รู้จัก "SpaceX" เอกชนแรกของโลกที่ส่งมนุษย์ไป "อวกาศ"
ทำความรู้จัก “SpaceX” ของ “อีลอน มัสก์” ซึ่งกลายบริษัทเอกชนรายแรกของโลกที่ส่งมนุษย์ไปอวกาศ หลังส่งจรวดฟอลคอนพร้อมนักบินอวกาศ ทะยานจากแผ่นดินสหรัฐสู่อวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี
อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่เกิดในแอฟริกาใต้แต่ปัจจุบันถือ 3 สัญชาติทั้งแอฟริกาใต้ แคนาดา และอเมริกัน นอกจากจะเป็นเจ้าของบริษัทเทสลา (Tesla) ผู้ผลิตรถพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Space Exploration Technologies Corp หรือ “สเปซเอ็กซ์” (SpaceX) ด้วยความฝันที่ว่า สักวันหนึ่ง บริษัทของเขาจะพามนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานนอกโลก
หากเป็นเมื่อก่อน หลายคนคงมองว่า ความฝันของเขาเป็นเพียงนิยายวิทยาศาสตร์ (Sci-Fi) แต่ปัจจุบัน ฝันนั้นได้กลายเป็นจริงแล้ว
ล่าสุด เมื่อวันเสาร์ (30 พ.ค.) ที่ผ่านมา สเปซเอ็กซ์ ประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวด “ฟอลคอน-9” พร้อมส่งแคปซูลโดยสารชื่อ “ครูว์ ดรากอน เดโม-2” (Crew Dragon Demo-2) ที่บรรทุกนักบินอวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซา (NASA) 2 คน คือ ดักลาส เฮอร์ลีย์ และ โรเบิร์ต เบห์นเคน ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ หรือไอเอสเอส (ISS)
การปล่อยจรวดครั้งนี้ของสเปซเอ็กซ์ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่บริษัทเอกชนส่งมนุษย์ไปอวกาศสำเร็จ นับเป็นความพยายามครั้งที่ 2 หลังกำหนดการแรกเมื่อวันพุธ (27 พ.ค.) ถูกยกเลิกไปเพราะสภาพอากาศเลวร้าย
ขณะเดียวกัน ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่สหรัฐกลับมาส่งนักบินอวกาศเดินทางขึ้นสู่ไอเอสเอสด้วยตัวเอง นับตั้งแต่โครงการกระสวยอวกาศแอตแลนติสปิดฉากลงเมื่อปี 2554 เพราะหลังจากนั้นมา รัฐบาลวอชิงตันใช้บริการยานแคปซูลโซยุสของ "รัสเซีย" ทุกครั้ง
* ความเป็นมา
สเปซเอ็กซ์มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฮอว์ทอร์น รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ ก่อตั้งขึ้นในปี 2545 ด้วยเงินทุนส่วนตัวของ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวแคนาดา ซึ่งนั่งตำแหน่งซีอีโอจนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อครั้งก่อตั้ง มัสก์มีเป้าหมายสร้างบริษัทนี้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการส่งจรวดสำหรับการตั้งอาณานิคมในต่างดาวในอนาคต
บริษัทสเปซเอ็กซ์ ดำเนินการทั้งออกแบบ ผลิต และส่งจรวดและยานอวกาศสู่นอกโลก ได้ปฏิวัติอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศอย่างล้ำหน้า โดยพัฒนาจรวดขนส่งขึ้นมา 2 รุ่น คือ ฟอลคอน-1 และ ฟอลคอน-9 ซึ่งออกแบบโครงสร้างให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reusable Rocket) โดยสร้างประวัติศาสตร์โลกด้วยการเป็นจรวดลำแรกที่สามารถร่อนกลับมาจอดยังแท่นรับในมหาสมุทรได้สำเร็จ
นอกจากนี้ยังพัฒนายานอวกาศดรากอน (Dragon) สำหรับใช้กับจรวดแบบฟอลคอน-9 เพื่อส่งสินค้าสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจบนสถานีไอเอสเอส ส่วนยานดรากอนแบบที่สามารถขนส่งมนุษย์ได้ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา
