สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก2 บูมศก.ไทย-มาเลย์

ภายหลังจากโครงการการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส-เปิงกาลันกูโบร์ รัฐกลันตัน มาเลเซีย ต้องชะลอไว้ก่อน เพราะมาเลเซียแจ้งว่ามีปัญหางบประมาณ ทำให้การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส-รันเตาปันยังรัฐกลันตัน ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาประเด็นอีกครั้ง
 
สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ตากใบ เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้กรอบคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียหรือ JDS, แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) และแผนงานพัฒนาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยฝ่ายไทยรับผิดชอบออกแบบสะพาน ความยาว 1.134 กิโลเมตร ระยะทางรวม 11.44 กิโลเมตร (ฝั่งไทย 7.82 กิโลมตร ฝั่งมาเลเซีย 3.67 กิโลเมตร)
 
จุดเริ่มต้นโครงการที่จุดตัดสามแยกตากใบ ระหว่างทางหลวงหมายเลข 4084 กับ 4157 จังหวัดนราธิวาส ประเทศไทยสิ้นสุดโครงการที่จุดตัดสามแยกระหว่างทางหลวงรัฐหมายเลข D134 กับ D176 บริเวณบ้าน Kok Semru ประเทศมาเลเซีย รวมระยะทางโครงการ 10.6 กิโลเมตร
 
การออกแบบสะพานเสร็จแล้ว พร้อมจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ส่งมอบแก่มาเลเซียพิจารณา ตั้งแต่ปี 2559 แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ล่าสุดมาเลเซียแจ้งในที่ประชุม IMT-GT เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา มีข้อจำกัดงบประมาณ จึงขอชะลอโครงการ และจะพิจารณาโครงการหลังเสร็จการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก กับรันเตาปันยัง แห่งที่ 2 ก่อน
 
สำหรับการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส-รันเตาปันยัง รัฐกลันตันมีมติ ครม. 1 ธันวาคม 2552 ลักษณะโครงการภายใต้กรอบ JDS, IMT-GT และแผนงานพัฒนาของ ศอ.บต. ดำเนินการออกแบบโดยมาเลเซีย มีความยาวสะพาน 116 เมตร คู่ขนานกับสะพานเดิมด้านทิศตะวันตกงบประมาณฝ่ายไทย 160 ล้านบาท และเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ฝ่ายมาเลเซียขอเข้าสำรวจพื้นที่ฝั่งไทย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยจึงเสนอช่วยเก็บข้อมูลให้ ต่อมาในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ไทย-มาเลเซีย ได้ร่วมสำรวจพื้นที่และสรุปการปรับแก้ไขแบบ คาดว่ามาเลเซียจะส่งแบบให้ไทยพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายนนี้และจะมีการจัดประชุมด้านเทคนิคร่วมไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 4 ในช่วงปลายปีนี้
 
สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) กล่าวว่า จากการประชุมตามข้อสั่งการของ กพต. ณ ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก มีมติอยากให้มีการดำเนินการก่อสร้างสะพานคู่ ณ ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลกขึ้น เนื่องจากพบว่าการค้าขาย การส่งออกสินค้าจากไทยสู่มาเลเซียมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยข้อมูลในปี พ.ศ.2560 พบว่าไทยนำเข้าสินค้า 2,000 ล้านบาท การส่งออกสินค้าอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท และปี 2566 การนำเข้าสินค้าอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท การส่งออกสินค้าเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมช่วงโควิดมีรายได้ 1,000 ล้านบาท ขณะนี้ปรับเป็น 1,400 ล้านบาท การก่อสร้างสะพานคู่ ณ ด่านศุลกากรเป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกการสัญจร ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจะอาศัยงบประมาณก่อสร้างจากทั้งสองประเทศ โดย กพต.จะเข้าเร่งประสานงานการก่อสร้างอย่างเร็วที่สุด
 
