เจาะลึก บอร์ดเอลนีโญ ประเมินโลกร้อน โลกรวน ไทยกระทบหนัก 7 ด้าน
ประเทศไทยในยุคโลกเดือด ใต้เงารัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" คณะกรรมการรับสถานการณ์เอลนีโญ ประเมินโลกร้อน โลกรวน กระทบชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ ในฤดูแล้งแรุนแรง 7 ด้าน
ทั่วโลกเข้าสู่ยุค "โลกเดือด" โดยเฉพาะ "ปรากฎการณ์เอลนีโญ" ที่คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงตั้งแต่ปลายปีนี้ไปจนถึงปีหน้าหรืออาจยาวกว่านั้น รัฐบาลภายใต้การนำของ "เศรษฐา ทวีสิน" ชูธงนำด้านเศรษฐกิจในการขับเคลื่อนประเทศ มีเสียงวิพากวิจารณ์ว่า การแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 – 12 ก.ย. 2566 ใน "มิติด้านสิ่งแวดล้อม" เป็น 1 ในนโยบายเร่งด่วน 100 วัน
“ความแปรปรวนของสภาพอากาศและโรคอุบัติใหม่ นอกจากจะเป็นภัยพิบัติที่สร้างผลกระทบโดยตรงต่อมนุษยชาติแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมให้เกิดกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อรูปแบบการค้าและการท่องเที่ยวของโลก สภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และได้สร้างความเสี่ยงให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยจำนวนมากที่รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน” คำแถลงนโยบาย ของ คณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566
ขณะเดียวกัน นายเศรษฐา กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 (UNGA78) สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยจะผลักดันไทยยกเลิกใช้ถ่านหิน เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด พื้นที่สีเขียว ขับเคลื่อนกรีนไฟแนนซ์
การประชุมคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ (El Nino) และ ลานีญา (La Nina) ของประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญและลาณีญาของประเทศไทย ประกอบคณะกรรมการจำนวน 21 ราย โดยมี รองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นกรรมการและเลขานุการ นอกจากนี้ยังมีการพิจารณา ยุทธวิธี ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายการทำงาน
ในการประชุม นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองประธานกรรมการ ชี้แจงสภาวะอากาศของโลก ความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบต่างๆ ระบุว่า โลกร้อนขึ้นแน่นอน โลกรวนมีความแปรปรวน ทั้งที่สามารถคาดการณ์ได้และไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก มีมหาสมุทรอยู่ 2 ฝั่ง ฝั่งตะวันออก คือมหาสมุทรแปซิฟิก โดยทะเลจีนใต้ ฝั่งตะวันตก คือมหสุทรอินเดีย โดยทะเลอันดามัน
ดังนั้นประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจาก 2 มหาสมุทรที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันได้ภายใน 10 นาที - 1 ชั่วโมง ความแปรปรวนจึงมีสูงมากจนบางครั้งไม่สามารถแก้ไขได้ทัน ผลกระทบที่สำคัญจะกระทบชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจ
