ญี่ปุ่นชี้ CPTPP จุดเปลี่ยนลงทุน
เอกชนจี้รัฐเร่งตัดสินใจ CPTPP มองล่าช้าเสียโอกาส ขั้นตอนเจรจามากขึ้น เผย “ญี่ปุ่น” ห่วงจุดเปลี่ยนเทใจเลือกลงทุนเวียดนามแทนไทย ผู้แทนเวียดนาม - ออสเตรเลีย - ญี่ปุ่นประสานเสียงข้อดีช่วยขยายตลาด เพิ่มส่งออก
ประเทศไทยได้จัดทำข้อตกลงทางการค้าเสรีมาแล้วหลายฉบับ แต่ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสมการเริ่มต้นขั้นตอนการเจรจากันอย่างกว้างขวางคือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) วานนี้ (2ก.ค.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้จัดเสวนาเรื่อง “ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี” โดยมีตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน
นายกลินท์ สารสินประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีของประเทศไทยถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายภาครัฐต้องเร่งตัดสินใจและสร้างความชัดเจนว่าจะเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ เพราะจะเกี่ยวเนื่องถึงการเตรียมตัวของทุกภาคส่วนทั้งเอกชนและภาคส่วนต่างๆของสังคม และหากจะเข้าร่วมก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการเจรจากับประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ได้หารือกับนักลงทุนจากหอกาารค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีของไทยเป็นอย่างมาก โดยบอกว่าที่ผ่านมาญี่ปุ่นเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางของการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนมาโดยตลอดแต่หลังจากที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกของซีพีทีพีพีก็ทำให้นักลงทุนบางส่วนตัดสินใจที่จะไปลงทุนในเวียดนามมากกว่าที่จะเข้ามาลงทุนในไทยซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นก็สะท้อนว่าอยากให้ไทยเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้านี้เพื่อให้ไทยยังสามารถเป็นศูนย์กลางการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนได้ในระยะยาว
สำหรับข้อกังวลสมัครเข้าเป็นสมาชิกในปีนี้ไม่ทันนั้น การล่าช้าของการสมัครสมาชิกจะทำให้ประเทศไทยอาจจะเผชิญกับความยากของการเจรจากับประเทศสมาชิกที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศแล้วและไทยต้องไปเจรจาขอเข้าเป็นสมาชิกหากล่าช้าออกไปแล้วซีพีทีพีพีมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 3 - 4 ประเทศการเจรจาต่างๆก็ต้องใช้ระยะเวลามากขึ้นไปอีก ห่วงล่าช้าทำเสียโอกาส
“ผมมองว่ารัฐบาลต้องเร่งmake decision ตอนนี้รัฐบาลเองเหมือนรอให้เรื่องนี้ผ่านไป ทำให้เกิดความล่าช้าออกไป หากผ่านไปอีก 1 ปีมีคนที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกอีก 3-4 ประเทศ ประเทศไทยก็จะเข้าร่วมยากขึ้นอีกเพราะเราต้องไปเจรจากับหลายประเทศมากขึ้น”
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การขอขยายระยะเวลาศึกษาเพิ่มเติมของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการลงนามข้อตกลงฯซีพีทีพีพีหรือ กมธ.CPTPPของสภาฯ อีก60 วัน นั้นจะต้องรอดูมติของคณะกรรมาธิการและขั้นตอนของสภาก่อน จึงยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าประเทศไทยจะสามารถยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีได้ทันในวันที่ 5 ส.ค.ซึ่งเป็นวันที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีของประเทศในกลุ่มซีพีทีพีพี(CPTPP Commission)ซึ่งโดยปกติจะมีการยื่นเรื่องพิจารณาขอเข้าเป็นสมาชิกในขั้นตอนนี้ โดยหากไม่ทันก็ต้องรอการประชุมรอบต่อไปซึ่งปกติจะมีการประชุมทุกปี
