษาสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม
- ที่ปรึกษาสมาคมคณะกงสุลกิตติมศักดิ์ (ประเทศไทย)
ที่มา แนวหน้า
วันที่ 8 กันยายน 2566