ธุรกิจเบียร์ของกลุ่ม "ไทยเบฟ" ในเวียดนาม ยอดผลิตลดลง 19%

"ไทยเบฟ" เผชิญชะตากรรมเดียวกับ "ไฮเนก้น" สำหรับการทำธุรกิจเบียร์ในประเทศเวียดนาม เมื่อกฎหมาย "เมาแล้วขับ" ของรัฐบังคับใข้หลายปี การรณรงค์ รวมถึงตรวจเข้มของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนพฤติกรรมคอทองแดงเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตเบียร์ดิ่ง!
 
สถานการณ์ตลาดเบียร์ในเวียดนามไม่สู้ดีนัก เมื่อมีกระแสข่าวบิ๊กเบียร์ระดับโลก “ไฮเนเก้น” หยุดการดำเนินงานของโรงเบียร์ 1 แห่ง จาก 6 แห่ง หลังเผชิญตลาดเบียร์หดตัว กฎหมายเข้ม และพฤติกรรมคอทองแดงเปลี่ยน
 
ไม่เพียงไฮเนเก้นที่กระทบ เพราะอีกหนึ่ง “ยักษ์ใหญ่” อย่าง “ไทยเบฟเวอเรจ” ก็เจอความท้าทายไม่ต่างกัน
 
ไทยเบฟ เป็นผู้ผลิตน้ำเมาสัญชาติไทยที่นับวันการเติบโตขยายสู่ภูมิภาคระดับเอเชีย โดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ Market Cap รั้งท็อป 10 เทียบบรรดายักษ์ใหญ่เครื่องดื่มในประเทศจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฯ
กลุ่มธุรกิจหลักของไทยเบฟ มีเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจอาหาร ทว่า ศักยภาพการทำรายได้ กำไร “เหล้า-เบียร์” ยังคงนำโด่ง หนึ่งในความพยายามของบริษัทคือการ “เบ่งเบียร์” ให้เติบใหญ่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา หลังจากไทยเบฟทุ่มเงินหลัก “แสนล้านบาท" ซื้อหุ้นของ บริษัท ไซ่ง่อนเบียร์ แอลกอฮอล์เบฟเวอเรจคอร์เปอเรชั่น หรือซาเบโก้(SABECO) ในประเทศเวียดนาม เป็นทางลัดทำให้ขึ้นเป็น “เบอร์ 1 เบียร์” ของอาเซียน ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด
 
 
โรงเบียร์เวียดนามยอดผลิตดิ่ง 19%
สถานการณ์เบียรในเวียดนาม ภายใต้ SABECO ช่วงครึ่งปีแรก การผลิตหดตัวสูงถึง 19% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน รวมถึง “กำไร” ของโรงเบียร์ก็ลดลง ซึ่งปัจจุบันโรงเบียร์ของบริษัทมีทั้งสิ้น 17 แห่ง
 
ผลกระทบที่ทำให้ยอดผลิตเบียร์ลดลง เนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมาย “เมาแล้วขับ” อย่างเข้มงวด ซึ่งประเทศเวียดนามได้มีการกำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ไว้ที่ระดับ “ศูนย์”
 
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนธุรกิจเบียร์ในเวียดนาม ยังโฟกัส 3 ด้าน 1.มุ่งความเป็นเลิศในการค้าขาย มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เช่น งานเทศกาลดนตรี เพลงฯ 2.การมุ่งสร้างประสิทธิภาพห่วงโซ่การผลิต ทั้งยกระดับมาตรฐานการผลิต เพิ่ประสิทธิภาพคลังสินค้าและการขนส่ง 3.การพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
ลุยลงทุนโรงเบียร์ที่กัมพูชา
ท่ามกลางตลาดเบียร์ใน 2 ฐานทัพสำคัญมีโจทย์ให้ต้องแก้ ทั้งเวียดนามที่กำไรลดลง ส่วนในไทยยังเป็น “ผู้ตาม”
 
ทว่า ภารกิจสร้างโอกาสเติบโตในต่างแดนของไทยเบฟ ยังเดินหน้า ล่าสุดบริษัทได้ลงทุนก่อสร้างโรงเบียร์ที่ประเทศกัมพูชา
 
