นักวิเคราะห์ชี้เวียดนามรับมือโควิดแข็งแกร่ง ช่วยเศรษฐกิจขยายตัวดีสุดแห่งหนึ่งของโลก

เอเอฟพี - การตอบสนองอย่างแข็งแกร่งต่อการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ การส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น และการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เวียดนามฝ่าภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในปี 2563 และฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเติบโตสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก
 
แต่ผลกระทบยังคงเกิดขึ้นกับบางภาคส่วนจากมาตรการควบคุม และการปิดพรมแดนที่ขัดขวางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ และยังทำให้ภาคการบินที่เคยเฟื่องฟูต้องหยุดชะงัก
 
ขณะที่หลายประเทศเผชิญกับปัญหาการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตในระดับสูง แต่เวียดนามมีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อน้อยกว่า 1,500 คน และเสียชีวิตเพียง 35 คน ซึ่งเป็นผลจากการกักตัวคนเป็นจำนวนมาก การติดตามผู้สัมผัสติดต่อผู้ติดเชื้ออย่างกว้างขวาง และการควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด ทำให้โรงงานเปิดทำการได้เป็นส่วนใหญ่ และผู้คนสามารถกลับเข้าทำงานได้อย่างรวดเร็ว
 
“การล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดใช้เวลาไม่ถึง 3 เดือน ทำให้กิจกรรมภายในประเทศกลับสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็วในเดือน มิ.ย.” เหวียน ซวน แถ่ง อาจารย์ด้านนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัยฟุลไบรท์เวียดนาม กล่าว
 
ขณะที่หลายประเทศในซีกโลกตะวันตกกำลังเรียกร้องให้พลเมืองอยู่กับบ้านในช่วงกลางปี แต่ชาวเวียดนามสามารถเดินทางไปเที่ยวชายหาดที่สวยงามได้ ในความพยายามของรัฐบาลที่จะให้กระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
 
ทั้งนี้ มีความวิตกอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจที่พึ่งการส่งออกของเวียดนาม เนื่องจากความต้องการเสื้อผ้า รองเท้า และสมาร์ทโฟนลดลงในตลาดขนาดใหญ่บางแห่ง รวมถึงสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
 
“แต่กลับกลายเป็นว่าการส่งออกยังช่วยส่งเสริมการเติบโตในปีนี้ นั่นเป็นเพราะเวียดนามมีตลาดส่งออกที่หลากหลาย ไม่ขึ้นอยู่กับปลายทางส่งออกใดๆ” แถ่ง กล่าว
 
การส่งออกไปจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปีขยายตัวขึ้นมากกว่า 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามข้อมูลของศุลกากรเวียดนาม
 
ความต้องการสินค้าจำนวนมากที่ผลิตในเวียดนาม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ พุ่งสูงขึ้นในช่วงการระบาดเนื่องจากประชาชนถูกบังคับให้อยู่บ้านในช่วงล็อกดาวน์
 
นั่นหมายความว่า แม้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่ถึงเป้าหมายการเติบโตที่ 6.8% ในปีนี้ แต่คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวที่ 2.4% ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า เวียดนามจะอยู่ในกลุ่มที่ดีที่สุดในโลก โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 4.4% ในปีนี้
 
ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า เวียดนามยังได้ประโยชน์จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ด้วยบริษัทต่างๆ เช่น แอปเปิล ต้องการย้ายห่วงโซ่อุปทานของพวกเขาเพื่อเลี่ยงภาษี ขณะที่การส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวขึ้นเป็น 54,700 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี
 
อย่างไรก็ตาม การไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศ
 
เมืองเว้ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่เวลานี้เมืองเงียบสงบราวกับเมืองร้าง โดยหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของ จ.เถื่อเทียนเว้ กล่าวว่า โรงแรมกว่า 80% ถูกปิด ขณะที่ประชาชนราว 8,000 คน ตกงาน
 
“เราได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาด” รองหัวหน้าฝ่ายการท่องเที่ยวประจำจังหวัด กล่าว
 
เช่นเดียวกับที่กรุงฮานอย เจ้าของโรงแรมรายหนึ่งได้กล่าวว่า “การท่องเที่ยวตายไปแล้ว”
 
“เรารอดพ้นจากโรคซาร์ส วิกฤตการเงินปี 2552-2553 แต่สถานการณ์ตอนนี้มันไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น” เหวียน ดิ่ง โตย เจ้าของโรงแรมในย่านเมืองเก่าฮานอย อ่าวฮาลอง และซาปา กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามยังเสียหายน้อยกว่าประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวแห่งอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ไทย ที่ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลง 7.1% ในปีนี้
 
รัฐบาลยังช่วยบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจด้วยการเทงบประมาณไปที่โครงการโครงสร้างพื้นฐานเช่น ถนนและสะพาน เหวียน ซวน แถ่ง ระบุ
 
“สิ่งนี้ช่วยสร้างอุปสงค์เพิ่มเติม ชดเชยผลกระทบจากโควิดและการลดลงของการบริโภคของครัวเรือน และยังช่วยสร้างงานอีกด้วย” แถ่ง กล่าว
 
การลงทุนสาธารณะในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัวขึ้น 34% นับว่าสูงสุดในรอบ 9 ปี รัฐบาลระบุ
 
ความสำเร็จของเวียดนามในปีนี้อาจนำไปสู่ผลประโยชน์ในปีข้างหน้า อดัม แมคคาร์ตี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Mekong Economics กล่าว
 
“วิธีจัดการไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกือบทำให้เวียดนามมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก” แมคคาร์ตี กล่าว และเสริมว่า สิ่งนี้เป็นการส่งสัญญาณไปยังบริษัทต่างชาติว่าพวกเขาควรหันมามองเวียดนามอีกครั้ง
 
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 16 ธันวาคม 2563

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)