ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหากไบเดนชนะ

บทวิเคราะห์ความเป็นไปได้หากโจ ไบเดนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นโยบายของเขาจะกระทบไทยแค่ไหน
 
โอกาสที่โจ ไบเดน จะชนะโดนัลด์ ทรัมป์แล้วก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐมีเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ทรัมป์ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้คะแนนของทั้งคู่ทิ้งห่างกันถึงหลัก 10 จุด (นักวิเคราะห์บางคนเห็นถึงจุดนี้จึงถึงกับชี้ว่าการที่ทรัมป์ติดโควิด-19 ยิ่งทำให้ไบเดนได้แต้มต่อมากขึ้น)
 
สถานการณ์แบบนี้ทำให้ทรัมป์ร้อนรนรีบออกจากโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วเพื่อหาเสียงต่อ ทั้งๆ ที่สาธารณชนยังกังขาว่าเขาหายป่วยจริงหรือ การทำเช่นี้ยิ่งทำให้คะแนนนิยิมของเขาเสี่ยงที่จะลดลงไปอีก
 
ในเวลาที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้นเหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือนที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเริ่มขึ้น ด้วยสถานการณ์ที่ไบเดนกำลังจะเป็นต่อ ดังนั้นคงจะถึงเวลาแล้วที่เราจะมาพูดคุยกันว่า "ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรหากไบเดนชนะ?"
 
ก่อนอื่น เราควรฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ กันก่อน เช่น นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยที่เสแงดความเห็นว่าหากพรรคเดโมแครตเป็นฝ่ายชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะเป็นประโยชน์ต่อตลาดหุ้นในเอเชียทั่วกระดาน เนื่องจากสามารถช่วยบรรเทาความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีน - สหรัฐได้
 
จากความเห็นของนักวิเคราะห์ต่างๆ ผ่านสำนักข่าว Bloomberg บอกว่า หากไบเดนชนะเลือกตั้งจะเป็นร้ายต่อพันธบัตรในเอเชีย เน้นว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรของไทยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดรองจากเกาหลีใต้ เพราะไทยพึ่งพาการค้าในระดับสูงและมีการเปิดเสรีตลาดการเงินที่กว้างขวาง และผลตอบแทนพันธบัตรไทยกับสหรัฐมีระยะห่างกันไม่มาก
 
นี่เป็นความเห็นของนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเท่านั้น ว่ากันตามตรงแล้วการวิเคราะห์แนวโน้มที่ไบเดนจะมีต่อไทยยังไม่ค่อยมี ส่วนหนึ่งเพราะสปอตไลท์จับไปที่ทรัมป์มากเกินไป และส่วสนหนึ่งไบเดิน "โลว์โพรไฟล์" ไม่ค่อยจะแสดงท่าทีอะไรมากนักเหมือนกับปล่อยให้ทรัมป์สะดุดขาตัวเองล้มมากกว่า
 
เพื่อที่จะทำความเข้าใจนโยบายของไบเดนต่อประเทศไทย จะต้องทำความเข้าใจนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของเขาก่อนจากนั้นลงรายละเอียดไปที่นโยบายต่อเอเชียทั้งหมดเพื่อที่จะเจาะภาพลึกมาที่ประเทศไทยในที่สุด
 
ว่ากันที่นโยบายการค้ากันก่อนซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้สหรัฐกับจีนทะเลาะกันหนักที่สุดในสมัยของทรัมป์ ไบเดนมีจุดยืนสนัยสนุนการค้าเสรีที่มีระเบียบปฏิบัติสากล ดังนั้นมีโอกาสที่ไบเดนจะพาสหรัฐกลับมาอยู่ในกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) อีกครั้ง บางคนอาจคิดว่าหากเป็นไปตามนี้ความขัดแย้งกับจีนก็อาจแก้ไขได้ง่ายขึ้นแทนที่จะเผชิญหน้ากันเอง
 
แต่มันไม่ได้หมายความว่าไบเดนจะไม่ทำสงครามการค้ากับจีน
 
ไบเดนเป็นผู้สนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่แข็งขันมากคนหนึ่งซึ่งตรงข้ามกับทรัมป์ที่ถอนสหรัฐออกมาจากข้อตกลงนี้ แต่ไบเดนบอกว่าถ้าสหรัฐถอนตัวออกจาก TPP จะทำให้จีนได้เปรียบสามารถชี้นำทิศทางการค้าโลกได้
 