ตามแผนงานของบริษัทที่ประกาศเมื่อปี 2566 จะใช้เงินราว 7,000 ล้านบาท ขยายการลงทุน ส่วนหนึ่งแบ่ง 4,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ รวมถึงมีสายการผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในกัมพูชานั่นเอง
 
เบียร์ครึ่งปี 67 กำไรยังดี แม้บริโภคลดลง 5.7%
สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 (ปีงบประมาณ ต.ค.66-ก.ย.67) ไทยเบฟ สร้างรายได้จากการขายอยู่ที่ 147,742 ล้านบาท ลดลง 0.4% และมี “กำไรสุทธิ” 16,917 ล้านบาท ลดลง 4.9%
 
โดยธุรกิจเบียร์มีสัดส่วนรายได้ 42.3% และการทำกำไรมีสัดส่วน 16.9% ยอดขายเบียร์ครึ่งปีแรกมีมูลค่า 62,523 ล้านบาท ลดลง 3% และ “กำไรสุทธิ” 2,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% เชิงปริมาณขายอยู่ที่ 1,114 ล้านลิตร ลดลง 5.7%
 
ตลาดในประเทศหวังฟื้นตัวจากท่องเที่ยว
ไทยเบฟ รายงานสถานการณ์ที่เอื้อต่อตลาดเบียร์ในไทยเติบโต มาจากปัจจัยการท่องเที่ยวที่ไทยมีมาตรการ “วีซ่าฟรี”(Visa-Free)ระหว่างไทย-จีนตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา การบูมเทศกาลมหาสงกรานต์ช่วงเดือนเมษายนและจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น 43% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
 
บริษัทยังมีกลยุทธ์ผลักดันการเติบโต ซึ่ง “เบียร์” ของไทยเบฟ งัด 6 สูตรสู้สำหรับ "เบียร์ช้าง" ได้แก่ 1.เสริมความแกร่งการเป็น “ผู้นำตลาด” ด้วยการขยายช่องทางจำหน่ายทั้งร้านค้าทั่วไปและร้านสะดวกซื้อ รวมถึงการมีสินค้ารูปแบบใหม่ๆทั้งกระป๋องขนาด 490 มิลลิลิตร(มล.) และขวดแก้ว 320 มล. อีกด้านการตลาดที่มุ่งสร้างเอนเกจเมนต์กับผู้บริโภคผ่านหลากแพลตฟอร์มทั้งเพลง ฟุตบอล และ “อาหาร” ซึ่งจะเห็นในเร็วๆนี้
 
2.การตอกย้ำพอร์ตโฟลิโอพรีเมียม ผ่านช้าง โคลด์ บรูว์ ด้วยการทำกิจกรรมต่างๆสร้างความตื่นเต้น และกระตุ้นการลอง ทั้งแคมเปญแคมป์ปิ้ง อิงกีฬากอล์ฟ ปรับแพ็คเกจจิ้ง รวมถึงลุยทำตลาดเฟเดอร์บรอย ช้างอันพาสเจอร์ไรส์ แต่ก็ไม่ละทิ้งตลาดแมส(Economy)และเซ็กเมนต์พิเศษ อย่างเบียร์อาชา แบล็ค ดราก้อน แทปเปอร์ ฯ
 
3.ด้านความเป็นเลิศในการดำเนิน ทั้งมิติการผลิตสินค้า ห่วงโซ่การผลิต การใช้จ่ายงบโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การบริหารยอดขายสุทธิต่อจำนวนพนักงานต่อปี 4.การทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยี และ5.การลงทุนด้านบุคลากร ทั้งการเปลี่ยนผ่านตัวแทนการขายไปสู่การวิเคราะห์การขายของพนักงานด้วยเครื่องมืออันชาญฉลาด มีการพัฒนาพนักงาน สร้างเอนเกจเมนต์กับพนักงาน เป็นต้น และ6.ขับเคลื่อนธุรกิจคู่ความยั่งยืน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
 
 

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)