ส่วนขั้นตอนที่ประเทศไทยจะเจรจาแล้วเสร็จจนเป็นสมาชิกได้จะต้องใช้เวลากี่ปียังไม่สามารถบอกได้เนื่องจากที่ผ่านมาการเจรจาความตกลงทางการค้าแต่ละฉบับใช้เวลานาน มีข้อกำหนดที่จะต้องหารือเจรจาต่อรองมากและใช้เวลาหลายปีอย่างกรณีของการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป)ใช้เวลานานกว่า 7 - 8 ปีในการเจรจาแล้วในปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมด ดังนั้นกรณีของซีพีทีพีพีก็คาดว่าต้องใช้เวลาหลายปีเช่นกัน
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า กกร.จะมีการจัดตั้งกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อศึกษาข้อมูลข้อดีข้อเสีย ของการเข้าร่วมซีพีทีพีพีเพื่อทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเผยแพร่ข้อมูลออกไปในวงกว้างให้สาธารณะชนและภาคส่วนต่างๆรับทราบ โดยการศึกษาถือว่าไม่ซ้ำซ้อนการทำงานกับคณะกรรมาธิการในสภา และการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์แต่จะเป็นการทำงานคู่ขนานไปเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเสริมกันมากขึ้น ซึ่งการศึกษาจะตอบโจทย์ข้อสงสัยต่างๆที่สังคมให้ความสนใจด้วย
ญี่ปุ่นสนลงทุนเวียดนาม
นายเรียวเฮ กามาดะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (เอเชีย)องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร)กล่าวว่าจากการสำรวจความเห็นของนักลงทุนญี่ปุ่น1,000คนเกี่ยวกับการตัดสินใจลงทุนในอาเซียนอยู่เป็นประจำนั้นพบว่า ในช่วงหลายๆปีที่ผ่านทานักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเลือกมาลงทุนในไทยแต่การสำรวจในปีที่ผ่านมาซึ่งเวียดนามมีการเข้าร่วม
ซีพีทีพีพีผลสำรวจระบุว่านักลงทุนประมาณ23%จะเลือกมาลงทุนในไทยขณะที่41%สนใจที่จะลงในเวียดนาม
เนื่องจากเวียดนามเข้าร่วมในข้อตกลงซีพีทีพีพีแล้วซึ่งสะท้อนภาพว่านักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องซีพีทีพีพีสูงมากซึ่งหากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกก็จะกลับมาได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นต่อไปในระยะยาว
ในส่วนของญี่ปุ่นมีการศึกษาผลจากการเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณ7.5%ของจีดีพีซึ่งมากกว่าข้อตกลงที่ทำกับสหภาพยุโรป(อียู)โดย
ซีพีทีพีพีมีการลดภาษีสินค้าถึง95%ซึ่งนอกจากประโยชน์ที่จะได้จากการส่งออก ญี่ปุ่นยังมองถึงการเชื่อมโยงประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมธุรกิจE-commerceที่จะช่วยเสริมธุรกิจภาคบริการของและดิจิทัลของญี่ปุ่นในอนาคต
ดึงเทคโนโลยีเยียวยาภาคเกษตร
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรญี่ปุ่นเน้นช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มเทคโนโลยีการผลิตการเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้ภาคเกษตรในประเทศสามารถแข่งขันได้
นางเจิ่น ถิ แทง มี ที่ปรึกษาการพาณิชย์ จากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวว่า เวียดนามคล้ายกับไทยในกรณีที่มีเอฟทีเอกับหลายประเทศที่เป็นสมาชิกซีพีทีพีพีอยู่แล้วแต่ประเทศที่ได้เป็นตลาดใหม่หลังเข้าร่วมก็คือแคนาดา เปรู เม็กซิโก ซึ่งเมื่อได้ตลาดเพิ่มใน3ประเทศนี้จะทำให้มูลค่าการส่งออกใน10ประเทศสมาชิกซีพีทีพีพีครอบคลุม50%การส่งออกของเวียดนามและทำให้เวียดนามสามารถส่งสินค้าจากในประเทศไปขายยังประเทศสมาชิกได้มากขึ้นทำให้เปลี่ยนจากขาดดุลการค้ามาได้ดุลการค้าใน9ประเทศภายใน1ปียกเว้นออสเตรเลียที่ยังขาดดุลการค้าอยู่ในปัจจุบันโดยสินค้าที่สามารถทำตลาดได้มากคือสินค้าสิ่งทอ ซีฟู้ดและสินค้าเกษตรซึ่งส่งผลให้เพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ประเทศมีจุดแข็งได้มากขึ้น