ในการดีเบตระหว่างไบเดนกับแอนดรูว หยาง อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตเมื่อปีที่แล้ว ไบเดนเผยท่าทีต่อจีนเอาไว้ว่า "เรากำลังจะกำหนดนโยบายเองหรือจะปล่อยให้จีนจะสร้างระเบียบโลก เราคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลก เราต้องการอีก 25 เปอร์เซ็นต์เพื่อเข้าร่วมกับเรา"
 
เขายังบอกว่า "ปัญหาไม่ใช่การขาดดุลการค้า (ของสหรัฐต่อจีน) แต่ปัญหาคือพวกเขา (จีน) ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของเรา ปัญหาคือพวกเขาละเมิด WTO พวกเขากำลังดัมพ์ราคาเหล็กใส่เรา แต่นั่นเป็นปัญหาที่แตกต่างไปจากการที่พวกเขาดัมพ์ราคาสินค้าเกษตรกับเราหรือไม่"
 
จากคำกล่าวนี้เราจะเห็นได้ว่าไบเดนเห็นพ้องกับทรัมป์เรื่องที่จีนดัมพ์ราคาเหล็ก (กดราคาให้ต่ำ) เพื่อที่สินค้าของจีนจะได้เปรียบมากกว่า แต่เขาไม่เห็นดด้วยกับทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีจีนกรณีดัมพ์ราคาเหล็ก จนทำให้จีนตอบโต้ด้วยการลดการนำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐ ดังนั้นไบเดนจึงบอกว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน หากใช้วิธีแบบทรัมป์ภาคเกษตรของสหรัฐจะต้อง "ตายแน่นอน"
 
ที่ผ่านมาภาคเกษตรเคยฝากความหวังไว้กับทรัมป์มาก แต่เพราะสงครามการค้าทำให้พวกเขาสิ้นหวังกับทรัมป์ นี่คือโอกาสที่ไบเดนจะเรียกคะแนนจากคนกลุ่มนี้โดยไม่เสียคะแนนจากภาคอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันเขายังจะลดระดับการทำสงครามการค้าลงด้วย
 
ดังนั้นในเมื่อทรัมป์เลือกที่จะทำสงคราม แต่ไบเดนเลือกที่จะเล่นในเกมเพื่อที่จะให้สหรัฐเป็นผู้เขียนกติกาการค้าโลก ไม่ใช่ทำสงครามการค้าที่มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมและทำให้ประเทศอื่นลำบากไปด้วย
 
สงครามการค้ากับจีนส่งผลกระทบด้านลบกับจีน (รวมถึงสหรัฐเองด้วย) แต่มันเป็นผลดีต่อไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม มันทำให้จีนต้องแสวงหา "นอมินี" ในการกระจายสินค้าเพื่อเลี่ยงการถูกเล่นงานจากสหรัฐ ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ก็ย้ายฐานจากจีนมายังอาเซียนด้วย ตัวอย่างเช่นญี่ปุ่นจะย้ายฐานการผลิตที่เคยอยู่ในจีนมายังไทยและเวียดนาม
 
ดังนั้นหากสงครามการค้าสิ้นสุดลงมันจะเป็นผลเสียต่อไทย และการที่ไบเดนอาจจะไม่หยุดการเผชิญากับจีนก็จะเป็นผลดีจะต่อไทยในแง่นี้
 
เราอาจวิเคราะห์ได้ว่าไบเดนจะลดดีกรีจาก "สงครามการค้า" (Trade war) มาเป็น "การเผชิญหน้าทางการค้า" (Trade confrontation)
แต่เราจะต้องไม่ลืมสหรัฐกับจีนไม่ได้เผชิญหน้ากันแค่สงครามการค้า แต่ยังก่อสงครามเย็นใหม่ขึ้นมาด้วย ในแง่นี้หากสงครามเย็นยังคงยืดเยื้อต่อไปในรัฐบาลไบเดน ไทยจะตกที่นั่งลำบากอย่างแน่นอน
 
คำถามก็คือไบเดนจะสานต่อสงครามเย็นครั้งใหม่กับจีนหรือไม่?
 
