สุดปัง! "สหรัฐ-เวียดนาม" ทำดีล "เอไอ-เซมิคอนดักเตอร์" หลายพันล้านดอลล์
"สหรัฐ-เวียดนาม" ลงนามข้อตกลง "เอไอ-เซมิคอนดักเตอร์" มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ขณะผู้นำสหรัฐชื่นชม ระบุ ข้อตกลงนี้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งแก่ระบบซัพพลายเชนชิป และยกระดับความสัมพันธ์สองประเทศ
KeyPoints
บริษัทชั้นนำของสหรัฐและเวียดนาม ในอุตฯเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยี และการบิน ได้หารือกันเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและประกาศข้อตกลงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเอไอ
ข้อตกลงนี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตชิป เนื่องจากสหรัฐต้องการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีน
เวียดนามเป็นผู้ส่งออกชิปรายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐ รองจากมาเลเซียและไต้หวัน และเวียดนามมีรายได้จากการส่งออกชิปไปยังสหรัฐเฉพาะในปีนี้ปีเดียว อยู่ที่ 562 ล้านดอลลาร์
โรงงานประกอบและทดสอบชิปมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ของแอมคอร์ก็จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนต.ค.นี้
อินเทลลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์ในโรงงานประกอบชิปทางใต้ของเวียดนาม ซึ่งจะเป็นโรงงานใหญ่ที่สุดในโลกของบริษัท
เวียดนาม แอร์ไลนส์จะซื้อเครื่องโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 50 ลำ คิดเป็นมูลค่าราว 7,500 ล้านดอลลาร์ การลงนามข้อตกลงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ของสหรัฐและเวียดนาม เกิดขึ้นหลังจากบรรดาผู้บริหารของบริษัทชั้นนำของสหรัฐและเวียดนาม ในภาคส่วนเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยี และการบิน ได้ประชุมหารือกันเมื่อวันจันทร์ (11 ก.ย.) ในระหว่างการเดินทางเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เพื่อมุ่งสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและประกาศข้อตกลงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเอไอ
ในการประชุมสุดยอดด้านนวัตกรรมและการลงทุนเวียดนาม-สหรัฐ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสหรัฐ ได้แก่ กูเกิล, โบอิ้ง, อินเทล, อินวิเดีย, แอมคอร์ ,โกลบอลฟาวน์ดรีส์ และมาร์เวลล์
ส่วนเวียดนาม ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารจากวินฟาสต์ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเวียดนาม รวมถึง เวียดนามแอร์ไลนส์ , เวียดเทล, วินกรุ๊ป, เอฟพีที บริษัทเทคโนโลยี, โมโม บริษัทผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอี-วอลเล็ท รายใหญ่ที่สุดในประเทศ และวีเอ็นจี ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งยื่นคำขอเสนอขายหุ้น IPO ในสหรัฐ เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อินวิเดีย จะร่วมมือในด้านเอไอกับเวียดเทล และวินกรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของวินฟาสต์
การประชุมดังกล่าวมีขึ้นหลังการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตครั้งประวัติศาสตร์ที่ได้ตกลงกันเมื่อวันอาทิตย์ (10 ก.ย.) เน้นย้ำถึงความต้องการของสหรัฐในการส่งเสริมจุดยืนระดับโลกของเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตชิป เนื่องด้วยสหรัฐต้องการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีน รวมถึงความขัดแย้งด้านการค้า และความตึงเครียดเหนือประเด็นไต้หวัน
รายงานระบุว่า นายแอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ และนายเหงียน ฉิ สุง รัฐมนตรีกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนาม เป็นประธานร่วมในการประชุมดังกล่าว ซึ่งหลังจากนั้นเป็นการหารือกันระหว่างปธน.ไบเดน และนายฝั่ม มิญ จิ๊ญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งเหนือช่องแคบไต้หวัน ระหว่างจีน สหรัฐ และไต้หวัน สร้างความไม่แน่นอนให้แก่อุตสาหกรรมผลิตเซมิคอนดักเตอร์และชิปในไต้หวัน และอาจก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิป จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยีของสหรัฐ รวมถึงในหลายประเทศทั่วโลก
ด้วยปัญหาดังกล่าว สหรัฐจึงต้องกระจายความเสี่ยงเพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนชิป และเวียดนามก็กลายเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นรองจากไต้หวัน เนื่องจากตอนนี้ เวียดนามกำลังทะยานขึ้นมาท้าชิงไต้หวันในฐานะผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 1 ของโลก และค่อยๆ ไต่อันดับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกชิปรายใหญ่ให้สหรัฐ
ข้อมูลล่าสุดของทางการเวียดนาม ระบุว่า เวียดนามเป็นผู้ส่งออกชิปรายใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐ รองจากมาเลเซียและไต้หวัน และเวียดนามมีรายได้จากการส่งออกชิปไปยังสหรัฐเฉพาะในปีนี้ปีเดียว อยู่ที่ 562 ล้านดอลลาร์
“ผมและประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในฐานะตัวแทนประเทศของเราทั้งสอง ตัดสินใจที่จะเดินหน้าออกแถลงการร่วม เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและสหรัฐขึ้นสู่ระดับการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน เพื่อสันติภาพ ความร่วมมือ การพัฒนาและความมั่นคง” เหงียน ฟู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม กล่าว
ส่วนปธน.ไบเดนยืนยันว่า “นี่เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ วันนี้ เราสามารถมองย้อนไปดูช่วงเวลา 50 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเรา จากช่วงที่มีความขัดแย้งจนถึงช่วงที่การปรับความสัมพันธ์ให้อยู่ในระดับปกติ จนถึงสถานะใหม่ที่มีการยกระดับขึ้นมาซึ่งจะเป็นขุมพลังแห่งความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงในหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสำคัญที่สุดของโลกต่อไป”
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดน ยังย้ำในการประชุมครั้งนี้ว่า นอกจากเอไอและเซมิคอนดักเตอร์แล้ว สหรัฐและเวียดนามยังกระชับความร่วมมือในด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง และเวียดนามยังมีความสำคัญในการจัดหาแร่ธาตุสำคัญๆแก่สหรัฐด้วย
ทั้งนี้ เวียดนามมีแร่หายาก ซึ่งเป็นแร่ธาตุหายากที่ใช้ในการผลิตรถไฟฟ้า กังหันลม และผลิตภัณฑ์อีกมากมาย มากที่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน
ด้านทำเนียบขาวเปิดเผยถึงโครงการลงทุนเกี่ยวกับชิปของบริษัทอเมริกันในเวียดนาม ซึ่งรวมถึงแผนการของมาร์เวลล์ และไซนอปซิสในการสร้างศูนย์ออกแบบชิปในเวียดนาม
ขณะเดียวกัน โรงงานประกอบและทดสอบชิปมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ของแอมคอร์ก็จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนต.ค.นี้
ส่วนอินเทลลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์ในโรงงานประกอบชิปทางใต้ของเวียดนาม ซึ่งจะเป็นโรงงานใหญ่ที่สุดในโลกของบริษัท
นอกจากนี้ เวียดนาม แอร์ไลนส์จะซื้อเครื่องโบอิ้ง 737 แม็กซ์ 50 ลำ คิดเป็นมูลค่าราว 7,500 ล้านดอลลาร์
ด้านฮันนี่เวลล์ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐ จะร่วมมือกับหุ้นส่วนเวียดนามริเริ่มโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่แห่งแรกในเวียดนาม
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