ทางออกจากม่านหมอก วิกฤติ
ผ่าทางออกม่านหมอกวิกฤติโควิด-19 ที่เข้ามาซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจไทย ซึ่งกุญแจสำคัญอยู่ที่ "เอสเอ็มอี" ที่จะใช้ไขประตูที่กำลังปิดกั้นทางออก พร้อมวิเคราะห์ข้อเสนอกลุ่ม CARE จะมีความเป็นไปได้แค่ไหน? ช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีได้จริงหรือไม่?
วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบทางลบที่ค่อนข้างมากต่อผู้คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่า จึงเท่ากับเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำเดิมให้เลวร้ายยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะมีลักษณะเป็นรูปตัว “K” ที่มีความหมายว่าแม้เราจะเห็นบางธุรกิจซึ่งมักเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่เริ่มฟื้นตัวได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีธุรกิจอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ผลประกอบการยังคงหดตัวต่อเนื่อง
ผลงานที่เป็นรูปธรรมและเห็นได้ชัดของภาครัฐในการพยายามกู้วิกฤติเศรษฐกิจก็คือ ความพยายามเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นด้วยมาตรการซอฟท์โลนที่มีวงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เตรียมให้เอสเอ็มอีกู้เงินผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์เพื่อเสริมสภาพคล่อง และ ธปท. คิดดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์ 0.01% ต่อปี ส่วนธนาคารพาณิชย์จะคิดดอกเบี้ยกับผู้ขอกู้ไม่เกิน 2% ต่อปีใน 2 ปีแรก
ส่วนในกรณีที่เกิดหนี้เสีย ให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินชดเชยให้กับ ธปท. เพื่อนำไปใช้คืนให้ธนาคารพาณิชย์ในสัดส่วนราว 60-70% ของมูลค่าหนี้เสีย อย่างไรก็ตาม ผลปรากฏว่ามาตรการซอฟท์โลนเอสเอ็มอีนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายยังคงปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีในจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่มีอยู่ เพราะธนาคารส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์วันข้างหน้าที่รออยู่
ล่าสุดกลุ่ม CARE ได้ร่วมเสนอทางออกในการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีให้ได้ผลมากขึ้น ด้วยการเสนอให้รัฐบาลร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอีในรูปของการจัดตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งรัฐบาลจะร่วมลงทุนรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท เจ้าของบริษัทเอสเอ็มอีลงทุนเองอีก 20 ล้านบาท และให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมปล่อยกู้ระยะเวลา 3 ปีในวงเงินอีก 30 ล้านบาท ทำให้บริษัทแต่ละรายจะมีสัดส่วนทุนต่อหนี้สินเท่ากับ 70 ต่อ 30 เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้แก่เอสเอ็มอีมากขึ้น รัฐบาลจะไม่เข้าไปร่วมบริหารงานของบริษัทเหล่านั้น
นอกจากนี้กลุ่ม CARE ยังได้เสนอว่าในกรณีที่เกิดมีหนี้เสีย ให้รัฐบาลจัดขายพันธบัตรอายุ 100 ปีให้กับ ธปท.ในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท โดยให้รัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.01% ต่อปี
ผู้เขียนมีความคิดเห็นต่อข้อเสนอของกลุ่มนี้ในการแก้ปัญหาของเอสเอ็มอี ดังนี้
1.หากพิจารณาเพียงผิวเผิน ก็ดูเหมือนว่าข้อเสนอของกลุ่มนี้ก็น่าจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์มีแรงจูงใจในการปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการซอฟท์โลนเอสเอ็มอีของ ธปท. แต่แท้ที่จริงแล้วทั้งข้อเสนอของกลุ่ม CARE และมาตรการซอฟท์โลนเอสเอ็มอีของ ธปท.ล้วนแต่นำไปสู่การตัดสินใจของธนาคารพาณิชย์ในเรื่องการปล่อยกู้ ณ จุดดุลยภาพที่จัดว่าดีเป็นอันดับรอง (second-best solution) เท่านั้น
เพราะว่าธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายต่างก็ยังอยู่ในตลาดที่ตนเองสามารถดำรงส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไว้ในขนาดที่ใหญ่กว่ากรณีของต่างประเทศมาก โดยอ้างเหตุผลเรื่องของการรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงินในประเทศไว้ให้มั่นคง เนื่องจากหลายฝ่ายยังไม่ลืมฝันร้ายเกี่ยวกับบทเรียนและบาดแผลที่ได้จากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับความเสี่ยงที่สูงกว่าปกติในปัจจุบัน เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกยังอยู่ในภาวะถดถอยด้วยแล้ว
