ศบศ.ชี้ขาดนักธุรกิจเข้าไทยวันนี้ ผ่อนเกณฑ์กักตัวน้อยกว่า 14 วัน
ศบศ.ถกผ่อนปรนนักธุรกิจต่างชาติเข้าไทยวันนี้ เล็งลดกักตัวน้อยกว่า 14 วัน ตั้งทีมติดตามการเดินทางในไทย “สาธารณสุข” เสนอฉากทัศน์ระบาดรอบใหม่
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง โดยที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอคณะกรรมการศูนย์บริหารสถารการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ (7 ต.ค.) พิจารณาแนวทางการเปิดประเทศ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จะเสนอ ศบศ.พิจารณาหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติในการเปิดรับนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มเติม
รวมทั้งอาจพิจารณารายละเอียดของวีซ่าพิเศษ (STV) ที่จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าไทยเพิ่มเติมหลังจากผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติที่มาพำนักในไทยระยะยาว ซึ่งเป็นการผ่อนคลายเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้มากขึ้นตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ โดยมาตรการทั้งหมดต้องมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ ประเด็นที่คาดว่าจะหารือใน ศบศ.จะผ่อนคลายให้นักธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศที่จะเดินทางเข้าไทย ซึ่งกลุ่มนี้ไม่สะดวกในการกักตัว 14 วัน เพราะเดินทางมาระยะสั้น และเดิมนั้นการปฏิบัติการ คือ ให้ตรวจจากประเทศต้นทางและเมื่อเดินทางเข้าไทยให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซ้ำ แต่ไม่ต้องกักตัว
ส่วนการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ต้องมีผู้กำกับการเดินทาง ซึ่งเดิมกำหนดให้เป็นบุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุขของไทยมากำกับการเดินทาง แต่มีข้อเสนอว่าผู้ควรรับผิดชอบและกำกับการเดินทาง คือ คู่ค้าหรือบริษัทที่จะเจรจาธุรกิจต้องเป็นผู้ที่เข้ามารับผิดชอบและกำกับการเดินทางเองหากมีเหตุใดเกิดขึ้นก็ต้องเป็นผู้ที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ
“การหารือใน ศบศ.เป็นไปตามคำสั่งนายกฯ ที่หากมาตรการกลุ่มใดพร้อมในการผ่อนคลายให้เสนอมาตรการทันทีไม่ต้องรอพร้อมกัน และมาตรการแต่ละกลุ่มไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ซึ่งต้องหารือการควบคุมโรคระบาดควบคู่กับการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้มากขึ้น” นายอนุชา กล่าว
ก่อนหน้านี้ ศบค.ได้อนุมัติให้นักธุรกิจและผู้มีใบอนุญาตทำงานเดินทางเข้าประเทศมาแล้ว 11,000 คน และคนกลุ่มนี้ได้ยอมรับการเข้ากักตัวในสถานกักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine: ASQ) 14 วัน
รวมทั้ง ศบค.อนุมัติให้มีนักท่องเที่ยวแบบ Long Stay โดยใช้ Special Tourist Visa (STV) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 และนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการกักตัวใน ASQ 14 วัน แต่มีนักธุรกิจที่เดินทางมาระยะสั้นจึงควรมีมาตรการพิเศษในการกำกับดูแล ซึ่ง ศบศ.จะพิจารณามาตรการและรายละเอียดในครั้งนี้ตามข้อเสนอ สมช.
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะนำเสนอแบบจำลองการระบาด (ฉากทัศน์) ของโรคที่อาจเกิดขึ้นในรอบต่อไป รวมถึงความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ เพราะไทยจัดการการระบาดของโควิด -19 ได้ดี ได้รับคะแนนสูงสุดในโลก แต่ขณะเดียวกันเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมาก ดังนั้น ต้องเปิดประเทศแต่เป็นแบบค่อยๆ แง้มประตูในระดับที่รับได้ เป็นการสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรคกับเศรษฐกิจ
“แนวคิดการลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาและทำแผนว่าหากกักตัว 14 วันความเสี่ยงเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ลดกักตัวเหลือ10 วันความเสี่ยงเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าลดเหลือ 7 วัน ความเสี่ยงเป็นกี่เปอร์เซ็นต์" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาด้วยว่ามาจากประเทศเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อยอย่างไร ซึ่งจำนวนวันของการกักตัวจะพิจารณาแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น มาจากประเทศเสี่ยงสูงอาจจะกักตัว 10 วัน แต่ถ้าประเทศเสี่ยงต่ำก็ลดวันกักตัวลง
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า มีการคุยกันในศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินกระทรวงสาธารณสุข (EOC) พบว่า การสวมหน้ากากอนามัยป้องกันโรคติดต่อได้ดีแม้แต่โควิด-19 เพราะจำนวนคนที่นั่งเครื่องบินจากต่างประเทศเข้ามาไทย ซึ่งในเที่ยวบินนั้นมีผู้ป่วย 3-4 ราย โดยสารนานกว่า 10 ชั่วโมงจากสหรัฐมาไทย แต่เพราะสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่บนเครื่อง อาจจะมีช่วงสั้นที่ถอดเพื่อรับประทานอาหารก็ไม่มีการกระจายของโรค และคนสวมหน้ากากอนามัยไม่ได้ติดเชื้อ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 7 ตุลาคม 2563