กูรูฟันธง! เศรษฐกิจจีน "ฟื้น" สวนทางประเทศอื่น หลังหมดโควิด
บรรดานักวิเคราะห์ทั้งสายการเมืองและเศรษฐกิจ คาดว่า หลังจากผ่านพ้นช่วงการแพร่ระบาดหนักของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 แล้ว จีนเป็นประเทศเดียวที่มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ส่วนประเทศที่เหลือทั่วโลก เศรษฐกิจจะหดตัวกันถ้วนหน้า
ขณะนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนไม่ราบรื่นนัก และส่อเค้าว่าจะมีชนวนเหตุมาทำให้ความสัมพันธ์ของยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลกทั้ง 2 ประเทศนี้ย่ำแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ที่ลงมติบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง และคาดว่าจะบังคับใช้ได้ก่อนเดือน ก.ย.
ในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีน เมื่อวันที่ 28 พ.ค. สมาชิกสภาได้ออกเสียงรับรองญัตติร่างกฎหมายความมั่นคงสำหรับฮ่องกง สภาฯ มีมติ 2,878 เสียง คัดค้าน 1 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
จอร์จ วัตเก ประธานสภาหอการค้ายุโรปประจำกรุงปักกิ่งของจีน กล่าวว่า “เราไม่ต้องการถอนการลงทุนออกจากจีน นี่คือเหตุผลที่ทำไมเราจึงขอเพิ่มความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับจีน”
ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า หลักการของกฎหมายความมั่นคงนี้ มีผลกระทบกับกลุ่มคนที่คิดร้ายหมายพยายามแบ่งแยกดินแดน ล้มล้างอำนาจรัฐ ใช้วิธีก่อการร้าย และกระทำการใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ
นอกจากนี้ รัฐบาลปักกิ่งยังส่งสัญญาณชัดเจนว่า จีนต้องเอาชนะการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้และพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาขยายตัวได้เหมือนก่อนช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด
แน่นอนว่า การส่งสัญญาณแข็งกร้าวของรัฐบาลปักกิ่ง โดยเฉพาะการออกกฏหมายความมั่นคงมาใช้ในฮ่องกง สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะมองว่าเป็นการบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกง ทำให้ฮ่องกงดูเป็นดินแดนที่ถูกครอบงำอย่างเต็มรูปแบบโดยรัฐบาลจีน
ด้าน ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่า สภาคองเกรสของสหรัฐเตรียมเปิดการพิจารณาสถานภาพของฮ่องกงว่ามีอิสรภาพจากรัฐบาลจีน ตามข้อตกลงการส่งมอบคืนฮ่องกงจากรัฐบาลอังกฤษให้กับจีนในปี 2540 ซึ่งอาจส่งผลให้ฮ่องกงสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าที่เคยได้รับจากสหรัฐ และกระทบต่อฐานะศูนย์กลางทางการเงินนานาชาติของฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์มีความเห็นตรงกันว่า ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จะมีการขยายตัวทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง และการถอดถอนสถานภาพพิเศษทางการค้าฮ่องกงของทรัมป์ ก็ไม่มีผลกระทบใด ๆ มากนักกับเศรษฐกิจจีน
“ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนในขณะนี้ค่อนข้างตึงเครียดและส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจ” ทอม ราฟเฟอร์ตี ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของดิ อิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) กล่าว พร้อมระบุว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนได้เปลี่ยนจุดโฟกัสไปที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและขณะนี้เป็นความขัดแย้งทางการเงิน คาดว่าในอนาคตอันใกล้ สหรัฐอาจจะออกมาตรการคว่ำบาตรบริษัทการเงินจีน
ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เผยแพร่รายงานคาดการณ์ล่าสุดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวกว่า 1% ในปีนี้ ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวเกือบ 6% ในปีนี้ ถือว่าจีดีพีสหรัฐหดตัวมากกว่าจีดีพี โดยเฉลี่ยทั่วโลกที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะหดตัว 3%
“กระแสโลกาภิวัฒน์เองก็พยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด โดยเฉพาะการปรับตัวให้สามารถอยู่ได้ท่ามกลางการดิสรัปของเทคโนโลยี ผู้คนยังคงสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในจีนและสร้างส่วนแบ่งตลาดในจีน บริษัทต่าง ๆ ก็ต้องการเข้าไปสร้างโอกาสทางธุรกิจที่นั่น จีนไม่ใช่สถานที่ที่เลวร้ายที่สุดในการทำธุรกิจ แม้ว่าจีนยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสอยู่ก็ตาม” วอลเตอร์ โลห์แมน ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษาของเฮอริเทจ ฟาวน์เดชัน ให้ความเห็น
และเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ทศวรรษที่จีนไม่กำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสถาการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีความไม่แน่นอนอย่างมาก รวมทั้งการพัฒนาของจีนที่กำลังเผชิญกับปัจจัยที่คาดการณ์ไม่ได้
ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน หดตัวลง 6.8% เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรก นับตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูลครั้งแรกเมื่อปี 2535 และขณะนี้ความสนใจกำลังมุ่งไปที่เป้าหมายการเติบโตประจำปี และมาตรการทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐจำนวนมหาศาล ที่สภาจะกำหนด ส่วนอีกเรื่องที่ถูกจับตามองคือ งบประมาณด้านการป้องกันประเทศ ในช่วงที่จีนเผชิญหน้ากับสหรัฐมากขึ้น รวมถึงการตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด-19
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดหวังว่า การที่จีนไม่กำหนดเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเพราะต้องการปรับปรุงคุณภาพการเติบโตของจีดีพี พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะขยายตัวประมาณ 1-3% ในปีนี้
ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในจีนลดลงแต่บริษัทต่าง ๆ ยังคงมุ่งมั่นลงทุนในจีนและไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้ในเวลาอันรวดเร็ว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 มิถุนายน 2563