ส่วนการสร้างสะพาน ณ ด่านศุลกากรตากใบนั้น สมศักดิ์ บอกว่ากำลังอยู่ในช่วงการพิจารณา เนื่องจากในการก่อสร้างจำเป็นต้องยกถนนมีระยะทางความยาวเกือบ 2 กิโลเมตร ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลปี พ.ศ.2560 ไทยมีมูลค่าจากสินค้าส่งออกกว่า 320 ล้านบาท แต่ทุกวันนี้รายได้ส่วนนี้กลับขาดหายไป เนื่องจากในเรื่องของการขนส่งนั้น จุดด่านศุลกากรตากใบจะเป็นลักษณะของการใช้แพขนานยนต์ขนส่งระหว่างประเทศ บางครั้งหากแพขนานยนต์ชำรุด จำเป็นต้องงดให้บริการชั่วคราว ได้รับผลกระทบในการขนส่ง ไม่ทันตามระยะเวลากำหนด เป็นสาเหตุทำให้การขนส่งสินค้าผ่านเเพขนานยนต์ไม่เป็นที่นิยม
 
มองว่าแผนการก่อสร้างสะพานนี้จะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาในเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศบริเวณด่านศุลกากรตากใบได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ในด้านการก่อสร้างก็ต้องอาศัยความร่วมจากทั้งสองประเทศด้วยŽ สมศักดิ์กล่าว
 
เมื่อแผนจะเดินหน้าในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยังพักไว้ก่อนยังต้องมีการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ควบคู่ไปด้วยเพราะสภาพพื้นที่บริเวณด่านพรมแดนสุไหงโก-ลกที่แม้จะเป็นที่ดินของการรถไฟฯ แต่พื้นที่ดังกล่าวได้มีประชาชนเข้ามาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก
 
ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้นั้น ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต.รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต. ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ ศอ.บต. เพื่อพิจารณาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสะพานสุไหงโก-ลก-รันเตาปันยังแห่งที่ 2 เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่การรถไฟแห่งประเทศไทยชาวบ้านเข้ามาบุกรุกสร้างบ้านพักอาศัยเป็นระยะเวลานาน ซึ่ง ศอ.บต.ได้เตรียมแก้ปัญหาแล้ว โดยจะร่วมกับ จ.นราธิวาส และผู้ที่เกี่ยวข้อง จัดการประชุมเพื่อหารือการจัดทำข้อเท็จจริง รวมทั้งข้อเสนอการจัดตั้งกลไกการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ในการจัดทำข้อมูลแนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการร่วมกัน และเสนอกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการและขับเคลื่อนงานตามมติ โดยกำหนดกรอบ 1 ปี
 
ส่วน โนรีซา มะแซ ประธานชุมชนหัวสะพาน เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อธิบายว่า ชุมชนหัวสะพานมี 86 ครัวเรือน คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างสะพานมีประมาณ 10 ครัวเรือน เป็นบ้านพักอาศัย ร้านขายก๋วยเตี๋ยว โรงจอดรถ และบ้านที่ผุพังแต่มีเจ้าของ ก่อนหน้านี้ทราบบ้างแล้วมีแผนก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 มีบ้านเรือนในชุมชนในแนวเขตก่อสร้าง แต่เวลาผ่านมานานคิดว่าเป็นข่าวลือ ล่าสุดเริ่มเห็นความชัดเจนหลายครอบครัวเริ่มวิตกจะไปอยู่ไหน จะได้รับการเยียวยาหรือไม่ จึงขอให้ภาครัฐทำความเข้าใจโดยเร็วที่สุด
 
การผลักดันสร้างสะพานแห่งนี้ในมุมของภาคธุรกิจนั้น กิตติ หวังธรรมมั่ง ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส ขานรับผลักดันการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 เพราะจะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ชายแดนจากช่องทางการคมนาคมที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการแสดงออกอย่างชัดเจนของรัฐบาลในการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐกลันตัน และรัฐตรังกานู มาเลเซีย จะส่งผลดีต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ
 
หากรัฐบาลเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงงานอุตสาหกรรมประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หากทำได้เศรษฐกิจในพื้นที่เดินหน้า ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ และยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนพื้นที่หลุดจากความยากจนŽ กิตติระบุ
 
ขณะที่ ดวงพร ฉัตรชัยพัฒน์ ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไปมาเลเซีย มองว่า ถ้าผลักดันสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 จะเพิ่มความคล่องตัวนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยเฉพาะผลไม้สดที่ต้องส่งออกให้ทันกับความสด ส่วนช่วงเทศกาลสำคัญจะพบว่ามีรถติดหนาแน่นต้องใช้ระยะเวลานานกว่า หากมีสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 จะทำให้การเดินทางสะดวกสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย
 
เป็นความหวังที่จะสร้างความคึกคักแก่เศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
 
ที่มา : มติชนออนไลน์
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)