Green Horizons ไทย-เวียดนาม: ร่วมสร้างโลกแห่งพลังสีเขียว (ตอนที่ 2)

การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่โดดเด่น ส่งผลให้การลงทุนด้านพลังงานมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเวียดนามยังมีนโยบายเตรียมพร้อมสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ พลวัตดังกล่าวเปิดโอกาสความร่วมมือระหว่างไทย-เวียดนามในการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานที่ยั่งยืน
 
ท่านทูตฯ นิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานของเวียดนาม ตอนนี้ สิ่งที่เป็นปัจจัยหลักที่เราต้องคำนึงถึง คือ การที่เวียดนามประกาศนโยบายที่เวทีประชุม COP26 ว่า เวียดนามจะเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ดังนั้น ความมุ่งมั่นนี้จะเป็นรากฐานในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของเวียดนามทั้งหมด โดยสะท้อนออกมาในสิ่งที่เรียกว่า แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP 8)
 
แผนพัฒนาฯดังกล่าว มุ่งเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 150,000 เมกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2573 เป็นพลังงานหมุนเวียนประมาณ 39% และในปี พ.ศ. 2593 เวียดนามจะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั้งหมด โดยเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากถ่านหินไปสู่พลังงานอื่นแทน เช่น พลังงานชีวมวล และพลังงานแอมโมเนีย
 
นอกจากนี้ เวียดนามยังให้ความสำคัญกับการใช้ก๊าซ LNG ต่าง ๆ พลังงานชีวมวล พลังงานน้ำ รวมทั้งพลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ ภายในปี พ.ศ. 2593 การใช้ก๊าซ LNG ทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฮโดรเจนแทน
 
เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย มองว่า แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติฉบับที่ 8 มีนัยสำคัญ เพราะเป็นการวางแผนแบบระยะยาว ระยะกลาง และระยะสั้น โดยทิศทางของนโยบายการผลิตพลังงานเวียดนามจะเป็นแบบดำเนินไปทีละขั้น แล้วถึงจะไปสู่สั่งคมปลอดคาร์บอน (Carbon Free Society)
 
ดังนั้น แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติฉบับที่ 8 จึงมีความสำคัญต่อนักลงทุนไทย เนื่องด้วยไทยเป็นนักลงทุนอันดับ 9 ในเวียดนาม และการลงทุนทั้งหมดประมาณ 1 ใน 3 ของไทยอยู่ในส่วนของพลังงานทดแทน จึงอาจนับได้ว่า นักลงทุนไทยเป็นผู้เล่นสำคัญในการที่ช่วยให้เวียดนามบรรลุเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ที่ตั้งไว้ อีกทั้งการเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันยังส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่ายด้วย
 
ไทย-เวียดนาม กับการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน  
การร่วมมือในการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานระหว่างไทยและเวียดนามเป็นไปในทิศทางที่เติบโตและยั่งยืน ดังจะเห็นได้จากโครงการที่ทั้งสองประเทศได้จัดขึ้นร่วมกันเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย
 
“ไทยกับเวียดนามมีโครงการที่สำคัญระหว่างกันอยู่ โดยเป็นโครงการที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เป็นผู้ผลักดัน โครงการแรก คือ การจัดให้สองฝ่าย มี Thailand-Vietnam Energy Forum ซึ่งจัดมาแล้ว 2 ครั้ง เป็นการนำเอาหน่วยงานด้านพลังงานของสองฝ่ายมาพูดคุยกัน ขณะที่ของไทยต่างก็มีเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นความต้องการของแต่ละฝ่ายนำโดยกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT และภาคเอกชน” ท่านทูตฯ นิกรเดชยังเล่าต่อไปว่า
 
นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังได้ริเริ่มโครงการที่เรียกว่า Emerging Leaders คือ การพาผู้นำยุคใหม่ของเวียดนามมาเยือนไทยทุกปี ซึ่งปีที่ผ่านมาได้จัดในแนวคิด Partnership for Sustainable Energy โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้นำผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามมาศึกษาดูงานในไทย รวมไปถึงที่โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ซึ่งเป็นโมเดลแบบ Wind Hydrogen Hybrid (การเก็บกักพลังงานในรูปของไฮโดรเจนก่อนนำมาผลิตไฟฟ้า)
 
อีกทั้งยังมีกิจกรรม Meet Thailand ซึ่งเป็นการจัดให้ผู้นำของจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งเอกชนของเวียดนาม มาพบเจอคนไทย นักลงทุนไทย และนักธุรกิจไทย ทั้งนี้ ไทยยังมีความร่วมมือด้านพลังงานกับเวียดนามที่สำคัญ คือ โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ Block B-Omob ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเป็นโครงการ Gas to Power ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามด้วย
 
 
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การลงทุนจะเป็นหนทางสู่ความมั่นคงและการเติบโตทางธุรกิจ แต่การลงทุนก็มีความเสี่ยง หากขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอาจนำไปสู่การขาดทุนได้ เอกอัครราชทูตไทยได้ให้คำแนะนำเรื่องสำคัญและความท้าทายที่นักธุรกิจไทยต้องศึกษาและทำความเข้าใจอย่างความรอบคอบก่อนเข้ามาทำธุรกิจพลังงานที่เวียดนาม 2 ประการ ดังนี้
 
ศึกษากฎหมายเวียดนามให้ถี่ถ้วน รวมถึงศึกษาหุ้นส่วนว่า ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลเวียดนามหรือไม่
 
การขาดแคลนไฟฟ้าของเวียดนาม ด้วยเวียดนามเป็นประเทศที่่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกสูง ดังนั้น ความต้องการการใช้ไฟฟ้าก็สูงขึ้นตามไปด้วย
ด้านการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พูดคุยประเด็นเรื่องพลังงานกับนายกรัฐมนตรีเวียดนามเมื่อครั้งล่าสุดที่มาเยือน โดยเวียดนามยินดีต้อนรับการลงทุนของไทยและพร้อมมากที่่จะให้การดูแลโครงการต่าง ๆ ของไทย และท้ายที่สุดในฐานะเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย ทีมไทยแลนด์ทั้งฮานอยและโฮจิมินห์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI (Board of Investment) สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) และศูนย์ข้อมูลเพื่่อธุรกิจไทยในเวียดนาม (BIC) ต่างก็พร้อมสนับสนุนการลงทุนของไทยผ่านการให้ข้อมูลในเบื้องต้นและให้แนวทางแก้ปัญหาเมื่อเกิดอุปสรรคในการลงทุน
 
การเดินหน้าขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดของเวียดนามภายใต้แผนพัฒนาไฟฟ้าแห่งชาติฉบับที่ 8 ถือเป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับนักลงทุนทั่่วโลก รวมทั้งนักลงทุนไทย และไม่ใช่เพียงแค่การสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น หากแต่ยังเป็นโอกาสในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานของทุกคนในอนาคตด้วย
 
คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
 
 
ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)