จีดีพีเวียดนามจ่อแซงไทย จี้รัฐเร่งเครื่องร่วมวง CPTPP

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้สะท้อนมุมมองผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” โดยสนุนรัฐบาลในการผลักดันไทยเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP ด้วยเหตุและผล ดังนี้
 
การหยั่งเสียงเลือกตั้งในสหรัฐฯที่ผ่านมา ดูเหมือนอดีตรองประธานาธิบดี Joe Biden น่าจะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตที่จะไปแข่งกับทรัมป์ในที่สุด และน่าจะมีโอกาสชนะเพราะหากการระบาด COVID-19 เป็นไปต่อเนื่องนานกว่า 4-6 เดือน เศรษฐกิจสหรัฐฯจะไม่ดี ทรัมป์จะแพ้เลือกตั้ง
 
ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ประธานาธิบดีจะไม่ได้รับเลือกเป็นสมัยที่ 2  หากเศรษฐกิจในปีที่มีการเลือกตั้งไม่ดี ตัวอย่างเช่น Jimmy Carter ขณะเป็นประธานาธิบดีพ่ายแพ้ให้ Ronald Reagan เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯปีนั้นไม่ดี และหาก Joe Biden ได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป การหวนกลับมาของนโยบายที่อดีตประธานาธิบดี Obama ได้ทำไว้ย่อมเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ว่าจะต้องเกิดขึ้น โดยเฉพาะ TPP (Trans Pacific Partnership ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP) ซึ่งนับว่าเป็นผลงานชิ้นเอก แต่ได้ถูกทรัมป์ระงับไป ถ้าสหรัฐฯหวนกลับมาร่วม TPP อีกครั้ง
 
ความตกลงนี้จะมีความสำคัญกับไทยมากกว่า RCEP เพราะมีสหรัฐฯอยู่ ประเทศสมาชิก RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership)ส่วนใหญ่ล้วนมีสินค้าที่ผลิตใกล้เคียงกัน แข่งขันกันเอง แต่สหรัฐฯนั้นแตกต่าง ตลาดสหรัฐฯสำคัญต่อไทยมาก เพราะที่ผ่านมาไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มาก และตลาดนี้เป็นตลาดส่งออกของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากจีนที่เป็นอันดับ 1  แต่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมาโดยตลอดแต่ขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอดเช่นกัน
 
การขาดดุลการค้ากับจีนเกิดขึ้นเพราะสินค้าที่ไทยผลิตกับที่จีนผลิตคล้าย ๆ กัน เท่ากับว่าไทยแข่งขันกับจีนแล้วแพ้ เช่นเสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณี ชิ้นส่วนรถยนต์ รถยนต์ ฯลฯ ส่วนกับสหรัฐฯ สินค้าที่สหรัฐฯ ผลิตส่วนใหญ่แพ้ไทย และต่างชาติที่เข้ามาลงทุนผลิตสินค้าในไทยก็เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ก็มีมาก คนอเมริกันมีความสามารถในการบริโภคสินค้าจากทั่วโลกมากที่สุดในโลก ไทยจึงค้ากับสหรัฐฯแล้วได้เปรียบกว่า ทำให้เกินดุลการค้าปีหนึ่ง ๆ เฉลี่ยได้มากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 6 แสนล้านบาทต่อปี
 
แต่ที่ผ่านมาไทยน่าจะได้มากกว่านี้ ทั้งนี้เพราะไทยปฎิเสธไม่เข้าร่วมเป็นภาคี TPP  จึงเสียโอกาสไป เพราะหากดูประเทศที่เข้าร่วมจะเห็นได้ว่า ได้รับการลงทุนจากนานาประเทศมากกว่าไทย ทำให้การส่งออกไปสหรัฐฯ ก็เติบโตมากกว่าไทย
 
โดยเฉพาะเวียดนามที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่าไทยตั้งแต่ปี 2014 ไม่กี่ปีหลังจากประกาศร่วมการเจรจาเข้าเป็นภาคี TPP และปีที่แล้ว 2019 เวียดนามส่งออกไปสหรัฐฯ มากถึง 66,680.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าไทย 2 เท่า ไทยส่งออกไปสหรัฐฯเพียง  33,461.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากถึง 55,797.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.73 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าไทย 3 เท่า
 
ในภาพรวมเวียดนามส่งออกสินค้าไปในตลาดโลกมากกว่าที่ไทยส่งออกไปตลาดโลก โดยเวียดนามในปี 2019 ส่งออกไปตลาดโลกมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 264,189 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  เพิ่มขึ้น 8.4% จากปี 2018 เปรียบเทียบกับไทยที่ส่งออกสินค้าไปในตลาดโลกโดยรวม 246,244.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.65% จากปี 2018 ในรูป US dollar
 
แต่หากพิจารณาเป็นรูปเงินบาท ไทยส่งออกไปตลาดโลกปี 2019 เท่ากับ 7.627 ล้านล้านบาท เทียบกับปี  2018 มูลค่าส่งออกรวม 8.108 ล้านล้านบาท  ลดลง 5.93% เพราะเงินบาทนั้นแข็งค่ามากเกินไป ปี 2019 ตัวเลขที่เป็นเงินบาททำให้เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ส่งออกมีรายได้หายไปมากเมื่อแปลงจากดอลลาร์เป็นบาท ปี 2019 นับเป็นปีแรกที่เวียดนามส่งออกไปตลาดโลกมากกว่าไทย โดยในปี 2018 เวียดนามส่งออกรวม 243,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น้อยกว่าไทยปี 2018 ส่งออกรวม 252,760 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและในปี 2019 เวียดนามยังเกินดุลการค้ากับโลกมากถึง 11,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าไทยที่เกินดุล 9,605 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ( FDI) ที่เข้าเวียดนามมากกว่าไทยมาตลอดหลาย ๆ ปี
 
