เศรษฐกิจไทยจะเอาอะไรไปโตสู้กับเวียดนามดี?
ค่ากลาง GDP Growth ของไทยจากการสำรวจของ Bloomberg ปีนี้ -6.0% ต่ำสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ คือ เวียดนาม ดังนั้นคำถามที่ว่าเศรษฐกิจไทยเอาอะไรไปโตสู้กับเวียดนาม? ควรเปลี่ยนเป็นเอาไงให้รอดแบบเจ็บตัวน้อยที่สุด? ดีกว่า
ล่าสุด ประมาณการ GDP Growth ประเทศไทย ของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกที่ทาง Bloomberg ไปทำสำรวจมา พบว่าค่ากลาง (Median) ให้ GDP ปี 2020 นี้ติดลบ -6.0% และปีหน้าขยับขึ้นมาขยายตัวได้ที่ +4.0% ทั้งนี้ เจ้าที่ให้ GDP ติดลบหนักสุด ก็คือ กรุงศรี ที่ให้ติดลบถึง -10.3% ขณะที่เจ้าที่ให้มุมมองแย่น้อยสุดก็คือ Standard Chartered ให้ติดลบ -5.0%
ถามว่า ที่ช่วงติดลบ -5.0% ถึง -10.3% ถือว่าแย่ไหม?
ก็ต้องลองไปเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ทาง Bloomberg ไปทำการสำรวจความเห็นมา ซึ่งก็จะพบว่า ประเทศไทยเรา เศรษฐกิจอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วงจริงๆ เพราะที่ค่ากลาง GDP Growth ปีนี้ที่ -6.0% นั้น ถือว่าต่ำสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งเจอการระบาดโควิด-19 รอบสองในตอนนี้นั้น ยังถูกคาดการณ์ว่า GDP จะติดลบน้อยกว่าไทยเสียอีก โดยอยู่ที่ -5.7%
โดยประเทศที่ยังมีเศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวกได้ในภูมิภาคนี้ เหลือเพียงประเทศเดียว ก็คือ เวียดนาม โดยปีนี้นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะโตได้ +2.8% และปี 2021 จะขยายตัวได้ 8.1% ทีเดียว
อะไรที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยเราแตกต่างจากเวียดนาม โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติอย่างเช่นตอนนี้?
ประเทศเวียดนามได้ประโยชน์เต็มๆ จากความขัดแย้ง และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมถึงการเกิดขึ้นของไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปอยู่ประเทศอื่นๆ และมีภาษีดีกว่าการเลือกย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เพราะได้ประโยชน์จากค่าแรงที่ต่ำกว่า โครงสร้างประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก มีทักษะที่ดี รวมถึงได้แรงจูงใจด้านภาษีด้วย
สาเหตุอะไรที่ทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบหนักสุดในปีนี้?
เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการส่งออก คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของ GDP แล้วในยามที่ทั่วโลกติดโควิด-19 มีปัญหา Supply Chain อยู่ตอนนี้การขนส่งสินค้าและการผลิต มันก็ต้องเป็นไปด้วยความยากลำบาก ยิ่งปิดเมืองยาว ระบาดหนัก คนก็เริ่มใช้จ่ายน้อยลง ความต้องการซื้อสินค้าและบริการก็ชะลอตัวลงตามไปด้วย นี่คือประเด็นแรก
อีกประเด็นหนึ่งที่ซ้ำเติมการส่งออกก็คือ ถึงแม้หากดูนับตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าจาก 30.80 บาท/ดอลลาร์ ขึ้นมาที่ 31.39 บาท/ดอลลาร์ (วันที่ 13 ก.ค. 2020) ในตอนนี้ แต่หากนับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กลายเป็นว่าค่าเงินบาทแข็งค่า จากจุดที่อ่อนค่าที่สุดคือ 33.09 บาท/ดอลลาร์ มามากกว่า -5% ณ ระดับปัจจุบัน ทำให้สินค้าที่เราส่งออกไป ไม่ได้ถูกลงในสายตาคนนี้
อีกเรื่องที่เราก็รู้กันอยู่ว่าน่าเป็นห่วงที่สุด ก็คือ ธุรกิจท่องเที่ยว เพราะตอนนี้โควิด-19 ยังระบาดอย่างต่อเนื่อง และถึงจะลดลงในอนาคต ก็เชื่อว่าไทยเราก็ควรมีมาตรการกักตัว 14 วัน สำหรับการเดินทางข้ามประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวน่าจะยังน้อยในหลังจากนี้อยู่
เมื่อรวมกับนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่น่าจะมีจำนวนลดลงมากแน่ๆ อยู่แล้ว เพราะเรากำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Global Recession) ก็จะยิ่งเป็นอีกปัจจัยที่กว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยวได้เท่ากับจุดเดิมของสิ้นปี 2019 ที่ 39.79 ล้านคน น่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีทีเดียว
เมื่อพูดถึงด้าน Supply ในธุรกิจท่องเที่ยว ก็น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน เพราะสายการบินได้มีการลดขนาดธุรกิจ ทั้งลดพนักงาน ลดค่าใช้จ่าย และลดจำนวนเครื่องบิน ทำให้ถึงตอนที่เข้าสู่ระยะฟื้นตัว จะฟื้นตัวได้ช้ากว่าจะถึงระดับเดิมก่อนวิกฤตโควิด-19 ด้านมาตรการความปลอดภัยอย่าง social distancing ก็จะทำให้มี capacity ต่อเที่ยวบินลดลงต่อรอบไปอีก ซึ่งวิธีแก้ปัญหาในช่วงสั้นที่ผมเห็นตอนนี้เลยก็คือ หลายสายการบินเลือกที่จะขยับขึ้นค่าโดยสารขึ้น แต่การที่ผู้โดยสารหายไปเกือบครึ่งลำ มันก็อาจไม่ทำให้เหล่าสายการบินกำไรได้ด้วยการขึ้นค่าโดยสารเพียงอย่างเดียว
ภาคครัวเรือนและภาคเอกชน โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นหัวใจขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ พบว่าเผชิญกับความท้าทายด้านการเงินจากปัญหาหนี้ที่สูงอยู่ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว มาตรการพักชำระหนี้ที่จะทยอยครบในไตรมาส 3 ลูกค้าของธนาคาร (ซึ่งก็คือลูกหนี้) จะกลับมาจ่ายกันได้อีกรอบ?
อุปสงค์ในประเทศที่ลดลงแบบนี้ ทำให้ผู้ประกอบการขยับขึ้นราคาสินค้าเพื่อเพิ่ม Margin ก็ลำบาก อาจต้องลดราคาสินค้าเพื่อเรียกแขกเข้าร้านจุดนี้เอง แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้ง่ายกว่าก็คือ ลดค่าใช้จ่าย ลดขนาดพื้นที่เช่า ลดคนงาน ซึ่งถ้าจะลดค่าใช้จ่ายโดยปลดคนและทำกันเยอะๆ เนี่ย มันก็จะทำให้อำนาจการซื้อลงไปอีก
มาถึงตรงนี้ กับคำถามที่เศรษฐกิจไทยจะเอาอะไรไปโตสู้กับเวียดนามดี? ผมว่าพักไว้ก่อน ถามใหม่ว่า เอาไงให้เรารอดแบบเจ็บตัวน้อยที่สุด? คือ โจทย์ที่เราต้องตอบ และสู้ประคองตัวเองไปให้ได้กัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 กรกฏาคม 2563