ข้อเสนอของกลุ่มนี้ (หากมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดไม่ให้เกิดปัญหารั่วไหล) ก็ไม่น่าจะมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ยินดีปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีได้มากกว่ากรณีของมาตรการซอฟท์โลนของ ธปท.อย่างมีนัยสำคัญมากนัก
ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าหนทางเดียวที่เราจะทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอีได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่จุดดุลยภาพที่ดีที่สุด (first-best solution) ก็คือการทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยลดลงมาสู่ระดับที่เหมาะสมมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายมีความกระตือรือร้นในการ “แข่งขัน” ปล่อยกู้ (อย่างระมัดระวัง) ให้กับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพและมีอนาคต
ขณะเดียวกันก็จะไม่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และยังจะเป็นวิธีการลดหนี้เสียที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะจะไม่เป็นภาระของผู้เสียภาษีในอนาคตต่อไป ในขณะที่ทางกลุ่ม CARE เสนอให้รัฐบาลขายพันธบัตรอายุ 100 ปีให้กับ ธปท. เพื่อนำไปชดเชยหนี้เสียหากเอสเอ็มอีที่รัฐบาลร่วมลงทุนด้วยเกิดภาวะล้มละลาย
ซึ่งข้อเสนอของกลุ่มนี้ก็คงหนีสัจธรรมเรื่อง “No free lunch” ไม่พ้น เพราะรัฐบาลในอนาคตก็ยังต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะนำมาใช้ไถ่ถอนพันธบัตรที่ขายให้กับ ธปท. หากเกิดปัญหาหนี้เสียจำนวนมากในที่สุด ซึ่งประชาชนทั่วไปก็คือผู้แบกรับภาระหนี้เสียแทนเอสเอ็มอีนั่นเอง
2.ผู้เขียนมีความเห็นว่าเพื่อเป็นการเสริมข้อดีของนโยบายเรื่องการปรับส่วนต่างดอกเบี้ยให้เหมาะสม และมีการแข่งขันเพื่อปล่อยเงินกู้ให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น รัฐบาลสามารถเพิ่มบทบาทเชิงรุกในการทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อคัดกรองให้ได้เอสเอ็มอีที่ดีและมีศักยภาพจากหลากหลายสาขาอุตสาหกรรมที่มีอนาคต เช่น อาหาร โลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เครื่องมือแพทย์ เครื่องประดับ บริการ และเกษตรกรรม เป็นต้น โดยบทบาทเชิงรุกของภาครัฐนี้จะช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการและค่าความเสียหายที่เกิดจากหนี้เสียของทุกฝ่ายได้
ภาครัฐสามารถมีบทบาทเชิงรุกผ่านการผลักดันให้มี “วัฒนธรรมวิจัย” ในสังคมไทยมากขึ้นตามแนวคิดของรัฐมนตรี “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” โดยอาจเริ่มจากการมอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยพัฒนาเอสเอ็มอี (แทนการใช้เงินของภาครัฐไปร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอี) เพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคส่งนักวิจัยและคณาจารย์จากทั้งสายวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ เข้ามาร่วมวิจัยและให้บริการฝึกอบรมความรู้แก่เอสเอ็มอีในเรื่องต่างๆ เช่น การวางแผนการตลาด การบริหารการเงิน ความรู้เกี่ยวกับระเบียบขั้นตอนการนำเข้าส่งออกและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และการประเมินโครงการ เป็นต้น
นอกจากนี้ก็อาจมีการจัดตั้งคลินิกปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอี เพื่อประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และ ธปท.ในการหาจุดร่วมที่เหมาะสมในการปรับโครงสร้างหนี้ของเอสเอ็มอีเพื่อให้สอดรับกับทิศทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยด้วย เป็นต้น
ทั้งนี้เพราะความอยู่รอดของเอสเอ็มอี (ซึ่งนับเป็นแหล่งจ้างงานและฐานรากที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย) คือกุญแจดอกสำคัญที่จะใช้ไขประตูที่กำลังปิดกั้นทางออกจากวิกฤติของเราในเวลานี้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 ตุลาคม 2563