คำตอบก็คือมีโอกาสสูงที่การเผชิญหน้าจะดำเนินต่อไป เพราะแม้ว่าไบเดนจะลดระดับการเผชิญหน้าระดับสงครามการค้าและหันมาเล่นในกติกา แต่เขามีความคิดที่จะใช้กติกานั่นแหละมาสกัดกั้นอิทธิพลจีนในทางการเมือง
 
ในงานเสวนากับ Council on Foreign Relations หรือ CFR ไบเดนบอกว่า "ผมมักจะพูดถึงสองเรื่อง เรื่องหนึ่งคือการลดการปรากฎตัวของอเมริกาลงในตะวันออกกลาง และอีกประการหนึ่งคือการเปลี่ยนทิศทางหรือปรับสมดุลมาสู่เอเชีย"
 
ทำไมต้องปรับสมดุลมายังเอเชีย? นั่นก็เพราะที่ผ่านมาผู้นำสหรัฐตั้งแต่บุช, โอบามามาจนถึงทรัมป์ให้ความสำคัญกับเอเชียน้อยเกินไป แล้วไปโฟกัสที่ตะวันออกกลางเนื่องจากติดพันสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ทำให้สบโอกาสที่จีนขยายอิทธิพลมายังเอเชียโดยเฉพาะแถบอาเซียน
 
ไบเดนอาจจะเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องโยกความสนใจมายังเอเชียก่อนจะสายไป เขาจึงต้องการให้มหามิตรในเอชียช่วยกันต้านทานอิทธิพลของจีน ซึ่งไม่ใช่อิทธิพลทางการค้า แต่เป็นอิทธิพลทางการเมือง เขาต้องการให้สหรัฐเข้าร่วม TPP อีกครั้งเพื่อที่จะใช้มันคานอำนาจกับจีน
 
หากสหรัฐกลับมาร่วมวง TPP (ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น CPTPP) ไทยจะถูกกดันให้เข้าร่วมข้อตกลงนี้หนักมากขึ้น จากเดิมที่ไทยถูกญี่ปุ่นกดดันมากอยู่แล้ว ในจุดนี้ไทยต้องคำนวณให้ดี
 
ในการดีเบตปีที่แล้วไบเดนบอกว่า "และนั่นคือเหตุผลที่คุณต้องจัดระเบียบโลกเพื่อรับมือกับจีนเพื่อหยุดยั้งการทุจริตที่กำลังดำเนินอยู่" หมายความว่าไทยจะเหยียบเรือสองแคมลำบาก ไทยต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่งอยู่ดี
 
ไบเดนเองชี้ชัดว่าเขาต้องการฟอร์มพันธมิตรที่เป็น "มหามิตร" ของสหรัฐในการเล่นงานจีน โดยเขาตอบการสัมภาษณ์ของ CFR เอาไว้ว่า "ก้าวต่อไปเป้าหมายของผมคือการรวบรวมมิตรของเราทั้งในเอเชียและยุโรปในการกำหนดระเบียบสำหรับศตวรรษที่ 21 และร่วมงานกับเราเพื่อรับมือกับจีนและการละเมิดทางการค้าและเทคโนโลยี (โดยจีน)"
 
ที่ผ่านมาทรัมป์ไม่ได้กดดันไทยหรือประเทศไหนๆ ให้หันปลายมีดไปยังจีน แต่ไบเดนจะทำตรงกันข้าม ในขณะที่เขาลดดีกรีสงครามการค้ามาเป็นการใช้กติกาตามระเบียบโลกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้สหรัฐ เขาจะใช้วิธีแบบนี้บีบให้ประเทศอื่นๆ เล่นงานจีนด้วย
 
เขาบอกกับ CFR ว่า "(แผนการของเขา) มีประสิทธิภาพมากกว่าแนวทางที่เรียกว่า America First (อเมริกามาก่อน) ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งในทางปฏิบัติมันคือ America Alone (อเมริกาแต่ฝ่ายเดียว) ทำให้พันธมิตรของเราแปลกแยกและทำลายพลังในการใช้ผลประโยชน์ร่วมกันของเรา"
 
คำกล่าวนี้ถ้าดูให้ลึกซึ้งจะพบว่ามันเป็นการเลิกนโยบายอเมริกาชนจีนแต่ฝ่ายเดียวมาเป็นอเมริกาจับมือมิตรสหายช่วยกันชนจีน มันจะยิ่งทำให้สงครามเย็นครั้งใหม่รุนแรงขึ้นแบบแนบเนียน ต่างจากท่าทีโผงผางของทรัมป์โดยสิ้นเชิง
 
บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน
 
ที่มา โพสต์ทูเดย์
วันที่ 12 ตุลาคม 2563  

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)