ถอดรหัส Top 500 บริษัทจีน กับเกมมหาอำนาจโลก
จากการจัดอันดับ top 500 บริษัทจีนที่มีรายได้สูงสุดประจำปี 2020 ของสมาพันธ์วิสาหกิจจีนและสมาคมผู้ประกอบการจีน (CEC/CEDA) พบว่ารายได้รวมของ 500 บริษัทจีนในปี 2019 อยู่ที่ 86.02 ล้านล้านหยวน (399 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 8.75% จากปีก่อนหน้า เป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องใน 19 ปีที่ผ่านมา
โดยบริษัทจีนที่มีรายได้สูงสุดคือ “ไชน่า ปิโตรเคมิคอล” (Sinopec) 2.81 ล้านล้านหยวน (13 ล้านล้านบาท) ตามมาด้วย “บริษัทการไฟฟ้าแห่งจีน” ที่ทำรายได้ 2.65 ล้านล้านหยวน (12.29 ล้านล้านบาท)
โดยบริษัท top 500 ที่มีรายได้เกิน 1 แสนล้านหยวน (4.63 แสนล้านบาท) มี 217 บริษัท จากปีก่อนหน้ามีเพียง 194 บริษัท จากการจัดอันดับครั้งแรกเมื่อปี 2002 มีบริษัทเพียง 10 แห่งที่มีรายได้เกิน 1 แสนล้านหยวน
ไชน่าเดลี่รายงานว่า “หวาง โจงหยู่” ประธานสมาพันธ์วิสาหกิจจีน และสมาคมผู้ประกอบการจีน กล่าวว่า บริษัทยักษ์ใหญ่จีนได้ฝ่าฟันอุปสรรค ปรับโครงสร้าง และเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และยังสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจโลกซบเซา
ขณะที่ “เฮา เพง” ประธานคณะกรรมการกำกับตรวจสอบและบริหารทรัพย์สินของรัฐ กล่าวว่า เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คือบริษัทจีนเหล่านี้มีการเติบโตสอดคล้องกับเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงว่าบริษัทเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มพลังของเศรษฐกิจจีน และความสามารถในการแข่งขันระดับโลก
ปัจจัยสำคัญมาจากการพัฒนา “นวัตกรรม” ที่ทางการจีนออก มาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) และยื่นคำขอสิทธิบัตรสำหรับนวัตกรรมใหม่มากขึ้น โดยจาก 500 บริษัทจีน มีจำนวน 431 บริษัทที่มีการรายงานข้อมูลการวิจัยและพัฒนา พบว่ามีค่าใช้จ่ายด้านอาร์แอนด์ดีรวมอยู่ที่ 1.08 ล้านล้านหยวน (5 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 1.61% ของรายได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ปีที่ผ่านมายื่นจดสิทธิบัตร 1.24 ล้านรายการ ซึ่งเพิ่มขึ้น 11.85% จากปีที่แล้ว ปัจจัยต่อมาคือ “การขยายตัวไปต่างประเทศ” ถึงแม้ว่าทั่วโลกจะมีนโยบายปกป้องจำกัดการนำเข้าสินค้าประเทศอื่น ๆ แต่จีนยังมุ่งมั่นขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เพื่อสร้างฐานการผลิตสินค้า พร้อมทั้งโอกาสในการจ้างงาน
และในปีนี้ยังมีบริษัทจีนที่ติดอันดับ Fortune 500 ของโลกถึง 133 บริษัท ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จีนมีบริษัทติดท็อป 500 ของโลกมากกว่าสหรัฐ จากเมื่อปี 1990 ซึ่งไม่มีบริษัทจีนติดอันดับเลย ขณะที่พบว่ารายได้ของบริษัทจีน 500 อันดับแรกคิดเป็น 88% ของบริษัทท็อป 500 ของสหรัฐอีกด้วย สะท้อนถึง การเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทจีนหลังการเปิดประเทศ
โดย top 500 บริษัทจีน อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต 238 แห่ง และในอุตสาหกรรมบริการ 181 แห่ง หลังจากทางการสนับสนุนให้บริษัทจีนปรับตัวจากอุตสาหกรรมผลิตแบบเดิม เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงและอุตสาหกรรมบริการเพิ่มมากขึ้น
แม้จีนจะยกระดับสู่อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง แต่ “หวาง” ยังแสดงความกังวลว่า ประเทศจีนยังคงตามหลังในการเป็นมหาอำนาจด้าน “ห่วงโซ่อุปทาน”
การผลิตสินค้าและเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทต่าง ๆ ต้องไล่ให้ทันนานาชาติเพื่อให้เทียบเท่าคู่แข่งสำคัญมากกว่านี้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 10 ตุลาคม 2563