อย่างปี 2019  FDIเข้าเวียดนามมากกว่าไทยมากกว่า 2 เท่า ด้วยเหตุที่ไทยและเวียดนามส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันไปสหรัฐฯ จึงมองได้ว่าเวียดนามแย่งตลาดสหรัฐฯไปจากไทย นอกจากนี้การลงทุนส่วนใหญ่ที่เข้าไปเวียดนามช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็น่าจะได้เข้ามาไทยหากไทยได้เข้าร่วม TPP ตั้งแต่แรก เพราะไทยมีความพร้อมรองรับการลงทุนมากกว่าเวียดนาม ระบบสาธารณูปโภคดีกว่าเวียดนามมาก แต่นักลงทุนต่างประเทศก็หันไปลงทุนในเวียดนามส่วนใหญ่ โดยปี 2019 มีมากถึง 20,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากปี 2018 มากกว่า 31% เปรียบเทียบกับไทยที่ได้รับ FDI จากนักลงทุนต่างประเทศไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเวียดนามและได้รับน้อยกว่าปี  2018 ที่เคยได้มากถึง 10,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
 
ทั้งนี้เพราะไทยไม่ได้ร่วมเป็นภาคี TPP ตั้งแต่แรก นอกจากเรื่องอื่น ๆ ตลาดที่จะรองรับสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพิจารณาของนักลงทุน นักลงทุนเห็นข้อจำกัดเรื่องตลาดการส่งออกหากลงทุนในไทย อีกทั้งมองว่าหากสหรัฐฯหันกลับมาร่วม TPP ด้วยแล้ว การส่งออกจากเวียดนามจะทำได้ดีกว่าไทย ด้วยอัตราภาษีนำเข้าที่เป็นศูนย์สำหรับสินค้าส่วนใหญ่เกือบ 100%ที่ผลิตในเวียดนาม                                                                                                                                   
ธนาคารโลกระบุว่า 2 ปีนี้ คนไทยมีภาวะยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4,850,000 ราย เป็นมากกว่า 6,700,000 ราย ความยากจนนี้เพิ่มขึ้นในปี 2560-2561 กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วไทยในขณะที่คนเวียดนามร่ำรวยขึ้นทุก ๆ ปี เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเร็วเพราะไทยประมาทว่าได้พัฒนาเศรษฐกิจมายาวนานก่อนเวียดนาม อีกไม่นานจีดีพีเวียดนามก็จะแซงไทย เท่ากับว่าคนเวียดนามจะมีรายได้ต่อหัวมากกว่าคนไทย ถ้าไทยยังเพิกเฉยไม่พิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP   
 
การเข้าร่วม CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ในเวลานี้ดีกว่ารอจนหลังจากสหรัฐฯกลับเข้ามา เพราะขณะนี้ความตกลงที่เคยเป็นปัญหาที่ทำให้กลุ่มเอ็นจีโอคัดค้านการเข้าร่วมกว่า 20 เรื่องถูกระงับไป ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา คุ้มครองสิทธิบัตรยาวนานขึ้น เรื่องให้การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาหรือ data-exclusivity 8 ปีสำหรับ biologic drugs เรื่องพันธุ์พืช ฯลฯ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเรียกร้องให้มี และหากสหรัฐฯ จะเข้ามาร่วมหลังจากที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ก่อนแล้ว การขอให้มีการยกเว้นหรือชะลอเพื่อให้ไทยมีเวลาในการปรับตัวอย่างที่เวียดนามได้ย่อมทำได้  แต่หากไทยรอหลังจากสหรัฐฯ เข้าร่วมแล้ว ข้อเรียกร้องใด ๆ ที่ไทยต้องการอาจไม่ได้รับการพิจารณา
 
ทั้งนี้ข้อดีอีกอย่างที่สำคัญสำหรับ CPTPP คือกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) ภายใต้ CPTPP อนุญาตให้ใช้วัตถุดิบในประเทศสมาชิกได้อย่างเต็มที่ ส่งเสริมให้มีการค้าระหว่างกันอย่างกว้างขวาง โดยไม่กำหนดปริมาณขั้นต่ำ แม้มีเพียงน้อยนิดก็นำมาคิดคำนวณได้ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานสำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตง่ายต่อการคิดคำนวณแหล่งกำเนิดสินค้า
 
นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าได้เองโดยไม่ต้องมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามารับรอง หรือต้องรับรองโดยผู้ส่งออก ทั้งนี้ มีระเบียบการที่ผู้นำเข้าต้องมีประวัติที่ดี และได้ขึ้นทะเบียนถูกต้อง แต่ข้อกำหนดนี้เวียดนามได้ขอยกเว้นไม่ให้นำมาใช้จนกระทั่งหลังวันที่ 14 มกราคม 2024 ส่วนประเทศอื่น ๆ ล้วนอนุญาตให้ใช้ได้แล้ว
 
 
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ  
วันที่  10 มีนาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)