นอกจากการส่งออกแล้วยังได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่ดีทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิกในลักษณะพันธมิตรทางยุทธศาสตร์(strategic partner)ในทางลึกรวมทั้งส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจและการลงทุนในเวียดนามด้วยในทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เวียดนามได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมซีพีทีพีพีในสาขายานยนต์อาหารแปรรูปและสินค้าเกษตรซึ่งต้องทำให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นในอนาคต
เงื่อนไขข้อตกลงง่าย-ต่อรองได้
นายฮิ้วจ์ โรบิลลิอาร์ด รักษาการอัคราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่าซีพีทีพีพีมีส่วนที่ช่วยให้เศรษฐกิจของออสเตรเลียมีการเติบโตมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้จีดีพีของออสเตรเลียเติบโตได้มากขึ้นกว่า5.4%จากมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นยังชาติสมาชิกจาก26%เป็น70%โดยปัจจุบันสินค้าส่งออกของออสเตรเลียไปยังประเทศคู่ค้า10ประเทศมีการยกเว้นภาษีให้ถึง98%ของสินค้าทั้งหมดทำให้การส่งออกทำได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ลดลง
ทั้งนี้ ซีพีทีพีพียังส่งผลดีในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของออสเตรเลียกับสมาชิกในบางประเทศที่เป็นสมาชิกเช่นญี่ปุ่นที่เริ่มมีการนำเข้าและแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูงระหว่างกันมากขึ้นเช่น ข้าว เนื้อสัตว์ น้ำตาล ภาคบริการได้แก่ การศึกษาและบริการอื่นๆ และใน10ปีข้างหน้าออสเตรเลียจะได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันโดยในส่วนของประชาชนออสเตรเลียมีรายได้เพิ่มขึ้น0.5%ต่อปี ส่วนประเทศอื่นๆจะมีรายได้เพิ่มขึ้น1%ซึ่งเกิดขึ้นจากมูลค่าการค้าสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบนั้นต้องดูในเรื่องของการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในประเทศให้ได้ผลกระทบน้อยที่สุด
“ข้อกำหนดในปัจจุบันแตกต่างจากตอนที่ยังมีสหรัฐอยู่ด้วยซึ่งขณะนั้นมีข้อกำหนดที่มากกว่านี้ แต่ปัจจุบันง่ายขึ้นและสามารถเจรจาต่อรองได้มากขึ้นซึ่งออสเตรเลียก็มีความยินดีและพร้อมสนับสนุนหากไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของซีพีทีพีพี”
เพื่อไทยจ่อเคลื่อนต้านCPTPP
รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า ในสัปดาห์หน้ากรรมาธิการ วิสามัญศึกษาผลกระทบการลงนามข้อตกลงฯซีพีทีพีพีหรือ กมธ.CPTPP จะประชุมความคืบหน้ากันอีกครั้ง โดยพรรคเพื่อไทยจะให้ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะเข้าร่วมประชุมกมธ.ด้วย เพื่อสังเกตการณ์ และกำหนดท่าทีในทางใดทางหนึ่ง เพื่อชี้แจงต่อสังคม
ขณะเดียวกันกมธ.ในฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความเห็นแตกต่างกันออก อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ มีบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกและบางส่วนเริ่มเห็นด้วย เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 3 กรกฏาคม 2563