* ขาขึ้นของ “สเปซเอ็กซ์”
ก่อนหน้านี้ สเปซเอ็กซ์ประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวดลำที่ 4 ของบริษัทเมื่อปลายปี 2551 และลำที่ 5 ซึ่งบรรทุกดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 2552 หลังจากล้มเหลวในการปล่อยจรวด 3 ลำแรกรุ่น ฟอลคอน-1 ระหว่างปี 2549-2551 ซึ่งมาจากทุนเอกชนทั้งหมด
ต่อมา สเปซเอ็กซ์ได้รับทุนบางส่วนจากนาซา จนกระทั่งเร่งพัฒนาจรวด ฟอลคอน-9 ที่ถูกปล่อยครั้งแรกในปี 2553 และจากนั้นมา ฟอลคอน-9 ก็ได้ทำภารกิจส่งสินค้า รวมถึงดาวเทียมและเสบียงไปยังสถานีไอเอสเอสอีกกว่า 80 ครั้ง แต่ระหว่างนั้นมีภารกิจล้มเหลว 2 ครั้งคือในปี 2558 และ 2559
ปัจจุบัน สเปซเอ็กซ์กลายเป็นบริษัทพันธมิตรขาประจำของนาซาในภารกิจปล่อยจรวด และจนถึงตอนนี้มีส่วนร่วมในโครงการปล่อยจรวดของนาซาอยู่ราว 2 ใน 3 ของโครงการทั้งหมด ด้วยสัญญาสัมปทานมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ สเปซเอ็กซ์ยังให้บริการ “ไรด์แชร์” คือรับบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักเบากว่าซึ่งมีมูลค่าอย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์ ขึ้นสู่วงโคจรพร้อมกับสิ่งของอื่น ๆ ด้วย
เมื่อต้นปีนี้ บริษัทอวกาศของมัสก์ ระดมทุนครั้งล่าสุดได้กว่า 500 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในงบพัฒนาแคปซูลอวกาศ ครูว์ ดรากอน, โครงการ “สตาร์ชิป” และโครงการธุรกิจดาวเทียม “สตาร์ลิงก์” ทำให้บริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.14 ล้านล้านบาท) ในปัจจุบัน นับเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก
* ขาลงของ “นาซา”
การที่สเปซเอ็กซ์มีบทบาทเด่นด้านอวกาศในช่วงนี้เกิดขึ้นหลังจาก นาซา หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ สั่งปิดโครงการส่งมนุษย์ไปอวกาศของตนเมื่อปี 2554 ทำให้ต้องหันมาพึ่งบริษัทเอกชนในการร่วมทำโครงการส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศในปัจจุบัน
หลังยุติโครงการส่งมนุษย์ไปนอกโลกช่วงแรก ๆ นาซาหันไปโฟกัสกับวิทยาการของดาวอังคารและโลก แต่เมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ นาซาก็เปลี่ยนเป้าหมายอีกครั้งและได้รับทุนให้ทำโครงการส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ภายใต้ชื่อ “อาร์ทิมิส” (Artemis) ซึ่งจะยังไม่เกิดขึ้นภายในเร็ววัน
ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งร่วมเป็นสักขีพยานในการปล่อยจรวดของสเปซเอ็กซ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกภารกิจครั้งนี้ว่า “เป็นการเริ่มต้น” และจุดหมายปลายทางต่อไป คือการส่งยานอวกาศไปยังดาวอังคาร พร้อมให้คำมั่นว่า จะส่งนักบินอวกาศสหรัฐกลับคืนสู่ดวงจันทร์อีกครั้งภายในปี 2567 เพื่อตั้งฐานที่มั่นถาวร จากนั้นก็จะปล่อยยานขึ้นไปสำรวจดาวอังคาร
ผู้นำสหรัฐประกาศว่า “ผู้หญิงคนแรกที่จะได้เหยียบดวงจันทร์ จะต้องเป็นชาวอเมริกัน และอเมริกาก็จะเป็นชาติแรกในการขึ้นไปบนดาวอังคาร”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศกล่าวว่า ภารกิจครั้งนี้ของสเปซเอ็กซ์ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จเต็ม 100% จนกว่า 2 นักบินอวกาศของนาซาจะเดินทางกลับมาถึงโลกโดยสวัสดิภาพ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 มิถุนายน 2563