ประเทศไทยจึงต้องบริหารความเสี่ยง เตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญเหตุความแห้งแล้งที่รุนแรงและยาวนาน เพราะปรากฎการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งจะแสดงความรุนแรงชัดเจนในช่วงฤดูแล้งและจะแสดงความรุนแรงมากขึ้นในปีต่อๆไป โดยความเสียหายที่จะเกิดขึ้น กระทบ 7 ด้าน
ระบบนิเวศป่าไม้
ป่าดิบชื้นเปลี่ยนเป็นป่าดิบแห้ง
แอ่งซับน้ำตามไหล่เขาจะเหือดแห้ง
ต้นนำจะไม่มีน้ำซับและน้ำใต้ดิน
เศษใบไม้จะพอกพูนเป็นเชื้อไฟป่า
จะมีไฟป่าขนาดใหญ่
หญ้าและทุ่งหญ้าจะหมดไป สัตว์เท้ากีบจะอดยาก และต่อเนื่องไปถึงสัตว์กินเนื้อ
ช้างจะออกอาละวาดหนัก กว่า 2,500 ตัว
น้ำตกจะเหือดแห้ง
ระบบนิเวศทางน้ำ
อ่างเก็บน้ำจะเหลือน้ำแค่ท้องอ่างทำชลประทานไม่ได้และไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้
คลอง หนอง บึง จะเหือดแห้ง
Wetland (พื้นที่ชุ่มน้ำ ) จะถูกทำลาย
ฝั่งคลองและแม่น้ำจะสไลด์ (ไม่มีน้ำกั้น)
น้ำทะเลจะสูงขึ้น
พืชน้ำจะตาย สัตว์ขนาดเล็กก็ตาย ปลาตามธรรมชาติจะขาดอาหาร
ปลาน้ำจืดและสัตว์น้ำจืดตาย
ปลาที่ขายตามตลาดสดจะเน่าเสียเร็วเพราะอากาศร้อน
ระบบนิเวศทางอากาศ
อากาศจะร้อนและแห้งจัด
ฝุ่นจะกระจายไปทั่วโดยเฉพาะตามถนน
P.M 2.5 จะรุนแรง
เกิดไฟไหม้ง่ายขึ้น
นกจะเข้ามาอาศัยตามวัด/บ้านเรือน
การประมง
ปลาตามธรรมชาติจะตาย
ปลาในกระชังเลี้ยงไม่ได้
ปลาตามบ่อเลี้ยงไม่ได้
ปลาน้ำจืดขาดแคลนมีราคาสูง
นกน้ำจะล้มตาย
พายุ ถ้ามีจะรุนแรงมาก
น้ำท่วมจะท่วมเฉพาะพื้นที่
ปศุสัตว์
การเลี้ยงสัตว์ในทุ่งทำไม่ได้อีกต่อไป
โรงเลี้ยงจะร้อนมาก สัตว์จะตาย
อาจจะมีโรคระบาดแปลกๆ เกิดขึ้น
ราคาเนื้อสัตว์จะแพง
เนื้อสดที่ขายตามตลาดจะเน่าเสียเร็ว เนื่องจากอากาศที่ร้อน
การเกษตร
ไม้ผลจะตายหรือไม่มีผลผลิต
พืชไร่ที่ใช้น้ำมากอย่าง เช่นข้าว จะเหลือที่ปลูกน้อย
ดินจะแข็งไถยากขึ้น
ผลผลิตพืชทุกชนิดจะลดลงราคาอาจสูงขึ้น
วัชพืชจะเกิดได้เร็ว
อาจมีโรคอุบัติใหม่
ผลไม้ที่เก็บแล้วจะสุกเร็วมาก
ระยะเวลาที่เกษตรกรอยู่ในไร่จะน้อยลง ทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง
น้ำกินน้ำใช้
ขาดแคลนไม่พอใช้
ไม่มีเลย
คุณภาพน้ำไม่ดี
ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจ หากเกิดขึ้นยาวนาน 3 ปีขึ้นไป ต้องปรับตัว (Adaptation) ด้วยการจัดทำยุทธวิธี ดังนี้
ติดตามประเมินสถานการณ์รายวัน และสรุปแบบรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปีเพื่อให้ทราบและเข้าใจในภาพรวม
จัดทำแถลงการณ์ ประกาศสถานการณ์พื้นที่ภัยพิบัติ มีการประชาสัมพันธ์ให้ขาวที่แม่นยำ ชัดเจน เข้าใจง่าย โดยมีการเดินทางไปตรวจสอบยืนยันว่าอยู่ในสภาวะที่ต้องประกาศการเตือนภัย
เตรียมแผนเผชิญเหตุ เพื่อลดผลกระทบ
เตรียมทำแผนช่วยเหลือฟื้นฟูและเยียวยา
เตรียมทำแผนการปรับตัว (Adaptation) สำหรับระยะยาว
จัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อระดมความคิดและจัดทำคลังข้อมูลแห่งชาติ
ประสานข้อมูลจากต่างประเทศ
ให้ใช้ระบบเทคโนโลยีสาระสนเทศให้เกิดประสิทธิภาพที่สุดและใช้ระบบเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารข้อมูล
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