วัดความแรง ราคา-ประสิทธิภาพ วัคซีนโควิด-19

ส่องความแรง ตั้งแต่ราคา เทคโนโลยี ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 พัฒนาโดยแอสตร้าเซนเนก้า - โมเดอร์นา - ไฟเซอร์
 
การเปิดเผยผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ของ แอสตร้าเซนเนก้า บริษัทยาสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ร่วมมือกับออกซ์ฟอร์ด หนึ่งผู้แข่งขันคิดค้นพัฒนาวัคซีน ได้กลายเป็นหนึ่งทางเลือกในเรื่อง “ราคาและความสามารถเข้าถึง” วัคซีนชนิดนี้  โดยก่อนหน้านี้ ไฟเซอร์ร่วมกับไบออนเทคออกมาโชว์ผลทดสอบเป็นเจ้าแรก ถัดมาเพียง 1 สัปดาห์ ก็ได้รับข่าวดีอีกรายจากโมเดอร์นา 
 
 
“การประกาศในวันนี้ ทำให้โลกเข้าใกล้ช่วงเวลาที่สามารถใช้วัคซีนเพื่อยุติความหายนะที่เกิดจากโรคโควิดได้อีกขั้น” ซาราห์ กิลเบิร์ต ศาสตราจารย์ด้านวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าว
 
ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 :
 
แอสตร้าเซนเนก้า ระบุ ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นวัคซีนโควิด-19 ทดลองในระยะที่ 3 มีประสิทธิภาพป้องกันโควิด อยู่ที่ 70.4% จากการหาค่าเฉลี่ยของ 2 กลุ่มทดลองคือ กลุ่มแรกทำการฉีดเข็มที่ 1 เพียงครึ่งโดส จากนั้นฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 1 โดส ได้ปรากฏว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ 90% ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่รับวัคซีน 2 โดส พบมีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ 62% 
 
อย่างไรก็ดีประสิทธิภาพของวัคซีนที่พัฒนาโดยแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดนั้น ดูเหมือนยังต่ำกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ บริษัทยารายใหญ่สัญชาติสหรัฐและไบออนเทคบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติเยอรมัน เป็นเจ้าแรกที่ได้ออกมาเปิดเผยประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19ได้สูงถึง 95% ซึ่งได้ทดลองวัคซีนนี้กับคน 43,500 คน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ เยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกี โดยผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับวัคซีน 2 โดสในระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ พบว่าทำให้คน 90% มีภูมิคุ้มกันจากโรคโควิด-19
 
เพียง 1 สัปดาห์ถัดจากนั้นโมเดอร์นากับเอ็นไอเอไอดี ได้ออกถ้อยแถลงระบุว่าประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ 94.5% หลังจากได้ทำการทดลองกับประชาชน 30,000 คนในสหรัฐ ครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีน 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์ อีกครึ่งได้รับวัคซีนหลอก ผลการวิเคราะห์จาก 95 คนแรกที่มีอาการโควิด พบว่า คนที่ได้รับวัคซีนแล้วยังมีอาการมีเพียง 5 คนเท่านั้น อีก 90 คน ได้รับวัคซีนหลอก นอกจากนี้ยังพบคนที่มีอาการรุนแรง 11 คน แต่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน
 
เทคโนโลยีวิจัยวัคซีน - เก็บรักษา :
 
แอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า วัคซีนชนิดนี้ใช้เทคโนโลยีการนำไวรัสที่ทำให้เชื้ออ่อนกำลังลง และได้รับการตัดแต่งยีนเพื่อให้ไม่สามารถเติบโตและก่อโรคในร่างกายมนุษย์ได้ ขณะที่วัคซีนนี้มีข้อได้เปรียบตรงที่การเก็บรักษา ซึ่งสามารถเก็บ ขนส่ง และจัดการได้ในอุณหภูมิตู้เย็นปกติอย่างน้อย 6 เดือน 
 
ทั้งวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค กับวัคซีนของโมเดอร์นาใช้เทคโนโลยีที่คล้ายกันคือ อาร์เอ็นเอ ซึ่งโมเดอร์นาจะใช้วิธีเพิ่มเติมโดยการแยกส่วนหนึ่งของรหัสพันธุกรรมไวรัส ขณะที่วัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค ต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นธรรมดาได้เพียง 5 วัน ส่วนวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาต้องเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน และสามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นธรรมดาได้ 1 เดือน
 
การผลิต :
 
แอสตร้าเซนเนก้า คาดว่า จะมีศักยภาพผลิตวัคซีนออกมาได้มากถึง 200 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2563 หรือราว 4 เท่าตัวที่ไฟเซอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่แข่งสำคัญระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้ และแอสตร้าเซนเนก้ายังสามารถผลิตภายในไตรมาสแรกของปี 2564 จะสามารถผลิตได้ 700 ล้านโดส ตามที่แอสตร้าเซนเนก้าได้แสดงคำมั่นแจกจ่ายแบบไม่หวังกำไร ในช่วงที่มีระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา 
ส่วนไฟเซอร์ระบุสามารถผลิตวัคซีนได้ 50 ล้านชุดภายในปีนี้ และคาดว่าจะผลิตได้ถึง 1,300 ล้านชุดภายในปี 2564 โดยมีประเทศต่าง ๆ ได้สั่งจองวัคซีนไปแล้ว เช่น สหรัฐ อียู และญี่ปุ่น ขณะที่โมเดอร์นาคาดว่าจะมีวัคซีน 20 ล้านโดสให้ใช้ในสหรัฐ และยังหวังว่าจะผลิตวัคซีนอีก 1,000 ล้านโดสให้สำหรับประเทศอื่นทั่วโลกในปีหน้า
 
ราคาวัดอำนาจวัคซีน :
 
การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำเป็นต้องใช้วัคซีนคนละ 2 โดส ซึ่งไฟแนนเชียล ไทมส์ ได้รวบรวมราคาวัคซีนโควิด-19 ในเบื้องต้นพบว่า แอสตร้าเซนเนก้าร่วมกับออกซ์ฟอร์ด ราคา 2 โดส อยู่ที่ประมาณ 3-4 ดอลลาร์ ซึ่งค่าใช้จ่ายยังต่ำมากๆ กว่าไฟเซอร์ คาดว่าอยู่ที่ 19.5 ดอลลาร์ต่อโดส หรือราคา 2 โดสอยู่ที่ 39 ดอลลาร์ ส่วนวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา น่าจะมีราคาประมาณ 25-37 ดอลลาร์ต่อโดส หรือราคา 2 โดสอยู่ที่ 50-64 ดอลลาร์
 
อย่างไรก็ตาม ทั้งบริษัทไฟเซอร์ ยื่นต่อองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) เพื่อขออนุมัติใช้วัคซีนเป็นกรณีฉุกเฉินในวันที่ 20 พ.ย. ขณะที่โมเดอร์นากำลังรวบรวมเอกสารแสดงประสิทธิภาพของวัคซีนยื่นตามไปไม่ช้า แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่า เอฟดีเอจะใช้ระยะเวลานานเพียงใดในการศึกษาข้อมูลวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ แต่คาดว่าวัคซีนจะได้รับการอนุมัติในช่วงกลางเดือน ธ.ค. ส่วนบริษัทไฟเซอร์ตั้งความหวังว่าจะเริ่มแจกจ่ายวัคซีนได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังได้รับการอนุมัติแล้ว 
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563   

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)