"เวียดนาม" ชวดเงินบริจาคหลายหมื่นล้าน เซ่นปม "กวาดล้างคอร์รัปชั่น"
"เวิลด์แบงก์" เผยเวียดนามสูญเงินช่วยเหลือจากต่างชาติแล้วหลายพันล้านดอลลาร์ จากพลพวงการกวาดล้างทุจริตครั้งใหญ่ ทำเอาข้าราชการไม่กล้าเซ็นโครงการ ฉุดเงินบริจาคหด-ลงทุนพลาดเป้า
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างจดหมายที่ ธนาคารโลก (World Bank) และกลุ่มผู้บริจาคเงินชาติตะวันตกแจ้งต่อรัฐบาลเวียดนาม ว่า เวียดนามได้สูญเสียเงินช่วยเหลือจากต่างชาติแล้วอย่างน้อย 2.5 พันล้านดอลลาร์ (กว่า 9 หมื่นล้านบาท) ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และอาจต้องสูญเงินช่วยเหลือจากต่างชาติอีก 1 พันล้านดอลลาร์ (ราว 3.6 หมื่นล้านบาท) จากผลพวงของภาวะชะงักงันด้านการบริหาร
จดหมายฉบับดังกล่าวซึ่งลงวันที่ 6 มี.ค. 2567 ได้ตอกย้ำให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติ "ไม่พอใจ" เกี่ยวกับอุปสรรคด้านกฎระเบียบและขั้นตอนอันยาวนานที่ส่งผลให้เกิดภาวะติดขัดเป็นเวลานาน ในขณะที่เวียดนามกำลังตกอยู่ภายใต้วาระ "การกวาดล้างการคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่" ที่ทวีความรุนแรงและทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง
"เงินทุนเพื่อการพัฒนาประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์อยู่ระหว่างการรออนุมัติ และมีอีก 2.5 พันล้านดอลลาร์ถูกส่งคืนเนื่องจากเงินทุนหมดอายุ" เนื้อความในจดหมายที่ส่งถึงฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนามระบุ
จดหมายดังกล่าวนับเป็นการส่งสัญญาณว่า เวียดนามอาจสูญเสียเงินสนับสนุนที่คิดเป็นเกือบ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่เงินทุนที่หมดอายุอาจทำให้โครงการที่มีความจำเป็นต้องล่าช้าออกไปอีก เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยกลุ่มผู้บริจาคได้เน้นย้ำในจดหมายว่า เวียดนามอาจสูญเสียเงินทุนอีกมาก เนื่องจากถูกขัดขวางโดยกระบวนการอนุมัติที่ยืดเยื้อ
รายงานระบุว่า มาตรการต่อต้านการทุจริตขนานใหญ่ในเวียดนามที่มีการจับกุมผู้เกี่ยวข้องไปเป็นจำนวนมาก ได้ก่อให้เกิดภาวะชะงักงันขึ้นในประเทศ บรรดาข้าราชการพากันชะลอการอนุมัติหรือดำเนินการขั้นต่อไป เพราะวิตกกังวลว่าจะละเมิดกฎระเบียบที่มีความซับซ้อนโดยไม่ได้ตั้งใจ
นอกจากจะกระทบกับเงินบริจาคของต่างชาติแล้ว การลงทุนของรัฐบาลก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยข้อมูลของกระทรวงการคลังเวียดนามพบว่า ภาวะดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลพลาดเป้าการลงทุนไปถึงราว 19,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 6.87 แสนล้านบาท) ระหว่างปี 2564 - 2566 หรือประมาณ 1 ใน 3 จากเป้าหมายการลงทุนที่วางเอาไว้เดิม
ทั้งนี้ ในบรรดาคนที่ถูกดำเนินคดีจากการกวาดล้างคอร์รัปชั่นรวมถึง "เจือง มาย หลั่น" อดีตเจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์เจ้าของบริษัท Van Thinh Phat Group ในคดีเกี่ยวกับการฉ้อโกงและทุจริตธนาคารไซ่ง่อน คอมเมอร์เชียล แบงก์ (SCB) ที่เจ้าตัวถูกตัดสินประหารชีวิต แต่กำลังอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์
ส่วนในเชิงการเมืองนั้นก็เกิดแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่จนมีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีไปแล้วถึง 2 คน คือ ประธานาธิบดี "เหวียน ซวน ฟุก" ที่ลาออกในเดือน ม.ค. 2566 และประธานาธิบดี "หวอ วัน เถือง" ที่ลาออกเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2567 และล่าสุดประธานรัฐสภาเวียดนาม "เวือง ดิ่งห์ เหวะ" ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ผู้ช่วยของเขาถูกจับกุมเกี่ยวกับคดีรับสินบน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