เจซีอีอาร์คาดปีหน้าศก.เอเชียฟื้นตัวช้า

ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่น (เจซีอีอาร์)และสำนักข่าวนิกเคอิ ซึ่งทำการสำรวจเศรษฐกิจรายไตรมาสตั้งแต่วันที่ 26พ.ย.-14ธ.ค.ด้วยการรวบรวมคำตอบจากผู้ถูกสำรวจ 38 คนทั้งนักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ในชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)รายใหญ่สุด5ชาติและชาติในเอเชียที่ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและอินเดีย ระบุว่า เศรษฐกิจของเอเชียจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในระดับก่อนโรคโควิด-19ระบาดในปี 2565 พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าในปีหน้าเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมีวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นปัจจัยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
 
ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ในรายงานวิจัยชิ้นนี้ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเอเชียจะเริ่มฟื้นตัวในปี2564 หลังจากร่วงลงอย่างรุนแรงในปี 2563 แต่เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่ผลลัพธ์ที่เกิดจากความพยายามที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ยังคงไม่มีความชัดเจน
 
รายงานชิ้นนี้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปีนี้และปีหน้า -5.0% และ 4.3% ตามลำดับ ไม่เปลี่ยนแปลงจากการสำรวจก่อนหน้านี้ และตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในรูปตัววี แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนและยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19จะรุนแรงแค่ไหน
“ตัวบ่งชี้รายเดือนส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคเริ่มฟื้นตัวแต่อัตราการฟื้นตัวยังคงอ่อนแรงอยู่”ยูมา สึชิยะ นักวิเคราะห์จากธนาคารเอ็มยูเอฟจี ให้ความเห็น
 
การคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ปรับตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการสำรวจก่อนหน้านี้สำหรับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปินส์ ซึ่งจูนิมาน จากเมย์แบงก์ อินโดนีเซีย บอกว่า การบริโภคของภาคเอกชนชลอตัวลงเนื่องจากอำนาจในการจัดซื้ออ่อนแอลงผลพวงจากการเลย์ออฟพนักงานครั้งใหญ่ของบริษัทต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
 
อัลวิน อึ้ง นักเศรษฐศาสตร์จากอะทีนีโอ เดอ มะนิลา ยูนิเวอร์ซิตี้ ในฟิลิปปินส์ กล่าวว่า คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติสมาชิกอาเซียนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ไตรมาส2ของปี2564 แม้จะเป็นการขยายตัวที่อ่อนแรงและไม่แน่นอน เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ยังคงใช้มาตรการกักตัว ขณะที่การใช้วัคซีนแก่ประชาชนในวงกว้างยังคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
 
ส่วนวิษณุ วาร์ดานา จากธนาคารดานามอน อินโดนีเซีย คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส2ของปีหน้าแต่อัตราการฟื้นตัวยังคงต่ำกว่าระดับก่อนช่วงโรคโควิด-19ระบาด และการระบาดของโรคโควิด-19ทั่วโลกยังคงเป็นเรื่องที่ทุกประเทศควบคุมไม่ได้
 
แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองแนวโน้มในเชิงบวกมากกว่านั้น โดยวินเซนต์ โล หยางหง จากเคเอเอฟ รีเสิร์ช จากมาเลเซีย มองว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆรวมทั้งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าปีหน้าความต้องการของทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น
 
ขณะที่สุไฮมิ อิลลิแอส จากเมย์แบงก์ ในมาเลเซีย ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจปีหน้าของมาเลเซียว่าจะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเมืองในประเทศและการดำเนินนโยบาย
 
ด้านโจนาธาน ราวีลาส จากบีดีโอ ยูนิแบงก์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ว่า ภาครัฐต้องมีการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศมากขึ้นเพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ส่วนเศรษฐกิจอินเดีย ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19และการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. -23.9% แต่ช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ -7.5% และคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2563/2564 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียจะดีขึ้นเล็กน้อยคือ -8.2% และคาดกว่าจะขยายตัวถึง 9.1% ในปี 2564/2565
 
เทอร์ธานการ์ พัทนาอิก จากตลาดหลักทรัพย์อินเดีย กล่าวว่า เศรษฐกิจของอินเดียดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของอินเดียกลับมาอยู่ในระดับปกติได้เร็วขึ้นมาก ขณะที่รัฐบาลค่อยๆยกเลิกข้อจำกัดต่างๆและบริษัทต่างๆเริ่มหันมาสต็อกสินค้า อีกทั้งความต้องการของผู้บริโภคก็เริ่มปรับตัวขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส4 ของปีงบประมาณคือช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.ปี2564จะขยายตัวเพิ่มขึ้น
 
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 ธันวาคม 2563  

@Admin TVBC

สนใจสมัครสมาชิกหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเลขานุการฯ
โทร: 02-018-6888 ต่อ 4340
Email: tvbc.secretariat@gmail.com

:)