ลูกหนี้ “กองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ” กู้ซ้ำได้อีก 50%
กระทรวงอุตสาหกรรม อัดงบประมาณสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ อีกกว่า 1,700 ล้านบาท รอบ 2 เร่งอุ้ม SMEs ที่เป็นลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง-โควิด-19
วันที่ 2 ตุลาคม 2563 นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกับเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของประเทศ ที่ช่วยให้มีการจ้างงานมากถึง 12 ล้านคน
และถึงแม้ว่าที่ผ่านมาการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศจะดำเนินการได้เป็นที่น่าพึงพอใจ แต่ SMEs ก็ยังคงขาดสภาพคล่อง ทั้งในเรื่องของการค้า การลงทุนระหว่างประเทศที่ยังคงไม่สามารถดำเนินงานได้เป็นปกติ
ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเยียวยาให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ชะลอการเกิดหนี้เสีย (NPL) จากการไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ
คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงอนุมัติมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นหนี้สินเชื่อของ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ รอบที่ 2 ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง และโควิด-19 ได้แก่
1.การให้สินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โดยมีกรอบวงเงินการให้สินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ซึ่งผู้กู้ต้องเป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) โดยวัตถุประสงค์การกู้ เพื่อใช้ในการปรับปรุงการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินกิจการ ในสถานการณ์ภัยแล้งหรือโควิด-19
โดยดำเนินการ เปิดรับคำขอสินเชื่อจาก SMEs ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนฯ และมีภาระหนี้เงินต้นวงเงินกู้สินเชื่อระยะยาว (Term Loan) คงเหลืออยู่กับกองทุน ตลอดจนไม่มีสถานะ NPLs หรือไม่อยู่ระหว่างถูกกองทุนดำเนินคดี และเป็นผู้ประกอบการที่มีสถานะการชำระเป็นปกติในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ซึ่งจะพิจารณาให้ได้รับวงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 50% ของสินเชื่อที่ลูกหนี้สินเชื่อกองทุนฯ ชำระเงินต้นคืน ซึ่งกองทุนฯ จะดำเนินการปล่อยเงินกู้สินเชื่อระยะยาว สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น 1 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา
2.มาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อของกองทุน ฯ โดยมีกรอบวงเงินการให้สินเชื่อ 700 ล้านบาท ซึ่งคุณสมบัติของ SMEs ที่สามารถเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ นั้น จะต้องเป็น SMEs ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนฯ (วงเงิน 8,000 ล้านบาท) โดยการพิจารณาสินเชื่อในครั้งนี้จะให้ความช่วยเหลือในด้านการบรรเทาภาระการชำระหนี้ ให้มีสภาพคล่องที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปในสภาวะวิกฤติ
รวมทั้งเป็นการลดแนวโน้ม การเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) โดยให้วงเงินสินเชื่อต่อราย สูงสุดไม่เกิน 50% ของสินเชื่อที่ลูกหนี้กองทุนฯชำระเงินต้นคืน มีระยะเวลากู้สุงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น 1 ปี และมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 1% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา
“เชื่อมั่นว่ามาตรการข้างต้นจะเป็นส่วนสำคัญในการพยุงกลุ่ม SMEs ของไทย ให้สามารถประคับประคองการดำเนินกิจการต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจะชะลอปัญหาการเลิกจ้าง
ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถยื่นความประสงค์เข้าร่วมมาตรการฯ ณ หน่วยงานร่วมดำเนินการทุกสาขาในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่หรือสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านช่องทางต่างๆ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 ตุลาคม 2563