ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่ท้าทายประเทศไทย

ส่องประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ท้าทายประเทศไทย ทั้งช่วงก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 ปัญหาทางเศรษฐกิจที่คั่งค้างและรอการแก้ไขมาหลายปี และเมื่อวิกฤติโรคระบาดเข้ามากล้ำกรายส่งผลให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง? ขณะเดียวกันภาพของอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป?
 
นยุคที่โลกเผชิญกับ COVID-19 และประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจดั้งเดิมของไทยที่กำลังรอการแก้ไขอยู่นั้น
 
ผมขอรวบรวมประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ท้าทายประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคตดังนี้
 
ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจาก COVID-19 ในส่วนนี้ผมมองว่ามีปัญหาต้องบริการจัดการ 5 เรื่องดังนี้
 
1.การท่องเที่ยว :
เรื่องนี้ทุกคนเข้าใจปัญหาดีอยู่แล้วว่าหนักหนาสาหัสมากเพียงใด ปัจจุบันการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 18% ของจีดีพี แต่แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของไทยกำหนดให้สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 30% ของจีดีพีในปี 2580 (2037) หรือเพิ่มจากประมาณ 3 ล้านล้านบาทเป็นกว่า 6 ล้านล้านบาท
 
2.แรงงานจากต่างประเทศ : 
ประเทศไทยขาดแรงงานเพราะพ่อแม่มีลูกน้อยลง ทำให้ประชากรในวัยทำงานของประเทศไทยคาดว่าจะลดลงจากปัจจุบัน 48.5 ล้านคนเหลือเพียง 43 ล้านคนในปี 2035
 
3.ภาคบันเทิง : 
เป็นกิจกรรมที่จะต้องมีการรวมตัวของคนและมีความใกล้ชิดกัน (high-contact) ซึ่งกำลังขยายตัวได้ดี แต่กำลังสะดุดตัวลงเพราะ COVID-19 ภาคส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งคือการถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐเคยประเมินว่าทำรายได้เข้าประเทศสูงถึงปีละ 2 แสนล้านบาท (ฐานเศรษฐกิจ 11 มิ.ย.2019)
 
4.นักธุรกิจต่างชาติ/การลงทุน : 
ประเทศไทยต้องพึ่งนักลงทุนต่างชาติทั้งในเชิงของทุน เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ แต่ปัจจุบันจำกัดไม่ให้เขาเข้ามาในประเทศซึ่งย่อมจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจการลงทุนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของจีดีพี
 
5.นักศึกษาจากต่างประเทศ : 
ในระยะหลังนี้สถาบันการศึกษาประสบปัญหาการขาดแคลนนักศึกษาเพราะประชากรในกลุ่มนี้มีจำนวนลดลง ส่วนหนึ่งจึงได้พึ่งพานักศึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งเข้าใจว่าปัจจุบันยังจะไม่สามารถกลับเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทยได้
ปัญหาดั้งเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไข ก่อน COVID-19 จีดีพีประเทศไทยขยายตัวเพียง 1.5% เพราะมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่คั่งค้างและรอการแก้ไขมาหลายปีคือ
 
1.การแก่ตัวลงของประชากร : 
ไอเอ็มเอฟประเมินว่าประชากรไทยแก่ตัวลงรวดเร็วเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย (ตามหลัง ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี) โดยประเมินว่าการแก่ตัวของประชากรดังกล่าวจะทำให้จีดีพีของไทยขยายตัวได้ช้าลงปีละ 0.75%
 
2.การเกษตร : 
ประเทศไทยผลิตสินค้าเกษตรซึ่งในอนาคตความต้องการของประชากรโลกในสินค้าดังกล่าวไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก เพราะทุกคนแก่ตัวลงและเป็นห่วงสุขภาพของตัวเอง ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และน้ำตาล แม้กระทั่งยางธรรมชาติก็กำลังถูกทดแทนโดยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาหารกระป๋องที่ไทยส่งออก เช่น ปลากระป๋องก็แข่งขันสูงและมีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำ
 
3.รถยนต์ : 
ประเทศไทยเป็น Detroit of Asia แต่โลกกำลังปรับเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า ที่สำคัญคือระบบขับเคลื่อนรถไฟฟ้า (drivetrain) นั้นมีชิ้นส่วนที่สึกหรอเพียง 20 ชิ้น แต่ระบบขับเคลื่อนรถสันดาปภายในนั้นมีชิ้นส่วนกว่า 2,000 ชิ้นที่สึกหรอ และผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่ก็ผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวที่ความต้องการจะลดลงอย่างรวดเร็วใน 10-20 ปีข้างหน้า
 
4.พลังงาน : 
ประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลักมาเกือบ 30 ปีจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทย แต่ปัจจุบันก๊าซกำลังหมดลงแล้วและในอนาคตคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากพม่าไม่ได้มากนัก เพราะพม่าก็กำลังพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างเร่งรีบ
 
ประเด็นปัญหาในอนาคต 
โลกหลัง COVID-19 น่าจะมีความไม่แน่นอนสูงและน่าจะมีปัญหาอื่นๆ ทับถมมา เช่น การช่วงชิงกันเป็นประเทศมาหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้น่าจะมีประเด็นปัญหาในอนาคตสำหรับประเทศไทยดังนี้
 
1.ความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจของ EEC : 
ปัจจุบัน EEC เป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศไทย การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตโดยมี 5 โครงการเร่งด่วนซึ่ง 3 ใน 5 โครงการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการบินและการท่องเที่ยว คือจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน (โดยการบินไทยภายในปี 2021) การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา (ภายใน 2023) และการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ภายใน 2023) แต่โครงการดังกล่าวคงจะต้องทบทวนว่าคุ้มค่าหรือไม่ในยุคหลัง COVID-19 (และอาจมีโรคระบาดอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาได้อีก)
 
2.CPTPP : 
หาก Joe Biden ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2021 ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าสหรัฐจะหันกลับมาให้สัตยาบันกับ TPP ซึ่งจะทำให้ไทยถูกโดดเดี่ยวไปพร้อมๆ กับจีน และเสี่ยงมากที่เวียดนามจะแซงหน้าไทยในทางเศรษฐกิจ
 
3.5G : 
ประเทศไทยเร่งการสร้างเครือข่ายโทรคมนาคม 5G โดยอาศัย Huawei ซึ่งสหรัฐรณรงค์ต่อต้านอย่างหัวชนฝาและปัจจุบันประเทศพันธมิตรของสหรัฐ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอังกฤษก็ประกาศห้ามการทำธุรกิจกับ Huawei ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีที่ต้องประเมินอนาคตอย่างระมัดระวัง
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 29 กรกฏาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)