ภาคธุรกิจแห่ปรับโครงสร้างองค์กรฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกให้ต้องหยุดชะงักและดิ่งลงเหว ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมรถยนต์ และภาคการส่งออก ทำให้โรงงานและธุรกิจต่างๆ ต้องปิดกิจการลง
นั่นคือวิกฤติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในโลก ทำให้องค์กรต้องปรับโครงสร้างระลอกใหญ่ ทั้งการปรับลดบุคลากรในองค์กร หั่นเงินเดือน หรือกระทั่งปลดพนักงานออกจากบริษัท เพื่อให้องค์กรอยู่รอดและประคองธุรกิจฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ไปให้ได้
บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้นำแผนการปรับโครงสร้างองค์กรที่มีอยู่มาดำเนินการจริงจังมากขึ้น เพื่อบริหารธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ถดถอย โดยภายในองค์กรขณะนี้ เปิดโอกาสให้บุคลากรที่ใกล้เกษียณสามารถเกษียณก่อนได้ โดยบริษัทจะพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งถือว่าเป็นการทรานส์ฟอร์เมชั่นมาสู่คนทำงานรุ่นใหม่ให้ขับเคลื่อนองค์กรต่อไป
อีกทั้งเครือสหพัฒน์ ยังเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถยื่นขอย้ายตำแหน่งงานภายในบริษัทที่ว่างลง เป็นการเปิดรับสมัครภายใน เพื่อชะลอการรับสมัครงานในตำแหน่งใหม่ๆ ขณะเดียวกันทำให้พนักงานมีทักษะการทำงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ได้วางนโยบายโดยรวมของบริษัทต้องลดต้นทุนการดำเนินงาน 1% ให้ได้ตามเป้าหมาย
สำหรับรายได้ของ บริษัท สหพัฒนพิบูล ในช่วงครึ่งปีแรกมีอัตราการเติบโต 1-2% โดยในช่วงไตรมาสแรกมีรายได้กว่า 8,400 ล้านบาท แต่คาดการณ์รายได้ทั้งปีจะมีอัตราการเติบโตติดลบ หรืออยู่ในภาวะที่ไม่เติบโตจากเมื่อปีที่ผ่านมามีรายได้ 3.34 หมื่นล้านบาท
ด้าน สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาชนะใส่อาหารเมลามีนซุปเปอร์แวร์ กล่าวว่า เพื่อฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วยนั้น จึงตัดสินใจปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ซึ่งมีด้วยกัน 3 ด้าน
กรณีแรก เราเปิดโอกาสให้พนักงานที่ใกล้เกษียณอายุสามารถเกษียณอายุได้ก่อน โดยจะจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุในจำนวนเงินที่สูง ซึ่งวิธีในรูปแบบนี้ถือว่าเป็นการทรานส์ฟอร์เมชั่นองค์กร โดยเปิดรับพนักงานรุ่นใหม่ในระดับผู้บริหาร 40 ปีขึ้นไปเข้าร่วมงานในองค์กร เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญและนำทัพองค์กรก้าวสู่ดิจิทัล
สำหรับการปรับโครงสร้างอีกด้าน คือ ให้พนักงานจำนวน 600-700 คน พักการทำงานชั่วคราว ส่วนนี้ประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยให้ 62% ของค่าแรง แต่ไม่เกิน 90 วัน หากรัฐบาลไม่ต่อมาตรการดังกล่าว อาจต้องพิจารณาเลิกจ้างในสเต็ปถัดไป
นอกจากนี้ ยังปรับเงินเดือนบุคลากรที่มีเงินเดือนสูง โดยเฉลี่ย 10-40% ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค. ซึ่งการปรับโครงสร้างด้านบุคลากรในครั้งนี้ บริษัทได้สื่อสารให้บุคลากรเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและทุกคนต้องร่วมฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบจากยอดออร์เดอร์ลดลงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับรายได้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา 1,923 ล้านบาท หดตัวลง 20.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 2,414 ล้านบาท
สงกรานต์ อิสสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทได้ขอให้ผู้บริหารยอมลดเงินเดือนลงบางส่วน ด้านพนักงานก็มีการยกเลิกการทำงานนอกเวลา ลดเบี้ยเลี้ยง เพื่อลดค่าใช้จ่าย
ชาญชัย มหันตคุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินช์เคป (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ จากัวร์ แลนด์โรเวอร์ อย่างเป็นทางการในประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้การคิดคำนวณต้นทุนทางธุรกิจอาจจะต้องคิดใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่ทำการตลาดแล้วจะสามารถขายได้มากขึ้นเสมอไป แต่การควบคุมต้นทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ถือเป็นการแก้ไขที่เหมาะสม โดยเป้าหมายของบริษัทในปีนี้จะไม่มีการนึกถึงกำไร-ขาดทุน แต่จะปรับวิธีคิดและมุมมองการทำธุรกิจใหม่ เป็นการมุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีโอกาสทบทวนในสิ่งที่ได้ลงมือทำไปแล้วว่าดีหรือไม่ รวมถึงการรีเฟรชระบบการทำงาน ระบบการบริหารจัดการ และอื่นๆ
ที่มา businesstoday
วันที่ 4 สิงหาคม 2563