9 บิ๊กการ์เมนต์ไทยตีปีก รับอานิสงส์ FTA อียู-เวียดนาม
9 บิ๊กการ์เมนต์ไทยในเวียดนามตีปีกรับอานิสงส์เอฟทีเออียู-เวียดนามมีผลบังคับใช้ คาดปี 2563 ส่งออกพุ่งมากกว่า 2 หมื่นล้าน ชี้ฐานผลิตการ์เมนต์ในไทยสะเทือนแต่น้อยกว่าจีน
จากข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)สหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA)ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2563 ได้สร้างความวิตกให้กับหลายกลุ่มสินค้าไทยที่เป็นคู่แข่งกับสินค้าเวียดนามในตลาดสหภาพยุโรป(อียู) จากสินค้าเวียดนามที่ได้เปรียบราคาต่ำกว่าอยู่แล้ว จะยิ่งได้เปรียบการแข่งขันสินค้าไทยเพิ่มขึ้น จากอัตราภาษีนำเข้าที่อียูจะเรียกเก็บจากเวียดนามโดยส่วนใหญ่จะลดลงเป็น 0% ขณะที่สินค้าไทยที่ถูกอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)มาหลายปีแล้ว ต้องเสียภาษีนำเข้าอียูในอัตราสูงนั้น อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งทำให้ผู้ประกอบการของไทยที่ได้ไปลงทุนในเวียดนาม และส่งออกไปอียูพลอยได้รับอานิสงส์จาก EVFTA ในครั้งนี้ด้วย
นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การมีผลบังคับใช้ของเอฟทีเอสหภาพยุโรป-เวียดนามครั้ง ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม(การ์เมนต์)ของไทยที่ได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามก่อนหน้านี้ และหลายรายมีการขยายการลงทุนจะ ได้รับอานิสงส์การส่งออกสินค้าไปตลาดอียูด้วย จากภาษีนำเข้าที่จะลดลงเป็น 0% ขณะที่สินค้าเครื่องนุ่งห่มที่ผลิตในประเทศไทยและส่งออกไปตลาดอียูต้องเสียภาษีนำเข้าเฉลี่ยที่ 12.5% ทำให้ยิ่งเสียเปรียบในการแข่งขัน
“กลุ่มสิ่งทอและการ์เมนต์ไทยที่ไปลงทุนในเวียดนามเวลานี้มี 6-7 บริษัท มีโรงงานรวมกัน 9 โรง อาทิ ไนซ์กรุ๊ป ลิเบอร์ตี้กรุ๊ป ฮงเส็งกรุ๊ป โอเรียนตอลการ์เมนท์ กลุ่มนันยางการ์เมนท์ กลุ่มไทย พาฝัน เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มทุนไทยที่ไปลงทุนด้านสิ่งทอและการ์เมนต์ในเวียดนามมีมูลค่าการส่งออกจากเวียดนามไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ อียู รวมกันกว่า 2 หมื่นล้านบาท การมีผลบังคับใช้ของเอฟทีเออียู-เวียดนามในครั้งนี้หลายรายคงเพิ่มส่งออกไปตลาดอียูมากขึ้นในปีนี้ รวมถึงในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งจะทำให้ทุกรายรวมกันมีมูลค่าการส่งออกจากเวียดนามมากขึ้นตามลำดับ”
อย่างไรก็ดีส่วนตัวมองเอฟทีเอสหภาพยุโรป-เวียดนามจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกการ์เมนต์จากฐานผลิตในไทยไปตลาดอียูไม่มาก เพราะสินค้าที่ไทยผลิตส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และมีการตัดเย็บที่ยากกว่า เช่นสินค้าเสื้อผ้ากีฬาที่มีฟังก์ชั่น มีการตัดต่อ มีหลากสีและใช้การพิมพ์ที่ยากกว่า ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยสัดส่วนกว่า 50% เป็นชุดเสื้อผ้ากีฬาของแบรนด์เนมดัง ๆ ที่เหลือเป็นชุดชั้นในชายและสตรี ชุดเสื้อผ้าเด็ก ชุดนอน ซึ่งคู่ค้ายังต้องซื้อจากประเทศไทย แต่ที่คาดว่าจะกระทบมากจากเอฟทีเอสหภาพยุโรป-เวียดนามในครั้งนี้ คือสินค้าเครื่องนุ่งห่มจากจีนที่ผลิตสินค้าใกล้เคียงกับเวียดนาม ซึ่งจากภาษีนำเข้าเป็น 0% ผู้ซื้อจากอียูอาจย้ายคำสั่งซื้อไปเวียดนามมากขึ้น
สำหรับในปี 2562 ไทยมีการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่ม มูลค่า 2,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4% โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เบลเยียม จีน และสหราชอาณาจักร สัดส่วน 37, 15, 8, 5, และ 4% ตามลำดับ
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563