โค้งสุดท้ายส่งออกปี63 สดใสติดลบลดลง

สรท. มั่นใจส่งออกปี 2564 เริ่มฟื้นตัว คาดขยายตัว 3-5 % จี้รัฐแก้ปัญหาเงินบาท ตู้ขนส่งสินค้าขาดแคลน ขณะโค้งสุดท้ายปี63ทิศทางสดใส ทำติดลบแค่7%
 
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาถือว่ามีทิศทางดีขึ้น ซึ่งในช่วงต้นปี สรท.คาดการณ์ว่าการส่งออกปี 2563 จะติดลบ 10 % เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19และการล๊อคดาวน์ แต่ในช่วงไตรมาส 3 ต่อเนื่องจากจนถึงไตรมาส 4 การส่งออกติดลบน้อยลง โดยที่เหลือ 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้หากส่งออกเฉลี่ย 19,300 ล้านดอลลาร์ การส่งออกของไทยทั้งปีจะติดลบเพียง 7 %
 
 ส่วนทิศทางการส่งออกในปี 2564 ทางสรท.ประเมินว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัว ซึ่งการส่งออกไทยจะขยายตัว 3-5 % โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญคือ
 
1). ไทยร่วมลงนามไทยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกันถึง 2.2 พันล้านคน ซึ่งคิดเป็น 30% ของประชากรโลก จีดีพี ครอบคลุมถึง 30% ของจีพีดี โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้กับผู้ส่งออกด้วย ทั้งนี้ สรท. สนับสนุนการเจรจาในกรอบความตกลงใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับประเทศไทย
 
2). ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากหลายบริษัท
อาทิ บริษัทโมเดอร์นา และบริษัทไฟเซอร์ที่ร่วมมือกับไบโอเอ็นเทค ซึ่งมีประสิทธิผลมากถึงร้อยละ 94.5 และ 90 ตามลำดับ เป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับการเจรจาการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับมา
 
3). สินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์
อาทิ ถุงมือยาง และกลุ่มสินค้า work from home ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในบางประเทศที่ยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร
 
4).ระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563 
เนื่องด้วยสัญญาณบวกจากความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก จะส่งผลให้มีอุปสงค์การใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการขยายตัวของการส่งออกในสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น และ 
 
5). การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของประเทศจีน เนื่องด้วยสถานการณ์การควบคุมการระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวและเป็นผลดีต่อการเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย อาทิ กลุ่มสินค้ายางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก เป็นต้น
 
“การส่งออกของไทยแม้จะฟื้นตัวในปีหน้าแต่ก็ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม คงต้องใช้ระยะเวลาอีก 2 ปี คือประมาณ ปี 2565 ที่การส่งออกจะกลับมาได้อย่างปกติ โดยปี 2564 คาดว่าส่งออกขยายตัว 3-5 % โดยหากขยายตัว 3 % ต้องส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 19,000 ล้านดอลลาร์ แต่หากขยายตัว 5 %ต้องส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านดอลลาร์”
 
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการส่งออกไทยคือ ปัญหาค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากการแข็งค่าตามทิศทางของสกุลเงินในเอเชีย ส่วนหนึ่งจากชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2020 ของนายโจ ไบเดนจากพรรคเดโมแครตที่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินมากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ประกอบกับความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนไหลเข้าประเทศ จึงขอให้ธปท.หามาตรการชะลอการแข็งค่าของเงินบาทเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้
 
นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากสายเรือมีนโยบายจัดสรรระวางตู้สินค้า (Space Allocation) และจัดสรรตู้เปล่าหมุนเวียน (Container Allocation) กลับไปยังประเทศจีนและเวียดนามมาก เนื่องจากให้อัตราค่าระวางที่สูงกว่าไทย และการระบาดของ COVID-19 รอบ 2 ในยุโรปและสหรัฐ ทำให้ตู้สินค้าตกค้างที่ปลายทางเป็นจำนวนมาก ต่อเนื่องให้ปริมาณตู้สินค้าที่ต้องหมุนเวียนกลับสู่ระบบหายไปจำนวนมาก ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงให้อัตราค่าระวางที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
โดยทางสรท.ได้ขอให้สายเรือคงอัตราค่า Local Charge เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการไทย และขอให้ภาครัฐควรพิจารณามาตรการจูงใจให้สายเรือนำตู้เปล่ามายังประเทศไทย เช่น การยกเว้นค่ายกขนตู้เปล่ากลับมาประเทศไทย การยกเว้นค่าภาระท่าเรือให้กับเรือขนส่งสินค้าเป็นการชั่วคราว และขอให้ภาครัฐเจรจาในระดับประเทศเพื่อหาแนวทางส่งตู้ส่วนเกินในประเทศที่มีการนำเข้ามากกว่าส่งออก กลับมาให้ประเทศไทย
 
สำหรับการส่งออกเดือนต.ค. 2563 มีมูลค่า 19,376 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 6.71% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 17,330 ล้านดอลลาร์ติดลบ14.32% ส่งผลให้ เดือนต.ค.ไทยเกินดุลการค้า 2,046 ล้านดอลลาร์ เมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนต.ค.การส่งออกติดลบ 4.89% โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบ 8.8%
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 9 ธันวาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)